เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ที่สถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง แผนกเด็กชาย อำเภอเมือง จังหวัดระยอง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา นำโดย พลเอกประสาท สุขเกษตร ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (ตสร.) ด้านการศึกษา คณะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการฯ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำโดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ร่วมลงพื้นที่แลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกับส่วนราชการในจังหวัดระยอง ผ่านกลไกทำงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของ กสศ.
โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการร่วมกับเครือข่ายจังหวัด โดยมี สิบโทไชยยันต์ เกิดเหมาะ ศึกษาธิการจังหวัดระยอง (ศธจ.ระยอง) พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ผู้แทนคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้แทนกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดระยอง (พมจ.ระยอง) และผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.) และนายธงชัย มั่นคง ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัยจังหวัดระยอง (RILA) และภาคีเครือข่ายจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (ระยอง) เข้าร่วมประชุม พร้อมฉายภาพสถานการณ์ด้านการศึกษาจังหวัดระยอง
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ กมธ.การศึกษา ได้รับฟังการดำเนินงานในพื้นที่ ผ่านกลไกระดับตำบล ระดับจังหวัด พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นกระบวนการช่วยเหลือเด็กเยาวชนกับการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของจังหวัดระยอง และค้นหาแนวทางสนับสนุนการดำเนินงานของกลไกระดับจังหวัดจากส่วนราชการต่าง ๆ ผ่านการบูรณาการงานระดับจังหวัดและระดับนโยบาย ในมิติการช่วยเหลือและบริหารจัดการข้อมูลร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นการให้ความช่วยเหลือ ส่งต่อ และเงื่อนไขทางกฎหมาย PDPA (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ที่อาจมีอุปสรรคในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเป้าหมายเด็กในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา
นอกจากนี้ กมธ.การศึกษา ยังได้เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงานต้นแบบกลไกการช่วยเหลือ ติดตาม และส่งต่อความช่วยเหลือ ผ่านการบูรณาการงานร่วมกัน ณ สำนักงานเทศบาลตำบลแกลงกะเฉด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เพื่อศึกษากระบวนการช่วยเหลือ ดูแล ส่งต่อเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาตนเองตามศักยภาพ ทั้งการเรียนต่อในระบบการศึกษา การส่งเสริมการมีงานทำ การส่งเสริมโอกาสผู้พิการให้ได้รับสิทธิสวัสดิการ ผ่านกลไกการทำงานจากภาคีเครือข่ายภายใต้เป้าหมายร่วมคือการลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ในทุกมิติ