เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือ Sea (ประเทศไทย) เครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ ประกาศผลรางวัล Equity Partnership’s School Network เครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาปีที่ 5 ณ ลานโปรโมชั่นชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ ชูความสำเร็จ “โมเดลลดความเหลื่อมล้ำด้วยแนวคิดนวัตกรรมสถานศึกษา” เกิดต้นแบบพัฒนาทักษะ Soft Skills ผ่านกิจกรรมเรียนรู้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านความร่วมมือจากสังคม
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ตลอด 5 ปีได้เกิดนวัตกรรมระดมความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสร้างสรรค์สังคมการเรียนรู้ที่เสมอภาค ปีนี้มีเด็กทุนเสมอภาค กสศ. จากโรงเรียนขยายโอกาสสังกัด สพฐ. 10 โรงเรียน จับคู่เด็กนานาชาติ 5 โรงเรียน ทำกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นเพื่อจำหน่ายทางแพลตฟอร์ม Shopee ภายใต้ 10 แบรนด์สินค้าในแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ” โดยรายได้ทั้งหมดถูกส่งคืนโรงเรียนขยายโอกาสที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปสนับสนุนการพัฒนาเด็กเยาวชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
“จากผลวิจัยการประเมินความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน (Career Readiness) ของนักเรียนระดับชั้น ม.ต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือของ กสศ. กับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า หากเด็ก ๆ มีทักษะ Soft Skills เช่น ทักษะความร่วมมือกัน ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะความคิดสร้างสรรค์ จะส่งผลดีต่ออนาคตของเด็ก ๆ ในการทำงาน และเป็นทักษะติดตัวที่จะทำให้พวกเขาพร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อก้าวออกจากกับดักความยากจนได้”
คุณพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท Sea (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Shopee กล่าวว่ายินดีที่เอกชนได้ร่วมสร้างพลังให้กับการศึกษา ได้ช่วยส่งเสริมทักษะดิจิทัล (Digital Skill) การตลาดออนไลน์ (Digital Marketing) สอนการเล่าเรื่องผลิตภัณฑ์ (Storytelling) การสร้างแบรนด์ ในพื้นที่การเรียนรู้ที่เป็นมิตร ได้เห็นน้อง ๆ เรียนรู้จริงผ่านการลงมือ ขอเชิญชวนภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาสนับสนุนด้วยกันในปีต่อไป
“ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการสร้างอาชีพหรือช่องทางมีรายได้เสริม ในบทบาทของภาคเอกชนเรามองว่าทุกคนควรได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ ซึ่ง Sea มองว่าเทคโนโลยีคือเครื่องมือหลัก ที่จะเชื่อมโยงความรู้ที่จำเป็นไปถึงคนทุกกลุ่ม บน 3 ปัจจัยหลักของการทำงานคือ 1.พัฒนาการเรียนรู้และทักษะรอบด้าน 2.ส่งเสริมการเข้าถึงความรู้ที่หลากหลายและเหมาะสมกับบริบทความต้องการของผู้เรียน และ 3.สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เป็นมิตร มีพื้นที่แสดงความคิดเห็น เพื่อให้ผู้เรียนยอมรับความแตกต่างของกันและกัน อันจะทำให้เกิดการยอมรับนับถือตัวเอง ความเข้าใจผู้อื่น และความรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคม”
Mr. Greg Threlfall โรงเรียนนานาชาติ รักบี้ (Rugby School Thailand) กล่าวว่า โครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนนานาชาติลงพื้นที่ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนขยายโอกาส เปิดประสบการณ์ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง เกิดความเข้าอกเข้าใจ สนิทสนมกัน (Empathy & Cross Cultural Understanding) ได้ทักษะการสื่อสารและทักษะอีกหลายด้านไปพร้อมกัน ทักษะเหล่านี้เองที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนให้เยาวชนในโครงการ เติบโตเป็นคนที่อยู่ได้ในทุกที่และสื่อสารทำงานได้กับทุกคน
แม้โครงการในปีนี้เพิ่งปิดฉากลง Mr. Greg เผยว่า ปีถัดไปทางสมาคม FOBISIA (The Federation of British International Schools in Asia) ซึ่งเป็นเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติทั่วโลก แจ้งมาว่ามีโรงเรียนนานาชาติจากต่างประเทศให้ความสนใจและต้องการเข้ามามาศึกษากระบวนการทำงานของโครงการ ทั้งยังมองถึงความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันใน Equity Partnership’s School Network ปีที่ 6 ด้วย
คุณมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมความร่วมมือนี้เป็นต้นแบบให้กับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการเรียนรู้ทักษะอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเด็ก ๆ ทั้งสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสการศึกษาในระดับสูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริง ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับนักเรียน ครู ผู้บริหารทุกท่าน ที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตลอด 5 ปี ทุกคนได้สร้างการเรียนรู้ที่มีชีวิตให้เกิดขึ้น ต้นทุนเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ต่อยอดชีวิต สร้างประโยชน์กับเด็ก ๆ รวมถึงส่งเสริมชุมชนและสังคมให้เติบโตต่อไป
โครงการ Equity Partnership’s School Network ปีที่ 5 มุ่งเน้นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ การมีส่วนร่วมกับชุมชนมากขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนของนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมีเด็ก ๆ ทุนเสมอภาคชั้น ม.ต้น 10 โรงเรียนจาก 10 จังหวัด ได้แก่ โรงเรียนบ้านท่านหญิงวิภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเรียนวัดท่าโสม (คุณสารราษฎร์บำรุง) จังหวัดตราด โรงเรียนบ้านม่วงนาดี จังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนขุนยวมวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน โรงเรียนดงสวรรค์วิทยา จังหวัดหนองบัวลำภู โรงเรียนบ้านนาเลา จังหวัดมหาสารคาม โรงเรียนบ้านยะพอ จังหวัดตาก โรงเรียนเพียงหลวง 1 (บ้านท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนบ้านทุ่งโฮ้ง (อภิวังวิทยาลัย) จังหวัดแพร่ โรงเรียนบ้านนห้วยลึก จังหวัดเชียงราย จับคู่เด็กนานาชาติชั้น ม.ปลาย 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (Shrewsbury International School) โรงเรียนนานาชาติรักบี้ (Rugby School Thailand) โรงเรียนนานาชาติเซนต์ แอนดรูว์ส (St. Andrews International School) โรงเรียนสาธิตประสานมิตร (International Programme) และมีโรงเรียนน้องใหม่อย่าง โรงเรียนนานาชาติแอสคอท (Ascot International School) มาเข้าร่วมในปีนี้
เปิดดู แค็ตตาล็อกสินค้าของน้อง ๆ ได้ที่ : คลิก
การตัดสินรางวัลปีนี้ มีเกณฑ์วัดตลอดช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ราว 8 เดือน แบ่งเป็น 1.การตลาดและการขาย (Marketing / Selling) ประกอบด้วยยอดขาย เทียบต้นทุนกำไร การนำเสนอเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ ช่องทางและวิธีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ 2.การทำงานเป็นทีม (Teamwork) เกี่ยวกับความร่วมมือของสมาชิกในกลุ่มและการประสานงานที่ดี มีกำหนดขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน การยอมรับความคิดเห็น เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง 3.ความคิดสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ (Creative / Innovation) แบ่งเป็นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาทิ ความเป็นนวัตกรรม เรื่องราวของผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เอกลักษณ์ ความสวยงาม มีการดีไซน์ เทคนิคน่าสนใจ และด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เช่น เลือกรูปแบบ เลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม มีความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ด้านแบรนด์
สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศปีนี้ คือทีม ‘เนรมิต’ ภายใต้แบรนด์ ‘Sang – Aeng สร้างเอง’ แบรนด์น้องใหม่จากฝีมือนักเรียนทุนเสมอภาคโรงเรียนบ้านนาเลา จังหวัดมหาสารคาม จับคู่กับโรงเรียนสาธิตประสานมิตร (International Programme) พัฒนากระถางปูนเปือยเอนกประสงค์พิมพ์ลายใบไม้จากบ้านนาเลา ไตล์มินิมอล (Minimal Style)
ทีมที่คว้าอันดับ 2 คือทีม ‘DrewDee’ แบรนด์ ‘งอกงาม’ ของโรงเรียนบ้านม่วงนาดี จังหวัดอุบลราชธานี และโรงเรียนนานาชาติเซนต์ แอนดรูว์ส (St. Andrews International School) โดยเป็นการพัฒนาโจ๊กข้าวกล้องออแกนิกในชุมชนบ้านม่วงนาดี และผักในท้องถิ่น ส่วนทีมที่คว้าอันดับ 3 คือทีม ‘Shrews Honey’ แบรนด์ ‘Honey Home’ ของโรงเรียนบ้านท่านหญิงวิภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (Shrewsbury International School) ที่ร่วมประกวดด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สบู่น้ำผึ้งที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้งแท้จากธรรมชาติของชุมชนบ้านปากลางที่ทำการเลี้ยงผึ้งโพรงในป่า
เลือกชมผลิตภัณฑ์จากทุกทีมที่เปิดขายใน Shopee : คลิก
ตัวแทนนักเรียนนานาชาติจากโรงเรียนสาธิตประสานมิตร (International Programme) กล่าวว่า “ภูมิใจที่ได้ร่วมสร้างผลิตภัณฑ์กับน้อง ๆ โรงเรียนบ้านนาเลา ประทับใจที่มีโอกาสได้ไปเรียนรู้วิถีชีวิตที่ต่างออกไป จนถึงขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด จนเห็นถึงความงดงามและเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในท้องถิ่นเหล่านั้น” ด้าน ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนบ้านนาเลา กล่าวปิดท้ายว่า “รู้สึกดีใจที่ได้ใช้ช่วงเวลาร่วมกับพี่ ๆ โรงเรียนนานาชาติ เพราะเป็นโอกาสให้ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ และยังได้รับอีกสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่าไม่แพ้กัน นั่นคือความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปแม้โครงการจบลงแล้ว”