โลกเปลี่ยน การศึกษาต้องไปไกลกว่า ‘Active Learning’
กสศ. ชวนครูปลูก เด็กปรับ แลกเปลี่ยนเพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้แห่งศตวรรษ 21 สู่ปีที่สาม

โลกเปลี่ยน การศึกษาต้องไปไกลกว่า ‘Active Learning’

‘ครูแกนนํา’ และ ‘นักจัดการเรียนรู้’ คือกุญแจสำคัญที่จะกรุยทางให้กับแนวทาง Active Learning และความเสมอภาคทางการศึกษานั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อครูปลูก เด็กปรับ และเครือข่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนต้นแบบจาก 10 จังหวัด  ชวนถอดบทเรียนที่น่าสนใจจาก ‘โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ’ ที่จะเตรียมทักษะของผู้เรียนให้พร้อมรับมือกับโลกยุคใหม่ล่าสุด ด้วยรูปแบบการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเปิดกว้างทั้งในเรื่องพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่จำกัดแค่เฉพาะในห้องเรียน และการสร้างวิธีจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายยิ่งขึ้น ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

แล้วการเรียนรู้เชิงรุก หรือที่เราคุ้นหูกันดีว่าคือ ‘Active Learning’ นั้นหมายความว่าอย่างไรกันแน่ ?

Active Learning : การศึกษาที่เปลี่ยนแปลงชีวิตนักเรียนได้จริง

การเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning เป็นทักษะสำคัญในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งยกระดับการถ่ายทอดความรู้จากครูถึงศิษย์ด้วยการ ‘สื่อสารทางเดียว’ หรือส่งต่อความรู้จากผู้สอนถึงผู้เรียนแบบเดิมไปสู่การกระตุ้นให้ ‘นักเรียนเป็นศูนย์กลาง’ ผ่านการร่วมออกแบบวิธีการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายปลายทาง นั่นคือ การสร้างสรรค์องค์ความรู้และทักษะเฉพาะที่งอกเงยจากภายในตัวของผู้เรียนเอง

ห้องเรียน Active Learning สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินโครงการมาถึงปีที่สาม โดยเรามีครูและนักจัดการเรียนรู้มากกว่า 400 คนจากทั่วประเทศเข้าร่วม พร้อมศึกษานิเทศก์และนักวิจัยโครงการที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับครูในโรงเรียนต่าง ๆ จนสามารถขับเคลื่อนให้เกิดห้องเรียน Active Learning ที่มีการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ กระจายไปในทุกภูมิภาคของประเทศ และเพื่อให้โรงเรียนต้นแบบนำการเรียนการสอนไปใช้ได้จริง

เราจึงเน้นย้ำให้มีการสรุปทบทวนแลกเปลี่ยน และที่ไม่อาจละเลยได้เลย คือการเติมเต็มประสบการณ์ระหว่างคณะทำงาน เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ สพป. น่านเขต 1 โรงเรียนบ้านน้ำพาง, สพป. ยโสธรเขต 1 โรงเรียนบ้านคุ้ม, สพป. สุรินทร์เขต 1 โรงเรียนบ้านตาเปาว์, สพป. พิจิตรเขต 2 โรงเรียนวัดวังเรือน, สพป. กาญจนบุรีเขต 2 โรงเรียนบ้านโคราช, สพป. ตรังเขต 1 โรงเรียนอนุบาลตรัง, สพป. เชียงรายเขต 1 โรงเรียนเวียงเชียงรุ้งวิทยา, สพป. พะเยาเขต 2 โรงเรียนบ้านดู่, สพป. นครศรีธรรมราชเขต 1 โรงเรียนบ้านบางกระบือ และ ศธจ. สุราษฎร์ธานี โรงเรียนบ้านน้ำราด

สำหรับห้องเรียน Active Learning ในโครงการพัฒนาทักษะการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีทั้งสิ้น 8 หลักสูตรด้วยกัน ได้แก่ หลักสูตรโครงการนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก, หลักสูตรการจัดการเรียนรู้อิงสมรรถนะผู้เรียน, หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิดโดยใช้บ้านแทนห้องเรียน, หลักสูตรการออกแบบบอร์ดเกมสำหรับห้องเรียน Active Learning, หลักสูตรจิตศึกษากับการพัฒนาสมองส่วนหน้า, หลักสูตรจิตศึกษากับการพัฒนาหลักการจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อการเสริมสร้างอุปนิสัยผู้เรียน, หลักสูตรทักษะการตั้งคำถามเพื่อเสริมสร้างการคิดเชิงเหตุผล และหลักสูตรการเขียนเพื่อพัฒนาการคิดในห้องเรียน ซึ่งครูผู้สนใจสามารถเลือกนำหลักสูตรเหล่านี้ไปใช้จัดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ตามความเหมาะสม โดยจะมีโค้ชของโครงการคอยเป็นที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนให้การออกแบบการเรียนรู้สามารถบรรลุผลตามหลักสูตรได้

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในทุกด้าน ภาพสะท้อนที่สำคัญคือ สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการจัดการเรียนรู้หรือรูปแบบการศึกษา และวันนี้ ‘ครู’ ไม่ได้มีหน้าที่นำความรู้มาถ่ายทอดให้ศิษย์อีกต่อไป แต่จะต้องเป็นผู้อำนวยการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะกลุ่ม ทั้งนี้ ประสบการณ์การทำงานของ กสศ. พบว่าการจัดการเรียนรู้ที่เท่าทันโลกปัจจุบัน ต้องมีความหลากหลาย ครอบคลุมการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ที่อยู่ตรงช่องว่างของระบบการศึกษาด้วย

“การขับเคลื่อนห้องเรียน Active Learning ครั้งนี้จึงเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ซึ่งครูแกนนำและเขตพื้นที่การศึกษาได้นำหลักสูตรต้นแบบไปใช้แล้วระยะเวลาหนึ่ง จึงนำผลปฏิบัติการกลับมาถ่ายทอดให้เครือข่ายรับฟัง ร่วมกันระดมความคิด ก่อนที่จะตกผลึกแนวทางและนำไปขยายผล ทั้งในโรงเรียนอื่น ๆ หรือโรงเรียนในพื้นที่ต้นแบบ และระหว่างภูมิภาค โดยปรับวิธีการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ข้อจำกัด และบริบทของแต่ละพื้นที่”

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ.

ดร.อุดม ชี้ประเด็นที่สำคัญว่า โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เข้าสู่ปีที่สามในปีนี้ แม้ว่าจะเป็นโครงการที่เริ่มต้นจากกลุ่มเป้าหมายและทีมงานขนาดเล็ก แต่ด้วยความร่วมมือและการบริหารจัดการที่มีแนวทางชัดเจน จึงทำให้การขยายผลในพื้นที่ต้นแบบไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงโรงเรียนหรือกลุ่มสาระวิชาใดวิชาหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดการส่งต่อวิธีคิด เครื่องมือ และการจัดการการเรียนการสอนที่ประสบผลสำเร็จไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนและเติมเต็มให้นำกลับไปทดลองใช้จริง แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนเพื่อถอดบทเรียนร่วมกันเป็นระยะ ๆ 

อีกทั้ง กสศ. ยังพยายามเชื่อมต่อการทำงานกับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาที่สนใจขับเคลื่อนห้องเรียน Active Learning เพื่อความยั่งยืนของโครงการ ตลอดจนนำไปสู่กระบวนการผลิตและพัฒนา ‘ครูต้นแบบ’ ที่จะกลับไปช่วยสร้างและหล่อหลอมเด็ก ๆ อีกหลายต่อหลายรุ่นในอนาคต

“หลังโควิด-19 มีคำถามมากมายเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องติดตามดูว่าแวดวงการศึกษาจะขยับต่อไปอย่างไรโดยเฉพาะทิศทางที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงหนึ่งบอกเราว่า วันนี้ความหมายของคำว่า ‘ครู’ กว้างขึ้นกว่าเดิม พื้นที่ในการทำงานเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนหนึ่งหรือในรั้วโรงเรียนต่อไปอีกแล้วก็เช่นกัน ครูสมัยใหม่ต้องทำงานกับเครือข่ายเพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้เชิงรุก และแม้ว่าจังหวะหรือความพร้อมของแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน แต่การจับมือทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย จะทำให้ทุกโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงคณะทำงานได้มีโอกาสมาเจอกันตรงกลาง ได้แลกเปลี่ยนรูปแบบแนวทางและวิธีคิด เพื่อให้สามารถปรับใช้ได้ตรงตามบริบท และต้องปรับปรุงเติมเต็มตลอดเวลา การจัดการเรียนรู้ของครูจึงจะเท่าทันกับทุกความผันผวนเปลี่ยนแปลงในสังคม”

รศ.ดร.เกตุมณี มากมี ที่ปรึกษาโครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

รศ.ดร.เกตุมณี มากมี ที่ปรึกษาโครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า การประเมินว่างานของครูก้าวหน้าไปแค่ไหน ต้องมุ่งเป้าไปที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน จากนั้นศึกษานิเทศก์จะเป็นผู้สะท้อนว่าครูต้องเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรจึงส่งผลต่อตัวนักเรียน โดยผลสัมฤทธิ์ที่กล่าวถึง ไม่ได้หมายถึงคะแนนการอ่านการเขียน หรือการทำข้อสอบที่มีเกณฑ์ชี้วัดเกณฑ์เดียวกันหมด 

