วันที่ 20 เมษายน 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงานเสวนา ‘Learning City ร่วมก้าวไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระดมความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อน ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ โดยมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างความเสมอภาคในระดับพื้นที่ กระจายอำนาจทางการศึกษาเพื่อสร้างทางเลือกที่หลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่
เมืองแห่งการเรียนรู้คืออะไร
แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ (learning city) เริ่มขึ้นในปี 2558 เมื่อองค์การสหประชาชาติจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย โดยมีประเด็นเรื่องการศึกษาอยู่ในเป้าหมายที่ 4 เพื่อสร้างหลักประกันคุณภาพการศึกษา ให้มีความครอบคลุมทั่วถึง สนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเพื่อเป็นรากฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอื่นๆ ต่อไป
เมืองแห่งการเรียนรู้ หมายถึง เมืองที่ใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning: UIL) จึงพยายามจัดตั้งเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายนั้น
ปัจจุบันมีเมืองแห่งการเรียนรู้ทั้งหมด 294 เมือง จาก 76 ประเทศ และประเทศไทยมีเมืองที่อยู่ในเครือข่าย 7 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดพะเยา จังหวัดสุโขทัย และเทศบาลนครหาดใหญ่
ท้องถิ่นร่วมสร้างคน สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้
ศาสตราจารย์พิเศษวุฒิสาร ตันไชย รองประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘ท้องถิ่นร่วมสร้างคน สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้’ โดยเน้นที่การกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาให้แต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
“เมืองแห่งการเรียนรู้ คือ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้ความรู้เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ และตอบโจทย์ความหลากหลายของคนในเมืองนั้น หัวใจสำคัญคือ การไม่มีรูปแบบที่ตายตัวเพื่อโอบรับการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย เอื้อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
ศาสตราจารย์พิเศษวุฒิสาร เปรียบเทียบว่า เมืองแห่งการเรียนรู้คล้ายเมืองที่มีสถานีพลังงานหรือปั๊มน้ำมันจำนวนมากและหลากรูปแบบ เพื่อให้คนในเมืองได้เติมพลังงานในเวลาที่ขาดแคลน โดยพลังงานสำหรับชีวิตเหล่านั้นหมายถึง ความรู้ ปัญญา และทักษะของพลเมืองที่มีความแตกต่างกันไป การพัฒนาเมืองจึงต้องโอบรับและสนใจ pain point ที่ไม่เหมือนกันเลยเหล่านี้ให้มากที่สุด เพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ
ศาสตราจารย์พิเศษวุฒิสาร อธิบายว่า การขับเคลื่อนสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ต้องพิจารณา 3 แกนพร้อมๆ กัน ได้แก่ หนึ่ง การระบุเป้าหมาย (identify) หมายถึง การจำแนกพลเมืองแต่ละกลุ่มตามความต้องการและเงื่อนไขในชีวิต เพราะแต่ละกลุ่มมีความต้องการไม่เหมือนกัน สอง เนื้อหาสาระ (content) ต้องค้นคว้าให้ได้ว่า สาระแบบใดที่จะตอบโจทย์พลเมืองแต่ละกลุ่ม และสาม ช่องทางหรือวิธีการในการทำให้เป้าหมายข้างต้นบรรลุผล
“ปัญหาของคนแต่ละกลุ่มคือ dot หรือจุด การเชื่อม dot เหล่านี้เข้าด้วยกันก็เหมือนการต่อจิ๊กซอว์ให้เป็นภาพใหญ่ และ learning city ก็คือการสร้างสถานีที่จะแก้ไขปัญหาที่หลากหลายเหล่านั้น”
เมืองแห่งการเรียนรู้สู่เมืองต้นแบบ
นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความร่วมมือต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการยินดีให้คำปรึกษาแก่เมืองใดก็ตามในประเทศไทยที่สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย GNLC
นางสาวดุริยาอธิบายต่อว่า สมาชิกเครือข่าย GNLC จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และได้รับการสนับสนุนการพัฒนาเมืองตามกรอบเมืองแห่งการเรียนรู้จากเพื่อนร่วมเครือข่าย หากการพัฒนาของเมืองนั้นเป็นได้ด้วยดีก็อาจจะได้รับการยอมรับและยกย่องเป็นโมเดลหรือ best practice ให้เมืองอื่นๆ สุดท้าย เมืองในเครือข่าย GNLC จะมีโอกาสได้เข้าร่วมการประกวดเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ยอดเยี่ยมที่จะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี
ทั้งนี้ เมืองที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกเครือข่าย GNLC จะต้องจัดทำรายงานความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ทุกๆ 2 ปี (Biennial Progress Report) (ส่งรายงานภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีที่ครบกำหนด) โดยยูเนสโกจะประเมินรายงานความก้าวหน้านั้น หากพบว่าเอกสารไม่สมบูรณ์ ไม่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า หรือไม่จัดส่งตามระยะเวลาที่กำหนด ยูเนสโกจะไม่ต่ออายุการเป็นสมาชิกให้เมืองนั้นๆ อย่างไรก็ตาม เมืองที่ถูกตัดสิทธิ์สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายได้อีกครั้งหากมีการเปิดรับสมัครจากยูเนสโก
