กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มูลนิธิสยามกัมมาจล และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เปิดเวที ‘ปลุกพลัง เปลี่ยนการศึกษา เพื่อเด็กทุกคน’ มหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 2 ย้ำความสำเร็จสร้างภูเก็ตเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พร้อมเปิดห้องเรียนสาธิตการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ
นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตตั้งเป้าหมายที่จะเป็นเมืองต้นแบบในการจัดการศึกษา ที่สามารถผลิตผู้เรียนให้เป็นคนดี มีคุณภาพ และมีทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่ พัฒนาผู้เรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ขับเคลื่อนการศึกษาตามแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด โดยมีครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมตั้งเป้าหมายเดียวกันในการสร้างทักษะทางด้านวิชาการและวิชาชีพ สร้างเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มให้มีความเป็นมืออาชีพในสิ่งที่ตัวเองถนัด
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพและการมีงานทำ ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว พัฒนาผู้เรียนให้เข้าใจตนเอง ค้นพบตัวเอง มีแผนที่ชีวิต รู้จักเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ ส่งเสริมแรงงานที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นและมีความเป็นสากล พร้อมกับสร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยบูรณาการการทำงานทุกหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งร่วมกับองค์กรชุมชน สร้างเครือข่ายหน่วยงานเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.น้ำเพชร นาสารีย์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ภูเก็ต คือการสร้างกลไกยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้สามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ ทั้งระบบบริหารจัดการและการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูง สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ ทำให้โรงเรียนมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ กระตุ้นให้เด็กรู้สึกสนใจและสนุกสนาน รวมถึงสร้างระบบการประเมินเพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้ดีขึ้น
“บทบาทในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีครูเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะครูจะคอยตั้งคำถาม สรุปความรู้ สรุปข้อมูลให้เด็กเป็นระยะ ๆ ครูเป็นกุญแจสำคัญในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้สถานการณ์ที่พบเจอในพื้นที่ หรือในชีวิตประจำวัน มาใช้กับสาระรายวิชาต่าง ๆ เพื่อให้เด็กเกิดไอเดียในการนำสิ่งที่เรียนกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง รวมถึงเกิดกระบวนการการบูรณาการสาระวิชาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกันและเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนสูงสุด” ผศ.ดร.น้ำเพชร กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมเปิดห้องเรียนสาธิตนวัตกรรมการเรียนการสอน โดยห้องเรียนที่ 1 โรงเรียนเมืองถลาง ได้สาธิตการออกแบบบทเรียนบูรณาการสู่การปฏิบัติ โดยประยุกต์การเรียนวิชาคณิตศาสตร์ กำหนดโจทย์ให้นักเรียนนำเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์มาเชื่อมโยงกับพื้นที่ท่องเที่ยวในอำเภอถลาง นำเนื้อหาของการเดินทางในพื้นที่มาสร้างสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว สร้างวิธีการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมองเห็นเป้าหมายในการเรียนรู้และสามารถเชื่อมโยงได้
ห้องเรียนที่ 2 โรงเรียน อบจ.เมืองภูเก็ต โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้สาธิตการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน กับการพัฒนา EF (Executive Function) ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย สร้างความร่วมมือจากทุกส่วน ทั้งโรงเรียน เด็ก ครู ผู้ปกครอง มาช่วยกันทดลอง ปรับปรุง พัฒนาการเรียนการสอน สร้างความร่วมมือจากชุมชนตามหลักคิดสำคัญคือ การเรียนรู้เกิดจากปฏิสัมพันธ์และบริบทแวดล้อมของผู้เรียน โดยมีครูเป็นผู้แนะนำหรือทำโครงการให้ผู้เรียนเลือกตามความสนใจและความถนัด เปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นสถานที่บูรณาการความรู้อย่างเหมาะสม
ห้องเรียนที่ 3 โรงเรียนบ้านกู้กู ได้สาธิตกระบวนการเก็บข้อมูลเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อแก้ปัญหาครูไม่เพียงพอ ปัญหาการวัดและประเมินผลนักเรียนที่ล่าช้า และปัญหาวิธีการสอนของครูที่ไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยโรงเรียนได้เปลี่ยนเรื่องใกล้ตัวมาเป็นโจทย์การเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น นักเรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งการกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าตอบคำถามในห้อง รับฟังความเห็นของเพื่อน สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งจะส่งผลสัมฤทธิ์ต่อนักเรียนเอง อีกทั้งครูก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก
ห้องเรียนที่ 4 โรงเรียนบ้านทุ่งคา ได้สาธิตการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะผู้ประกอบการ โดยโรงเรียนได้จัดกิจกรรมกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการผ่านการฝึกทักษะอาชีพ ให้ผู้เรียนสามารถนำไปต่อยอดช่วยเหลือผู้ปกครอง สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร เรียนรู้เรื่องการขายและคิดแผนการตลาด
ห้องเรียนที่ 5 โรงเรียนบ้านโคกวัดใหม่ ได้สาธิตกระบวนการสร้างชุดคำถาม การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) สร้างแบบเรียนเพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดการตั้งคำถาม เพื่อนำมาทำเป็นโครงงาน ให้นักเรียนดูคลิปวิดีโอเรื่องการผลิตผ้ามัดย้อมโดยใช้สีจากธรรมชาติ ฝึกสังเกตและตั้งคำถามจากเนื้อหาต่าง ๆ ที่ได้เห็นในคลิปมาเป็นเนื้อหาการเรียนรู้