“ทุกท่านต้องทราบว่าผู้เรียนแต่ละคนมีต้นทุนไม่เท่ากัน มีเส้นทางไม่เหมือนกัน ปลายทางของงานจัดการศึกษาจึงไม่ใช่เพื่อให้ผู้เรียนสอบได้คะแนนสูง ๆ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือบรรยากาศการเรียนรู้ที่ครูสร้างขึ้น แล้วทีนี้เราจะดูผลลัพธ์ของความเปลี่ยนแปลงนี้จากอะไรได้บ้าง นี่เป็นที่มาของการจัดการพบปะของเครือข่าย เพื่อให้ครู ศึกษานิเทศก์หรือผู้บริหารโรงเรียนมาเล่าสู่กันฟังถึงการทำงานที่จะเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน” 

‘หลักสูตร’ เป็นเพียงเครื่องมือตั้งต้นในการพัฒนา ขณะที่การถอดบทเรียนความสำเร็จหรือข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงโรงเรียนให้เป็น ‘องค์กรแห่งการเรียนรู้’ คือสิ่งที่สมควรถูกขีดเส้นใต้ไว้ชัดเจน

รศ.ดร.เกตุมณี เสริมอีกว่า โรงเรียนต้นแบบหลายแห่งได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อครูขยับการทำงาน มีผู้บริหารคอยสนับสนุน และมีศึกษานิเทศก์และคณะทำงานโครงการฯ เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ การพัฒนาก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แม้อาจไม่เป็นไปตามความสวยงามของหลักสูตรต้นทาง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือเนื้อในของรูปแบบการจัดการการศึกษาที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของนักเรียนได้

ทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่ออกแบบตามสังคมและตัดเย็บอย่างเข้าใจ

สิ่งที่เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนต้นแบบนำมาถ่ายทอด ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการเรียนรู้และปฏิบัติงานของครู เราพบวิธีการเรียนรู้ที่สร้างพลัง สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ การทดลอง ความคิดเชิงนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง 

หากจุดที่น่าสนใจคือ หลักสูตรการพัฒนาทักษะการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทั้งหมดล้วนมีต้นทางมาจากต่างประเทศ แต่เมื่อนำมาปรับใช้กับบริบทสังคมไทย หลักสูตรเหล่านี้มีพลังในการสร้างชุมชนการเรียนรู้จากภายในโรงเรียนที่ไม่หยุดอยู่กับข้อจำกัด 

เราเห็นโรงเรียนในแต่ละเขตมีแนวทางที่ประสบความสำเร็จใหม่ ๆ ที่พร้อมถ่ายทอดออกไปในระดับพื้นที่ ระดับภูมิภาค จนกลายเป็นทักษะการจัดการเรียนรู้ที่กว้าง ลึก ไม่ติดอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง 

แน่นอนว่าผลลัพธ์เชิงประจักษ์ คือสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในชั้นเรียน ทั้ง Output ณ ขณะนั้น ไปจนถึงการสั่งสมองค์ความรู้ภายในจนกลายเป็น Outcome ที่บ่งบอกว่า เราไม่สามารถลงมือทำเพียงครั้งเดียวเพื่อหวังผลไปถึงตัวชี้วัดสุดท้ายได้ เช่น ครูต้องสอนเด็กลากเส้นตรง เส้นโค้ง เส้นเฉียง กว่าจะขึ้นรูปเป็นตัวอักษร 

เหล่านี้ไม่ได้จบภายในชั่วโมงเดียว

แต่ละชั่วโมงที่เคลื่อนผ่าน คือการพาผู้เรียนไปถึงจุดประสงค์นำทางของการจัดการเรียนการสอนแต่ละครั้ง สั่งสมจนไปถึงตัวชี้วัดซึ่งเป็นปลายทางสุดท้าย นั่นคือเด็กเขียนตัวอักษรได้จากกระบวนการเรียนรู้ที่สะสมไว้ภายใน

“โครงการนี้คือการสร้างเครือข่ายการจัดการเรียนรู้เพื่อยกระดับแก่นวิชาชีพครู ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ ทั้งกับครูและเด็ก ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด ไม่ลงมือปฏิบัติให้ต่างไปจากวิถีเดิมที่คุ้นชิน 

เพราะเราต้องการห้องเรียนตัวอย่างที่ไม่ได้ยึดเพียงหลักสูตรของตัวเอง แต่ต้องมีการแลกเปลี่ยน แนะนำ ส่งผ่าน นำต้นแบบที่เห็นว่าน่าสนใจกลับไปใช้ ไปทดลองทำ แล้วกลับมาถอดบทเรียนร่วมกัน 

เมื่อนั้นเราจะมีนวัตกรรมการจัดการการเรียนรู้ที่หลากหลาย ครอบคลุมความแตกต่างทางบริบทพื้นที่ และบทเรียนทั้งหมดจะเป็นต้นทางของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับเด็กทุกคน 

ไม่ว่าเขาจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม”