Tockto (ต๊อกโตะ) แอปพลิเคชันฝึกภาษาภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ New Me ปีนี้พูดอังกฤษได้ by Tockto รุ่นที่ 6 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไทยให้พูดภาษาอังกฤษได้ ด้วยวิธีเรียนผ่านแอปพลิเคชัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 10 ม.ค. – 10 ก.พ. 2567 สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 5 มกราคม 2567 รับจำกัดเพียง 3,000 คน สมัครได้ที่ tockto.me/new-me
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 ยังคงเติบโตมาจากการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เบื้องต้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยราว 25-30 ล้านคน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องมีการเติบโตตาม ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมบริการ ยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนในอุตสาหกรรมนี้ยังไม่กลับเข้าสู่ระบบ ทาง บริษัท ต๊อกโตะ จำกัด มองเห็นโอกาสในครั้งนี้ จึงสานต่อ โครงการ“New Me ปีนี้พูดอังกฤษได้ by Tockto รุ่นที่ 6” ให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับมาฟื้นฟูภาษา ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการกลับเข้ามาในระบบอีกครั้ง
สำหรับ โครงการ “New Me ปีนี้พูดอังกฤษได้ by Tockto รุ่นที่ 6” ยังคงได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และได้ความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไทยในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการให้พูดภาษาอังกฤษได้ ด้วยวิธีเรียนผ่านแอปพลิเคชั่น
และในวันเปิดตัวโครงการฯ ได้รับเกียรติจาก ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คุณไพโรจน์ ภาชนะปรีดา กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทย คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคุณพัชรนันท์ ชัยชาญทิพยุทธ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารฝ่ายวิชาการ บริษัท ต๊อกโตะ จำกัด ร่วมเสวนาให้มุมมองและทิศทางในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารภาษาอังกฤษสำหรับคนไทยในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ก่อนเริ่มสัมมนาเชิงฝึกอบรมพิเศษหัวข้อ “ภาษาอังกฤษสู่ความเป็นเลิศในงานบริการ (English for Service Excellence: Training Workshop)” ดังนี้
ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI Blockchain AR VR เกิดขึ้นจากฝั่งตะวันตกค่อนข้างเยอะ ซึ่งองค์ความรู้ ยังไม่แปลเป็นภาษาไทย และมีภาษาที่ 3 เรียกว่า Coding เกี่ยวข้องกับการเพิ่มทักษะที่จะเข้าใจการทำงานร่วมกันกับ AI กับหุ่นยนต์ ในลักษณะที่เรียกว่า Co-pilot ทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี แต่การจะเข้าใจภาษา Coding ได้ ทุกอย่างตั้งแต่พื้นฐานเป็นภาษาอังกฤษหมด ฉะนั้นการเข้าใจภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 สำคัญมากและเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ภาษาที่ 3 และภาษาอื่นๆ ที่จะเป็นทักษะจำเป็นอีกอย่างของชีวิตในอนาคต”
“สำหรับการท่องเที่ยว ภาษาอังกฤษยิ่งสำคัญมาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ ก่อนโควิด 40 ล้าน ปีนี้เราก็อยากได้กลับมาเกือบๆ 30 ล้าน แม้เราจะ Hi-Tech ขนาดไหน จะใช้โปรแกรม Translation อะไรก็ตาม เราต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Hi-Touch คือ ทำยังไงให้คนประทับใจ ทำยังไงให้เราเกิด Personal Connection ซึ่งคำว่า Touch เป็นประสบการณ์ระหว่างกัน อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่คนทำงานโดยเฉพาะในสายอาชีพด้านการท่องเที่ยวจำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษ”
คุณไพโรจน์ ภาชนะปรีดา กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมให้มุมมองว่า “จริงๆ ภาษาอังกฤษไม่ได้สำคัญเฉพาะภาคธุรกิจเท่านั้น ในแง่ของปัจเจกตัวบุคคลก็มีความสำคัญต่อการเติบโตในหน้าที่การงานและความก้าวหน้าในอาชีพ สกิลภาษาอังกฤษเป็นเกณฑ์ประเมินที่ผู้ประกอบการต้องการ Upskill Reskill ให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้หลายๆ บริษัท ผู้ประกอบการเริ่มทำภาษาที่ 3 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน ภาษาเกาหลี หรือว่าภาษาญี่ปุ่น และบริษัทที่เริ่มทำจะเห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นเหมือนภาษาไทย ซึ่งไม่มีคือไม่ได้”
คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “จากบทบาทของ กสศ. ที่ดูแลเยาวชนฐานะยากลำบาก 15% ล่างสุดของประเทศ ยังเห็นช่องว่างทางการศึกษาอยู่ ถ้าเยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการส่งเสริมให้เขาเรียนภาษาอังกฤษได้ จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เขาหลุดออกจากความยากจนได้ผ่านการมีอาชีพหรือว่ารายได้สูงขึ้น เพราะว่าภาษาอังกฤษทำให้รายได้สูงขึ้นมากทีเดียว แล้วยิ่งถ้าได้ภาษาดิจิทัลก็ยิ่งทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เราจำเป็นที่จะต้องเพิ่มรายได้ให้กับทั้งเยาวชนและประชาชน อย่างน้อย 20,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งในทุกวันนี้ค่าเฉลี่ยต่ำกว่านั้นเยอะ
นอกจากเรื่องโอกาส ภาษาอังกฤษที่เรามองว่าเป็นเรื่องของการสื่อสาร แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเครื่องมือที่ปัจจุบันเราพยายามโปรโมทให้มี เราพูดถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 เยอะว่าคนต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ แต่จริงๆ แล้วการเรียนภาษาอังกฤษจะนำไปสู่ทักษะนั้นได้ด้วย เพราะว่าภาษาอังกฤษทำให้เราต้องคิดสร้างสรรค์ ต้องคิดวิเคราะห์ด้วย และทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ภาษาอังกฤษไม่ใช่แค่เรื่องของ Communication แต่เป็นเครื่องมือเสริมทักษะอื่นๆ ด้วย ถ้ารู้ภาษาอังกฤษ ทักษะอื่นๆ ก็จะตามมาด้วย เช่น ความมั่นใจ”
คุณพัชรนันท์ ชัยชาญทิพยุทธ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารฝ่ายวิชาการ บริษัท ต๊อกโตะ จำกัด (Tockto) กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราหวังให้โครงการของเราช่วยพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้สามารถเท่าเทียมกับคนในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการที่ภาษาอังกฤษมีสำคัญในการสื่อสาร ในการต้อนรับคนต่างชาติ จะทำยังไงให้ต่างชาติรู้สึกประทับใจ จะทำยังไงให้การค้าขายของเราดียิ่งขึ้น หรือว่าทำยังไงให้สื่อสารภาษาอังกฤษได้ ได้งานหรือเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าจากสถิติจะเห็นได้เลยว่า ถ้าได้ภาษาอังกฤษ ฐานเงินเดือนสามารถเพิ่มมากขึ้นถึง 15 – 30% จากเงินเดือนทั่วไป และผู้ประกอบการที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษสามารถค้าขายกับชาวต่างชาติได้ จะค้าขายได้มากกว่าการที่เราขายเฉพาะกับคนไทย รวมถึงคนที่ได้ภาษาอังกฤษจะจะไปได้ไกลกว่า สามารถเรียนรู้และศึกษาด้วยตัวเองในเรื่องของการพัฒนาภาษาที่ 3 ก็คือภาษาเทคโนโลยี ภาษาการเขียนโค้ดดิ้ง ทางเราก็เลยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยเป็นก้าวแรกที่เปิดโอกาสให้กับเยาวชน ผู้ประกอบการและคนทั่วไป ได้แรงบันดาลใจในการเรียนภาษาอังกฤษ รู้สึกว่าภาษาอังกฤษมันง่าย มันสนุก และอยากจะเรียนต่อยอดมากขึ้น”
“Tockto ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ เพราะภาษาช่วยเปิดโอกาสในการทำงาน เปิดอนาคตให้กว้างขึ้น เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาคนไทยให้ก้าวไปสู่โลกอนาคตที่ทุกคนจะมีโอกาสในชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน” คุณพัชรนันท์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับโครงการ “New Me ปีนี้พูดอังกฤษได้ by Tockto รุ่นที่ 6” มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไทยในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการให้สื่อสารภาษาอังกฤษได้ ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนคอร์สฝึกสื่อสารภาษาอังกฤษผ่านแอปพลิเคชัน Tockto โดยเลือกคอร์สได้ตามระดับที่ต้องการ ได้แก่
1. ระดับพื้นฐาน คอร์ส Basic English Speaking เน้นฟังและพูดประโยคภาษาอังกฤษสั้นๆ ง่ายๆ แต่ใช้ประโยชน์ได้จริง เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นและผู้ที่ต้องการทบทวนตั้งแต่พื้นฐาน
2. ระดับพื้นฐานขึ้นไป คอร์ส Working English 101 ฝึกพูดอังกฤษสำหรับการทำงาน ปูพื้นฐานการพูดภาษาอังกฤษ สำหรับผู้ที่ต้องคุยกับเพื่อนร่วมงานต่างชาติ หรือต้องการเรียนพูดอังกฤษเพื่อไปทำงานต่างประเทศ
3. ผู้ทำงานด้านการท่องเที่ยวและบริการ คอร์ส Service English 101 ฝึกพูดอังกฤษเพื่องานบริการ ปูพื้นฐานภาษาอังกฤษสำหรับคุยกับลูกค้าและนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับพนักงานหรือเจ้าของกิจการในธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ร้านนวด สปา และอื่นๆ
เนื้อหาในแต่ละคอร์สมีจำนวน 8 หมวด 30 บทเรียน แต่ละบทใช้เวลาเรียนประมาณ 15 นาที สามารถเรียนซ้ำทุกบทได้ไม่จำกัดโครงการเปิดให้สมัครเรียนแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึง 5 มกราคม 2567 ผู้สนใจสามารถสมัครผ่านเว็บไซต์โครงการ tockto.me/new-me หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ fb.com/tocktoTH ทั้งนี้การสมัครเข้าร่วมโครงการจะมีมัดจำ 300 บาท เพื่อป้องกันการสละสิทธิ์หรือเรียนไม่จบหลักสูตร ทำให้ผู้ต้องการเข้าร่วมโครงการท่านอื่นเสียสิทธิ์ ซึ่งผู้เรียนจะได้รับเงินมัดจำคืน 100% หลังเรียนจบคอร์สครบตามเงื่อนไข โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Tockto ได้จากทั้ง Apple Store หรือ Google Play Store
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Tockto
Tockto เป็นแอปพลิเคชันฝึกภาษาด้วยตนเอง โดยเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการฟังและพูดแบบ Micro-Learning คือ การเรียนรู้ที่มีขนาดเล็กตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและจำข้อมูลความรู้ได้ง่ายในเวลาอันสั้น นำไปปรับใช้ในชีวิตหรือการทำงานได้จริง มีจุดเด่นคือการฝึกพูดโต้ตอบด้วยระบบ Duet ที่มีการตรวจความถูกต้องของการออกเสียงด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแสดงคะแนนในการออกเสียงแต่ละคำในประโยคที่ฝึกให้ดู การเรียนภาษาด้วย Tockto ต่างจากการเรียนภาษาทั่วไปตรงที่เน้นทักษะการฟังและพูด โดยให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง ด้วยการพูดโต้ตอบกับเจ้าของภาษาผ่านวิดีโอจำลองสถานการณ์ เพื่อลดปัญหาความกลัวพูดผิดและความประหม่าในการพูดกับบุคคลจริง ทั้งนี้ผู้เรียนสามารถเลือกเวลาและสถานที่เรียนได้ตามสะดวก ตัดความลำบากในการเดินทางและการหาเวลาเรียนให้ตรงกับผู้สอนในแต่ละวัน