เมื่อวันที่ 28-30 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมคุ้มภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมูลนิธิวายไอวาย (Why I Why Foundation) จัดกิจกรรมค่ายปฐมนิเทศ U-Volunteer for School ภายใต้โครงการนำร่องพัฒนากลไกอาสาสมัครในสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการช่วยเพิ่มโอกาสการศึกษาให้กับโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถควบรวมได้ เนื่องจากปัญหาทางด้านการเดินทางและฐานะครัวเรือนของเด็กในพื้นที่

ปัจจุบันประเทศไทยมีนักเรียนที่จัดอยู่ในกลุ่มฐานะยากจนประมาณ 3 ล้านคน และในจำนวนนี้มีประมาณ 1.3 ล้านคนที่อยู่ในกลุ่มยากจนพิเศษ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า นักเรียนที่มาจากครัวเรือนฐานะยากจนจะมีทักษะการเรียนรู้ต่ำกว่ากลุ่มนักเรียนที่มาจากครัวเรือนฐานะปานกลางหรือฐานะดี ขณะที่สาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสามารถจำแนกได้เป็น 3 มิติหลัก ได้แก่ 1) การเข้าถึงระบบการศึกษา 2) การเข้าถึงคุณภาพการศึกษา และ 3) การเข้าถึงทรัพยากร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ความเหลื่อมล้ำจะปรากฏชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้มักจะมีจำนวนครูไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน และเนื่องจากเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนที่พิจารณาเป็นรายหัว ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับงบประมาณจากส่วนกลางในสัดส่วนที่น้อยเกินไป ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการทั้งในด้านการพัฒนาการเรียนรู้และการดูแลคุณภาพชีวิตของนักเรียน นอกจากนี้ ความห่างไกลจากแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้การเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่นั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อเวลาผ่านไป ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและโรงเรียนในเมืองจึงยิ่งขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ
จากรายงานผลการทดสอบโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล หรือ PISA 2022 พบว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีผลกระทบโดยตรงต่อผลการประเมินทักษะความฉลาดรู้ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ทักษะการอ่าน (Reading Literacy) ทักษะคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และทักษะวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) โดยคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนไทยต่ำกว่ามาตรฐานในทุกด้าน เมื่อมองไปยังอนาคต หากประชากรกลุ่มนี้เติบโตและเข้าสู่ตลาดแรงงาน คาดการณ์ได้ว่า ประเทศไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว




เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กสศ. และมูลนิธิวายไอวาย จึงร่วมมือกันลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลและโรงเรียนในเมือง โดยริเริ่ม ‘โครงการนำร่องพัฒนากลไกอาสาสมัครในสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล’ ซึ่งจะช่วยผลิตกำลังคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ทักษะ และความสามารถ เพื่อเข้าไปพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลในฐานะอาสาสมัคร เริ่มนำร่องร่วมกับ 5 สถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ในครั้งแรกของการเข้าร่วมโครงการ นักศึกษาอาสาสมัครจะได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายปฐมนิเทศ U-Volunteer for School เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะที่จำเป็นผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อป ก่อนที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาโรงเรียนในกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ




คุณจันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เป็นการร่วมมือกันระหว่าง กสศ. มูลนิธิวายไอวาย ร่วมด้วยภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง โดยการรวมพลังครั้งนี้จะช่วยเพิ่มมิติในการพัฒนานักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส และยกระดับคุณภาพของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ ยังเป็นการเริ่มต้นการถอดบทเรียนว่า การพัฒนากลไกอาสาสมัครเพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ จะสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

“สิ่งที่เราคาดหวังจากโครงการนำร่องนี้คือความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น กสศ. มูลนิธิวายไอวาย สถาบันการศึกษาในโครงการ อาสาสมัคร โรงเรียนปลายทาง คนในชุมชน หรือแม้แต่ภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ เพื่อให้หลังจากนี้ น้อง ๆ อาสาสมัครจากทั้ง 5 สถาบันมีความพร้อมและสามารถลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสำรวจความต้องการของนักเรียนและโรงเรียนปลายทาง โดยข้อมูลเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการออกแบบการพัฒนาโรงเรียนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ต่อไปในอีกประมาณ 5 เดือนข้างหน้า เราจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่าเป้าหมายที่วางไว้จะค่อย ๆ ปรากฏเป็นรูปธรรม หากโครงการนำร่องนี้ประสบความสำเร็จตามคาด ก็จะมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ อย่างกว้างขวางขึ้น” ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าว

คุณดวงรักษ์ เลิศมั่งมี ผู้อำนวยการมูลนิธิวายไอวาย ซึ่งเป็นกลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคมที่เชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า มูลนิธิวายไอวายและ กสศ. มีความเห็นตรงกันในการใช้กลุ่มอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างนักเรียนจากพื้นที่ต่าง ๆ และนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาโครงการนำร่องนี้ เพื่อทดสอบว่าแนวคิดและกระบวนการดังกล่าวจะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ มูลนิธิวายไอวายได้คัดเลือกมหาวิทยาลัย 5 แห่งเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ร่วมงานในลักษณะอาสาสมัครมาก่อน โดยเบื้องต้นจะใช้ฐานข้อมูลจาก กสศ. เป็นจุดเริ่มต้นคัดเลือกโรงเรียนปลายทาง ก่อนที่จะสำรวจความพร้อมของแต่ละโรงเรียนและคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบในขั้นตอนถัดไป