นางสาวโศวิรินทร์ ชวนประพันธ์ เจ้าหน้าที่โครงการ กลุ่มงานการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาทักษะ (EISD) สำนักงานยูเนสโกเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ยกกรณีตัวอย่างของเมืองแห่งการเรียนรู้ในต่างประเทศหลายกรณี
ตัวอย่างเมืองแห่งการเรียนรู้ที่โดดเด่น อาทิ เมืองเฉิงตู ประเทศจีน มีการวางแผนและยุทธศาสตร์ชัดเจน ทุกภาคส่วนมีข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาเมือง สร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ขึ้นทั่วเมืองทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ ไม่กระจุกตัวอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของเมือง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ มาช่วยสนับสนุนและปลูกฝังนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่พลเมือง
เมืองแห่งการเรียนรู้ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นคือ เมืองที่สามารถเชื่อมโยงภาคีต่างๆ เช่น สถานศึกษา ภาคประชาสังคม และผู้ประกอบการ เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ (partner) ในการขับเคลื่อนการเรียนรู้พร้อมกัน และสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้พลเมืองสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
“สิทธิในการเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life long learning) คือ สิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง”
กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ในเวทีสร้างแรงบันดาลใจ ‘การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยกระบวนการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้’ มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาเมืองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 คน ได้แก่ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวจุฬาสินี โรจนคุณกำจร อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ เห็นว่าหนึ่งในเป้าหมายของการกระจายอำนาจคือ ให้ท้องถิ่นได้บริหารจัดการการศึกษาเอง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ พร้อมทั้งเห็นว่าการศึกษามีความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ของมนุษย์ ดังนั้น การทำให้คนรู้ว่ามีแหล่งเรียนรู้อยู่ที่ไหนเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เขาได้มีพื้นที่ในการทดลองและเรียนรู้ชีวิต
ทั้งนี้ การเรียนรู้ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น เมืองจะต้องมีแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น ห้องสมุดชุมชน ศูนย์ฝึกอาชีพ ตลอดจนมีอินเทอร์เน็ตที่ทั่วถึง เพื่อให้พลเมืองเข้าถึงความรู้ได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และสร้างอาชีพในอนาคตได้โดยไม่ต้องไปกระจุกอยู่ในพื้นที่ทางกายภาพอย่างมหาวิทยาลัย
“หน้าที่ของ กทม. คือการสร้าง infrastructure ให้พร้อม สิ่งที่เป็นจุดแข็งของ กทม. คือเครือข่าย แต่ความท้าทายคือเราไม่ควรทำเองคนเดียว การทำ learning city ไม่ใช่การทำอย่างโดดเดี่ยว เราต้องเปลี่ยนบทบาทเป็น organizer (ผู้จัด) และ facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก)”
นางสาวจุฬาสินี อดีตนายก อบจ.พะเยา กล่าวว่า แม้พะเยาจะเป็นจังหวัดขนาดเล็กที่เคยเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย แต่ก็ยังได้รับเลือกให้เป็น learning city ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะเมืองใหญ่ๆ ที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรและงบประมาณเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการค้นหาอัตลักษณ์ของเมืองแล้วพัฒนาจากจุดแข็งนั้น
“การเป็นเมืองรองไม่ใช่ปัญหา สิ่งสำคัญคือการสร้างเมืองที่รองรับทุกคน”
นางสาวจุฬาสินีอธิบายต่อไปว่า แม้ อบจ.พะเยา จะมีงบประมาณจำกัด การสร้างเมือง สร้างแหล่งเรียนรู้ สร้างคน และสร้างอาชีพจึงดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่เพราะเป็นเมืองเล็กจึงสามารถทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วนได้ง่าย และสามารถดึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ตั้งแต่ส่วนราชการ เอกชน หอการค้า หรือภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองไปพร้อมกัน
“การสร้างเมืองเพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย การสร้างภาคีและแสวงหาความร่วมมือจึงจำเป็นอย่างที่สุด”
นายพงษ์ศักดิ์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครยะลาตั้งแต่ปี 2546 ด้วยวิสัยทัศน์ว่าจะพัฒนาเมืองให้เป็น ‘สิงคโปร์แห่งที่ 2’ ภายใต้ motto ‘สร้างเมืองให้น่าอยู่ สร้างความรู้สู่มวลชน’ โดยเห็นว่าต้นทุนของยะลาคือสิ่งแวดล้อม ผังเมืองที่ดี และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อทรัพยากรมนุษย์ยังไม่ได้รับการเติมเต็มศักยภาพ เมืองจึงพัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพตามไปด้วย
