“ดีใจที่มอบความสุขให้เพื่อนที่ขาดแคลนโอกาสครับ”
“พี่ๆ หรือน้องๆ ที่มาวันนี้ จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสิทธิภาพในอนาคตครับ”
“หนูมีความสุขได้เห็นคนอื่นมีอุปกรณ์ใช้เหมือนเรา และตอนทำก็สนุกมากด้วยค่ะ”
“ภูมิใจที่ได้ทำกิจกรรมนี้เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้ดีมากขึ้นค่ะ”
น้ำเสียงใสๆของบรรดาตัวแทน นักเรียนโครงการศึกษานานาชาติ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ต่างร่วมกันถ่ายทอดความรู้สึกจากหัวใจออกมา ในวันที่ รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการศึกษานานาชาติ ในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา รวมถึงคณาจารย์ ได้นำน้องๆ นักเรียน Grade 4-6 (ป.4-ป.6) เดินทางมากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ส่งมอบสายคล้องแมส สเปย์ และ เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งน้องๆ ได้จัดทำขึ้นและออกจำหน่าย โดยนำรายได้จัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนเพิ่มเติม ให้กับเพื่อนๆ ต่างโรงเรียนที่ยังขาดแคลน จำนวน 200 ชุด โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. เป็นผู้รับมอบ
ไม่บ่อยนักที่เพื่อนต่างโรงเรียนในฐานะ “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ได้มาพบและทำความรู้จักกัน ร่วมกันถ่ายทอดแลกเปลี่ยนและเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากการศึกษา
น้องๆ นักเรียนโครงการศึกษานานาชาติ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ได้พบกับเพื่อนจาก “โรงเรียนวัดศาลากุล” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี โดยน้องๆ เหล่านี้ ยังเป็นนักเรียนทุนเสมอภาคของกสศ. อีกด้วย
บรรยากาศของมิตรภาพที่มีให้แก่กันและกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงเกิดขึ้น
รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการศึกษานานาชาติ ในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา เล่าให้ฟังว่า โครงการศึกษานานาชาติ สาธิตมก. มีวิชากิจกรรมที่ต้องเรียน คือ Small Bisiness นั่นคือ ฝึกให้นักเรียนทำธุรกิจขนาดย่อม ตั้งแต่ชั้นประถม อีกกิจกรรมคือ Community Service หรือการให้บริการสังคม เด็กจะต้องฝึกในการช่วยเหลือบริการสังคม แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีความเสี่ยงต่อการลงพื้นที่ จึงได้ปรับวิธีการใหม่ ในการบริการสังคม ผ่านช่องทางกสศ. ที่เป็นองค์กรในการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาค เด็กผู้ด้อยโอกาส ว่าส่วนใหญ่อยากได้อะไร ได้คำตอบว่า เด็กอยากได้เจลแอลกอฮอล์พกพา
จากนั้น เราจึงให้อาจารย์ได้พานักเรียนไปฝึกปฏิบัติจริง โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ฝึกทำสายคล้องหน้ากากอนามัย ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ทำสเปย์แอลกอฮอล์ และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทำเจลล้างมือ เมื่อฝึกปฏิบัติจริงได้นำสินค้าไปจำหน่าย ถือว่าเป็นการฝึกฝนการขาย ให้เขาหาวิธีโฆษณาในโรงเรียน ในช่วงโควิด-19 ได้นำสองวิชาบูรณาการกัน เมื่อได้เงินก็นำไปซื้อแมส อุปกรณ์การเรียนการสอนเพิ่มเติมจัดเป็นชุดๆ เพื่อบริจาค ซึ่งเป็นส่วนของบริการสังคม
เราต้องการปลูกฝังในขณะที่เขาทำกิจกรรมให้อยู่ในจิตสำนึก ว่าเขากำลังทำเพื่อแบ่งปันให้เพื่อนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อนที่ต้องการโอกาส จะเห็นว่าเด็กๆ ภูมิใจมาก มีความสุข ตั้งใจทำจริงๆ เพราะมีเป้าประสงค์จะเอามาให้เพื่อนที่ต้องการ แล้วสิ่งที่เขาทำเป็นประโยชน์– รศ.ดร.ดารณี กล่าว
ทั้งนี้ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ได้ดำเนินกิจกรรมลักษณะนี้มาตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 ถึงม.6 โดย แต่ละระดับชั้นจะมีรูปแบบกิจกรรมแตกต่างกัน บางระดับชั้นจะขอบริจาคหนังสือนำมาคัดแยกส่งไปโรงเรียนที่ต้องการต่างจังหวัด หรือ ณ ขณะนี้ ก็มีอีกระดับชั้นมีการฝึกเชิญชวนให้เด็กๆ ช่วยกันบริจาคกระดาษเอสี่ ที่ใช้แล้วเหลืออีกหน้าหนึ่ง ส่งไปอำเภอ อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพราะรู้ว่าเด็กๆ ขาดแคลนกระดาษ
“แต่ละโครงการ จะให้เด็กรู้จักคิด ค้นหาว่าที่ไหนมีความต้องการอะไรบ้าง หรือบางกลุ่มเพิ่งทำเสร็จไป เช่น การขอรับบริจาคเครื่องสำอาง ที่หมดอายุแล้วนำไปมอบให้ช่างแต่งหน้าไปแต่งหน้าผู้วายชนม์ ฉะนั้นเป้าประสงค์ให้เขาเรียนรู้ในการที่จะให้ และมีความสุขในการทำ” รศ.ดร. ดารณี กล่าว
วิภาวี สุวิมลวรรณ อาจารย์ประจำชั้นป.6 กล่าวเสริมว่า โดยปกติจะมีวิชา Community Service การให้บริการช่วยเหลือชุมชนอยู่แล้ว และมีวิชา Small Bisiness (ธุรกิจขนาดเล็ก) ฝึกให้นักเรียนคิดและลงมือทำ แต่เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 การลงไปชุมชน ค่อนข้างมีความเสี่ยง จึงปรึกษากับอาจารย์ดารณี ให้คำแนะนำว่า ทำกิจกรรมที่นักเรียนลงมือทำด้วย และมีประโยชน์ต่อสังคม จึงบูรณาการสองวิชาเข้าด้วยกัน
นักเรียนระดับชั้นป. 4 จึงทำสร้อยร้อยลูกปัดคล้องหน้ากากอนามัย ส่วนหนึ่งขายในโรงเรียน อีกส่วนหนึ่งทำเพื่อเตรียมบริจาคผ่านกสศ. ส่วนป. 5 ทำสเปย์แอลกอฮอล์ และจำหน่ายเมื่อได้กำไร นำไปซื้อเพิ่มอีกให้ครบ 200 ชุด ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทำเป็นแอลกอฮอล์เจล ปรากฎว่า ขายที่โรงเรียนได้กำไรก็นำรายได้ไปซื้อดินสอสี หน้ากากอนามัย ยางลบ จากนั้นน้องๆ จะมาร่วมกันบรรจุเป็นชุดอุปกรณ์การเรียนแบบพกพา
“รูปแบบของกิจกรรมครั้งนี้ มีความแตกต่างจากกิจกรรมบริการสังคมในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งจากการสอบถามนักเรียนถึงการทำกิจกรรมลักษณะนี้ ก็มีความรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจ ที่เห็นชัดเจนจากการเป็นผู้ให้และมีคนรับ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนจะทำการสำรวจอีกครั้งว่า ชอบรูปแบบเดิมที่ทำกับชุมชนลงไปเก็บชั่วโมง หรือชอบการผลิตผลงานและมอบให้กับเพื่อนๆ ที่ขาดแคลนโอกาส” วิภาวี สุวิมลวรรณ อาจารย์ประจำชั้นป.6 สะท้อนความรู้สึกของเด็กที่ได้มามอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับเพื่อนต่างโรงรียน
นี่จึงเป็นอีกวิชานอกชั้นเรียน ของน้องๆ นักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับการปลูกฝังให้รู้จักคิดเป็น ทำเป็น พร้อมแบ่งปันความช่วยเหลือเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค