ภายหลัง นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่า สนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ส่งเสริมการสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ Lifelong Learning Ecosystem แก่เด็กและเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา (41 เครือข่าย) ให้ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพโดยการดึงทุกภาคส่วนในพื้นที่ทั้งสถาบันครอบครัว หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมกันสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ… ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการยกร่าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการออกเป็นกฎหมาย
ทั้งนี้ ความเป็นไปของร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีสาระสำคัญดังนี้
- เจตนารมณ์
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 วรรคสาม กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระดมทรัพยากรและความเป็นหุ้นส่วน ระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบกับมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (4) ปรับปรุงการจัด การเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดและรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ประชาชนมีสิทธิในการจัดและรับบริการการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และสร้างธรรมาภิบาลของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- ประชาชนมีสิทธิในการจัดและรับบริการการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการจดแจ้งการดำเนินการการเรียนรู้ตลอดชีวิต (มาตรา 8)
ภาคเอกชน มีสิทธิจัดและรับบริการการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเริ่มตั้งแต่ครอบครัวไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคมตลอดจนสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ทรัพยากร รวมทั้งบูรณาการการศึกษาทุกระบบหรือระบบใดระบบหนึ่งที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพของผู้รับบริการ ทั้งนี้ การจัด การเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยประชาชนและภาคีเครือข่ายที่เป็นภาคเอกชน ให้จดแจ้งการดำเนินการ
- กลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามช่วงวัย (มาตรา 10)
ในการจัด ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต แบ่งออกเป็นห้าช่วงวัยดังต่อไปนี้
(1) ช่วงเด็กปฐมวัย อายุช่วงก่อนคลอดถึงก่อนอายุแปดปีบริบูรณ์
(2) ช่วงวัยเด็ก อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก
(3) ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุสิบเจ็ดปีขึ้นไปถึงสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(4) ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย อายุสามสิบห้าปีขึ้นไปถึงหกสิบปีบริบูรณ์
(5) ช่วงวัยผู้สูงอายุ อายุหกสิบปีขึ้นไป
- ระบบการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14)
ในการจัดระบบของการจัด ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของสำนักงานและภาคีเครือข่าย มีสามระบบ ได้แก่ ระบบการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับในรูปแบบการศึกษานอกระบบ ระบบการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต และระบบการศึกษาตามอัธยาศัย
(1) ระบบการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับในรูปแบบการศึกษานอกระบบ มีสองระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(2) ระบบการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ผู้รับบริการได้รับการพัฒนาศักยภาพ สมรรถนะ ทักษะการดำรงชีวิต โดยอาจได้รับใบรับรองความรู้ หรือใบรับรองสมรรถนะ