รัฐบาลจีนเผยความสำเร็จของการจัดตั้งโรงเรียนการศึกษาพิเศษที่มีคุณภาพสูง ช่วยยกระดับการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพและเพื่มอัตราการศึกษาภาคบังคับของเด็กพิการทั่วประเทศ ภายใต้นโยบาย“คุ้มครองอย่างเต็มที่และการปฏิเสธเข้าเรียนต้องเป็นศูนย์”
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า โรงเรียนการศึกษาพิเศษเพื่อเด็กผู้พิการและทุพพลภาพกลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจบนโลกออนไลน์ของจีนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่คลิปวีดีโอสั้น ๆ ของ จาง ฮุ่ยหยู เด็กสาวชาวจีนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถท่องบทสวด “Ode to the Yellow River” ในท่วงทำนองที่น่าหลงใหล ชวนให้หลายฝ่ายทึ่งในความสามารถของสาวน้อยจางที่สามารถสามารถอ่านและจดจำบทสวดความยาวนี้ได้
จาง ฮุ่ยหยู วัย 16 ปี คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 1 ของโรงเรียนการศึกษาพิเศษ Tianshui เมืองเทียนชุย (Tianshui) ในมณฑลกานซู่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยจางต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการเรียนรู้เนื่องจากปัญหาต้อกระจกที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ต้องทุกข์ทรมานจากการมองแทบไม่ค่อยเห็นเท่านั้น แต่ยังทำให้เจ้าตัวขาดโอกาสทางการศึกษาที่เด็กคนหนึ่งควรได้รับ
ด้านคุณปู่คุณย่าของจาง ฮุ่ยหยู กล่าวว่า แต่แรกพวกเขาไม่มีความรู้ และไม่ทราบเลยว่ามีโรงเรียนพิเศษเพื่อเด็กตาบอดอยู่ จนกระทั่งทางสมาพันธ์เพื่อผู้พิการแห่งเมืองเทียนชุยติดต่อไป ซึ่งหลังจากทำความรู้จักโรงเรียน คุณปู่กับคุณย่าของจาง ฮุ่ยหยู ก็ตัดสินใจส่งจางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนพิเศษดังกล่าวทันที
ด้านจางกล่าวว่า รู้สึกดีที่ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนแห่งนี้ โดยเล่าย้อนถึงตอนที่เรียนอยู่โรงเรียนประถมศึกษาทั่วไป เจ้าตัวมีปัญหากับการเรียน เนื่องจากไม่สามารถอ่านเอกสารที่ทางโรงเรียนให้มาได้ ยิ่งในช่วงสอบก็ยิ่งเป็นปัญหา เพราะอ่านโจทย์ได้ไม่ชัดเจน แต่ก็ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้
“แต่เมื่อฉันได้มีโอกาสมาเรียนที่โรงเรียนการศึกษาพิเศษ การเรียนก็ไม่ใช่เรื่องที่ทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป นอกจากรู้สึกสนุกกับการเรียนแล้ว ฉันยังได้พบครูที่ตาบอดสนิทคนหนึ่ง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันทำงานหนักเพื่อที่จะได้มาเป็นครูในโรงเรียนการศึกษาพิเศษในอนาคต” จางฮุ่ยหยูกล่าว
โรงเรียนการศึกษาพิเศษแห่งเทียนชุย เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1986 ปัจจุบันให้การดูแลเด็กพิการจำนวน 430 คน และมีบทเรียนวิชาที่หลากหลายและเหมาะสมกับข้อจำกัดทางด้านร่างกายของผู้พิการแต่ละคนมากกว่า 38 บทเรียน
ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนมีแผนกสำหรับการฝึกอบรมด้านสติปัญญา ความบกพร่องทางการได้ยิน ความบกพร่องทางสายตา ตลอดจนฝึกวิชาสายอาชีพสำหรับนักเรียนผู้พิการในรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อให้สามารถต่อยอดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคตข้างหน้า นักเรียนยังได้เรียนรู้ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และความรู้พื้นฐานด้านภาษาและคณิตศาสตร์ คู่ขนานไปกับการฝึกอบรมด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายด้วย
สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หลังจากสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี นักเรียนกลุ่มนี้ยังสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมสายอาชีวศึกษา และจากนั้นทำการสอบเข้าวิทยาลัยระดับชาติ หรือ การสอบ “เกาเกา” พิเศษสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินโดยเฉพาะ
ขณะเดียวกัน สำหรับนักเรียนในแผนกความบกพร่องทางสายตา หลังจากได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี พวกเขาจะได้ไปโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายหรือหลอมรวมเข้ากับสังคมด้วยทักษะทางวิชาชีพที่ตนได้รับการฝึกอบรมมา
สำหรับนักเรียนพิการ 61 คนที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ โรงเรียนการศึกษาพิเศษเทียนชุย (Tianshui Special Education School) ได้ให้การศึกษาแบบตัวต่อตัว โดยจัดครูให้สอนเด็กเหล่านี้ถึงที่บ้าน
นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางโรงเรียนยังได้ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ยกระดับห้องอ่านหนังสือ ห้องฝึกประสาทสัมผัสและห้องนวด นอกเหนือจากหลักสูตรพื้นฐานภาคบังคับแล้ว ทางโรงเรียนยังได้สร้างชมรมต่างๆ อีกมากมาย เพื่อเป็นกิจกรรมทางเลือกให้กับนักเรียนผู้พิการ เช่น บาสเก็ตบอล ไทเก็ก และหมากรุก ช่วยให้การเรียนหนังสือที่โรงเรียนเป็นเรื่องที่มีความสุข
ตง อู่หยาน (Dong Wuyan) ผู้อำนวยการโรงเรียนการศึกษาพิเศษเทียนชุยเปิดเผยว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา นักเรียน 57 คนจากโรงเรียนมัธยมอาชีวศึกษาของโรงเรียนพิเศษเทียนชุย สามารถเข้าร่วมการสอบใน ‘gaokao’ หรือ “เกาเกา” พิเศษ ซึ่งในจำนวนนี้ ราว 34 คนได้รับการตอบรับเข้าเรียนในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเมืองเทียนชุย
ทั้งนี้ กฎระเบียบด้านการศึกษาสำหรับคนพิการของจีนกำหนดให้เข้าถึงการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีสำหรับเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นที่มีความทุพพลภาพทุกคน โรงเรียนไม่สามารถปฏิเสธการเข้าเรียนของเด็กกลุ่มนี้ และหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เดินหน้าปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กฎเหล่านี้เข้าใจได้ง่ายขึ้น มุ่งการคุ้มครองเต็มรูปแบบและการปฏิเสธเข้าเรียนเป็นศูนย์ “full coverage and zero rejection”
เฉิน เจียนหลิง ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาเทศบาลเมืองเทียนชุยกล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2016 – 2020 ทางท้องถิ่นได้ดำเนินการตามแผนยกระดับการศึกษาพิเศษ โดยจัดตั้งโรงเรียนการศึกษาพิเศษในทุกมณฑลและทุกเขตที่มีประชากรมากกว่า 300,000 คน
ผลลัพธ์ข้างต้น ทำให้ภายในสิ้นปี 2020 อัตราการลงทะเบียนการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่มีความพิการในจังหวัดกานซู่ถึง 96.81% และมีโรงเรียนการศึกษาพิเศษ 44 แห่งสำหรับการศึกษาภาคบังคับ
ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการจีนพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาที่มีความต้องการพิเศษ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการลงทะเบียนสำหรับผู้เยาว์วัยเรียนที่มีความทุพพลภาพในการศึกษาภาคบังคับให้ถึง 97% ภายในปี 2025
ที่มา : Across China: Special education brightens life of children with disabilities