นายพงษ์ศักดิ์เห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถพัฒนาเมืองและสร้างทรัพยากรมนุษย์ได้เพียงลำพัง ดังนั้นจึงต้องเสริมพลัง (empower) ให้ชุมชนมีอำนาจจัดการและดูแลตนเอง สร้างสำนึกการเป็นเจ้าของ (sense of belonging) โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน ซึ่งเป็นผู้นำของเมืองในอนาคต
“การศึกษาเปรียบเหมือนอาวุธติดตัวประชาชนทุกคน และพลังนั้นจะย้อนกลับมาช่วยพัฒนาเมือง”
เมืองแห่งการเรียนรู้สร้างได้อย่างไร
เวทีสุดท้ายชื่อว่า ‘How Might We…เราจะทำอย่างไรให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้’ เป็นการชวนคิดชวนคุยถึงวิธีการที่จะสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยมีวิทยากร ดังนี้ ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา นางสาวศิริพร พรมวงศ์ นวัตกรจากโครงการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อเยาวชนคลองเตย (คลองเตยดีจัง) และนายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ดำเนินรายการโดย นายสันติพงษ์ ช้างเผือก
เริ่มจากรองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา เห็นว่า กลไกสำคัญที่ทำให้จังหวัดพะเยาสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ได้สำเร็จคือ การทำงานร่วมกันแบบภาคีเครือข่าย รวมถึงการเจรจาต่อรองเพื่อดึงภาครัฐและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง และที่สำคัญ เมืองที่ต้องการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ต้องรู้จักผู้คนในท้องถิ่นของตนเองเป็นอย่างดี และเข้าใจว่าการเรียนรู้แบบไหนจึงจะตอบโจทย์
“โจทย์ของพะเยาคือ แรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะช่วงโควิดที่คนตกงานทยอยกลับบ้าน เขาต้องได้รับการฟื้นฟูทักษะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
นางสาวศิริพร เสนอว่า บันไดขั้นแรกสำหรับการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ คือ รัฐกับประชาชนต้องไว้ใจกัน รัฐต้องวางใจว่าประชาชนมีศักยภาพพอที่จะจัดการตนเอง มีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และเป็นพื้นที่ให้คนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง
การเรียนรู้จะต้องโอบรับและยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบาง เพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องการรายได้ระหว่างเรียน หรือต่อให้ต้องออกจากการเรียนกลางคัน ก็หางานทำได้ยาก เพราะอายุไม่ถึงและไม่มีทักษะที่ตลาดต้องการ
“เราต้องมี learn and earn คือ การเรียนรู้ที่เด็กจะต้องได้ 3 เรื่อง ได้แก่ วุฒิการศึกษา ทักษะชีวิตกับทักษะการทำงาน และรายได้”
รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เสนอว่า สิ่งที่สำคัญในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้คือ กลไกความร่วมมือ ใช้ความรู้จากงานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยเชื่อมั่นว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการปกติที่ควรเกิดขึ้นในทุกๆ เมือง
“แต่ละเมืองก็มีกระบวนการต่างกัน เรื่องที่ยังขาดคือ local study การสร้าง local wisdom ที่แข็งแรง เพื่อทำให้เนื้อหามีพลังขึ้นมา สุดท้ายคือการนำเนื้อหาไปใช้งานจริง เช่น การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลาย บางที่เป็นมิวเซียม บางที่เป็นตลาด บางที่เป็นประเพณี”
นายพัฒนะพงษ์ อธิบายว่า เมืองแห่งการเรียนรู้คือการพยายามสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้คนทั้งสังคมมีโอกาสเข้าถึงประตูแห่งการเรียนรู้ ไม่ว่าเมืองจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ งบประมาณมากหรือน้อย ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือ แต่ละท้องถิ่นควรเป็นเจ้าของในการดูแล เพราะเป้าหมายสูงสุดคือการกระจายอำนาจทางการศึกษา
“เราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ แต่อาจมีบางอย่างปิดกั้นศักยภาพเหล่านั้นอยู่ ซึ่ง กสศ. มีหน้าที่ทำให้อุปสรรคเหล่านี้ลดน้อยลงมากที่สุด”
นายทวารัฐ กล่าวว่า OKMD เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (life long learning) และยินดีที่จะช่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องการจะพัฒนาเป็น learning city ทั้งนี้ พื้นที่แห่งการเรียนรู้สาธารณะไม่จำเป็นต้องเป็นห้องสมุดเท่านั้น เพราะผู้คนไม่ได้รับรู้ผ่านการอ่านอย่างเดียว แต่ยังสามารถรับรู้ผ่านกิจกรรมทางสังคม การพบปะพูดคุย ดนตรี หรือศิลปะ
“เราจึงต้องการพัฒนาต้นแบบพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ ทั้งเชิงกายภาพ เช่น มิวเซียมสยาม (สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ) และ TK Park (สถาบันอุทยานการเรียนรู้) หรือพื้นที่แบบออนไลน์ เพื่อให้คนเข้าไปเรียนรู้และได้รับแรงบันดาลใจ”
ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายและความใฝ่ฝันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษา บนความเชื่อมั่นว่าเมืองแห่งการเรียนรู้จะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม และก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติได้ในที่สุด