เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ( สคช.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ หรือ “Thailand Zero Dropout” โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตัวแทนรัฐบาลประกาศความร่วมมือของทั้ง 11 หน่วยงาน
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ความร่วมมือของ 11 หน่วยงานครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทยที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ การเดินหน้าสู่ Thailand Zero Dropout จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลงานที่มีประสิทธิภาพ ทำได้จริง รัฐบาลจึงจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ ระหว่าง 11 หน่วยงานขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลตามเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกันบูรณาการฐานข้อมูลสารสนเทศเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี เป็นรายบุคคลระหว่างหน่วยงานผู้จัดการศึกษาทั้งสิ้น 21 หน่วยงานทั่วประเทศไทยกับฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย พบว่า ปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมายังมีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คนที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษาของทั้ง 21 หน่วยงาน
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า จากฐานข้อมูลนี้ รัฐบาลได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการค้นหา ติดตาม และดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาตามศักยภาพ โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ทุกจังหวัดจะ Kick Off กระบวนการค้นหาและช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งประเทศ โดยมี Application “Thai Zero Dropout” สนับสนุนภารกิจ สำรวจค้นหา จัดทำแผนการดูแลรายบุคคล วางแผน ช่วยเหลือ และเชื่อมโยง ส่งต่อการช่วยเหลือทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวมถึงการติดตามความก้าวหน้า
“การลงทุนกับเด็กให้มีการศึกษา เป็นเรื่องที่คุ้มค่า เพราะเด็กคือทรัพยากรที่สำคัญ จะเสียงบประมาณเท่าไหร่ก็ต้องยอมเสีย เพื่อให้พวกเขามีการศึกษา ตรรกะของเราคือ ถึงจะรักษาเด็กไว้ได้แค่คนเดียว ก็ถือว่าคุ้มแล้ว ดีกว่าปล่อยให้เขาไม่มีการศึกษา เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะเสียเงินเท่าไหร่ก็เสีย ต้องพยายามให้ทุกคนมีโอกาสทางการศึกษา จากนี้ไปเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาทุกคนจะอยู่ในจอเรดาร์ของรัฐบาล” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เอ็มโอยูนี้ ถือเป็นหนึ่งในพันธสัญญาทางสังคมที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและทุกฝ่าย ยินดีที่จะร่วมกันสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อความเสมอภาคแก่เด็กและเยาวชนไทยทุกคน โดยจะนำไปสู่บันได 5 ขั้นในการทำงาน ได้แก่ บันไดขั้นที่ 1 การสำรวจข้อมูลเด็ก Dropout เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษารายบุคคล และพื้นที่อย่างต่อเนื่อง บันไดขั้นที่ 2 การติดตามช่วยเหลือเด็ก Dropout ได้เป็นรายบุคคล ผ่านเครือข่ายความร่วมมือของสหวิชาชีพ บันไดขั้นที่ 3 เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิต โดยมีนวัตกรรมการศึกษารูปแบบต่าง ๆ รองรับบันไดขั้นที่ 4 เด็กและเยาวชนได้รับการส่งต่อผ่านหุ้นส่วนการศึกษา ตามแนวคิด All for Education ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ในพื้นที่ การระดมทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ในพื้นที่ บันไดขั้นที่ 5 เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตต่อไป
“ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนกว่า 1 ล้านคนนั้น ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งยังส่งผลต่อความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น หากประเทศไทยสามารถพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ จะทำให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตได้ถึงร้อยละ 1.7 ต่อปี ฉะนั้นหากเราสามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ เราย่อมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน” ดร.ไกรยสกล่าว
ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดีอีจะเป็นเจ้าภาพบูรณาการเชื่อมโยง และจัดทำข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นประจำทุกปี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและพื้นที่ มีการติดตามช่วยเหลือนักเรียนเป็นประจำก่อนเปิดภาคเรียน จะทำให้สถานการณ์หรือจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือ กระทั่งมีจำนวนลดลงและเป็นศูนย์ในที่สุด
นอกจากนี้จะพัฒนา Big Data Analytics ช่วยทำนายความเสี่ยงการหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยบูรณาการฐานข้อมูลของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองที่อยู่ในกระทรวงต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความสามารถในการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และแบ่งกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาในระดับต่าง ๆ เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว พร้อมทั้งเห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout 4 มาตรการ คือ 1.)มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.)มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาโดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ 3.) มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย และ 4.) มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้