ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. และภาคีเครือข่าย 5 องค์กรหลักทางการศึกษาของประเทศ สร้างครูตามแนวคิด “ครูนักพัฒนาชุมชน” รุ่นที่ 1 จำนวน 327 คน จาก 11 สถาบันต้นแบบการผลิตครูคุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมประจำการสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลต่าง ๆ จำนวน 285 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 44 จังหวัด ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 นี้ โดยกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น พื้นที่สูง บนภูเขา 69 คน 60 โรงเรียน พื้นที่เสี่ยงภัย 20 คน 17 โรงเรียน บนเกาะ 12 คน 11 โรงเรียน พื้นที่ชายแดน 17 คน 16 โรงเรียน พื้นที่ทุรกันดาร 14 คน 12 โรงเรียน พื้นที่หลากหลายทางชาติพันธุ์ 8 คน 7 โรงเรียน โรงเรียนที่มีการโยกย้ายบ่อย 127 คน 104 โรงเรียน
ตลอด 6 ปีหลังจากนี้ กสศ. ยังจัดให้มีกระบวนการหนุนเสริม ติดตาม พัฒนาทักษะครูที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพเมื่อปฏิบัติงานในโรงเรียนปลายทางในถิ่นฐานบ้านเกิดของตน ครอบคลุมการพัฒนาทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ จนนำไปสู่การยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน คุณภาพโรงเรียน และคุณภาพชุมชน ซึ่งจะเป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศในระยะต่อไป
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (อายุ 18-24 ปี) ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส แต่มีผลการเรียนดีและมีจิตวิญญาณความเป็นครู ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลนครู และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นท้องถิ่นของตนเอง เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้นและการโยกย้ายบ่อย ควบคู่กับการพัฒนาต้นแบบการผลิตครูคุณภาพในสถาบันอุดมศึกษา ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล เป็นนักพัฒนาชุมชน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู รวมถึง การศึกษา วิจัย หรือค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาครู ให้มีความรู้ ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ กสศ. ตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 หลังจากนี้ ภายในระยะเวลา 5 ปี โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจะมีครูรุ่นใหม่กลับไปบรรจุเป็นข้าราชการครู ราว 1,269 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 62 จังหวัด ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