เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุม ‘สานพลังเครือข่ายโครงการส่องทางทุน กสศ. x แหล่งทุนการศึกษา’ เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนการทำงาน แบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีทุนในการสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย
สำหรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้เปิดรับโอกาสระดมความร่วมมือกับทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด All For Education ตามกรอบพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้กองทุนสามารถระดมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพครู ซึ่งทำให้ในปี 2565 เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคม 153 องค์กร รวมถึงประชาชนทั่วประเทศกว่า 87,698 คน รวมยอดเงินบริจาคกว่า 222 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นรวม 108,055 คน จาก 17,432 โรงเรียน
ทั้งนี้ เพื่อให้ภารกิจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนในระยะยาว กสศ. จึงจัดประชุมสานพลังเครือข่ายโครงการส่องทางทุนร่วมกับแหล่งทุนการศึกษาในครั้งนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานและสร้างความร่วมมือกันในระยะต่อไป
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า งานสำคัญของ กสศ. นอกเหนือจากการช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาแล้ว ก็คือการสร้างความเสมอภาคทางการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายการทำงานร่วมกัน สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบนิเวศทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้มีทักษะชีวิต และ Multi-skill อย่างที่ทราบดีว่าการพัฒนาคนไม่ได้หยุดอยู่เพียงในระบบการศึกษาหรือโรงเรียนเท่านั้น แต่เด็กและเยาวชนต้องได้รับการพัฒนาไปตลอดชีวิตเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่ทุกฝ่ายควรช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคต คือการสร้างโอกาสให้เด็กที่อยากเรียนมีโอกาสที่จะไปได้สุดทางที่พวกเขาต้องการ ทั้งสามารถเรียนในระบบเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการทำงาน มีความสามารถในการแข่งขัน สามารถพาตัวเองเข้าไปสู่เส้นทางการมีงานทำ สามารถเป็นผู้ประกอบการที่เลี้ยงดูตัวเองได้ และสามารถเรียนเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต
“นี่เป็นสิ่งที่ กสศ. กำลังมองหาเครือข่ายการทำงานร่วมกันในการช่วยน้อง ๆ เยาวชน ให้มีอาชีพและมีรายได้ผ่านแนวทางต่าง ๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่ยืดหยุ่นทางการศึกษา สามารถมีอาชีพควบคู่ไปกับการเรียนนอกโรงเรียน ทุนที่เรากำลังมองหาให้พวกเขาไม่ใช่แค่เงินที่จ่ายค่าเทอมหรือค่าครองชีพอย่างเดียว แต่หมายถึงทุนที่เป็นทุนชีวิตที่ช่วยให้เขาสามารถริเริ่มการประกอบอาชีพ จนสามารถออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้ นี่เป็นเป้าหมายที่เราอยากไปให้ถึงให้ได้”
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้เผชิญอุปสรรคมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งพบความเสี่ยงที่เด็กยากจนกว่า 1.9 ล้านคน เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา และยังส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) ขณะเดียวกันยังพบว่าจำนวนเด็กยากจนสะสมเพิ่มขึ้นราว 3 แสนคนในช่วง 3 ปีหลัง เพราะรายได้ต่อครัวเรือนลดลง
“เราพบว่ามีเด็ก ๆ ยากจน หลุดจากระบบการการศึกษาช่วงมัธยมต้นและมัธยมปลายมากขึ้น การป้องกันไม่ให้พวกเขาหลุดออกจากระบบการศึกษา ทุนสนับสนุนต้องสามารถดูแลพวกเขาในหลายมิติ เช่น สนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ครอบคลุม การพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่นักเรียน สนับสนุนค่าอาหารเช้าและทำงานร่วมกับโรงเรียน สื่อสารให้ความรู้ด้านโภชนาการที่ดีให้กับครอบครัว และการช่วยเหลือ”
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กว่าอีกว่า สิ่งที่อยากเชิญชวนภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกันสร้างและทำให้เกิดขึ้นร่วมกัน ก็คือการสร้างทางช้างเผือกทางการศึกษาด้วยแนวคิด All For Education วางเป้าหมายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกันในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างอนาคตให้เด็กและเยาวชน โดย กสศ. กำลังชวนทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมกันกระจายทรัพยากรทางการศึกษาให้ตรงจุด ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลช่วยแก้ปัญหารายบุคคล ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดเเคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคนของ กสศ. ที่สามารถช่วยชี้เป้าการช่วยเหลือที่แม่นยำ ตอบโจทย์ตามความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมายให้แก่บริษัทเอกชน และประชาชนที่ร่วมบริจาคกับ กสศ.อย่างต่อเนื่อง
“เรามีระบบติดตามเลข 13 หลักที่ตามไปดูน้อง ๆ ในการศึกษาภาคบังคับแต่ละช่วง แล้วช่วยส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เราก็ยังเป็นห่วงผู้ที่มีรายได้น้อยซึ่งยังไปไม่ถึงฝั่งฝันของการศึกษาเท่าที่เขาต้องการ เราจึงกำลังมองหาทุนการศึกษาที่ไม่ทำให้เขาเป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน และสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันว่าการผลักดันให้พวกเขามีการศึกษาในระดับที่เขาตั้งใจจะสามารถช่วยประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ในที่สุด” ดร.ไกรยส กล่าว
ด้าน ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า หัวหน้าทีมวิจัยผู้พัฒนาระบบ iSEE จากมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ระบบ iSEE คือเครื่องมือสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินว่าสถานการณ์ปัญหาของระบบการศึกษาทั้งประเทศและรายพื้นที่ ที่มาจากการเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและครอบครัวกับฐานข้อมูลจาก 6 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงงาน และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ทำให้มีข้อมูลเชิงลึกที่มาจากการสำรวจตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล โรงเรียน จนถึงรายบุคคล เพื่อช่วยติดตามสถานการณ์การศึกษา อัตราการมาเรียน และทราบข้อมูลสำคัญ เช่น สถิตินักเรียน การจัดกลุ่มอาทิ นักเรียนด้อยโอกาส พิการ ข้อมูลครูและบุคลากร แผนที่โรงเรียนในประเทศไทย รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน จำนวนนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มยากจนพิเศษ สถานการณ์ของโรงเรียนขนาดเล็กว่ามีทรัพยากรสำหรับดูแลด้านการศึกษาอะไรบ้าง ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในอนาคต และเพื่อให้ภาคี หรือภาคส่วนต่าง ๆ สามารถนำไปออกแบบความช่วยเหลือตามความจำเป็นตรงกับรูปแบบของปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับเด็กในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย
“ระบบที่จัดทำขึ้นสามารถช่วยให้ภาคเอกชน กองทุน และองค์กรต่าง ๆ นำไปพิจารณาเป้าหมายความช่วยเหลือของทุนได้อย่างครบถ้วนในทุกมิติ รวมถึงสนับสนุนงานวิจัย สตาร์ตอัป ผู้ประกอบการทางสังคม ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแนวทางลดลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ พร้อมทั้งสามารถนำข้อมูลกลับไปรายงานจำนวนเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือ เด็กที่จบการศึกษา รวมถึงเด็กที่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการดูแลด้านการศึกษาอย่างเหมาะสมแล้วว่ามีจำนวนเท่าใด” ดร.วรลักษณ์ กล่าว
ขณะที่ รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กรตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางที่ กสศ. กำลังดำเนินการนั้นตอบโจทย์ความต้องการของตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ต้องการบริจาคแค่เงินแล้วจบ แต่ต้องการแนวทางอื่น ๆ ในการดูแลเด็กอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะระบบติดตามดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และพัฒนาแนวทางในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ตรงจุดได้
สอดคล้องกับ ราม ป้อมทอง เลขานุการมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ประเทศทั่วโลกใช้วัดศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการวัดในเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องรวมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเชื่อมั่นว่าการช่วยเหลือเด็กที่ยังขาดโอกาส นอกจากสนับสนุนด้านทุนแล้ว ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทำให้เด็กกลุ่มนี้เดินเข้าสู่โอกาสในการทำงาน มีอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว รวมถึงได้รับการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินให้สามารถวางแผนจัดการชีวิตได้
กนกวรรณ โชว์ศรี ผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังสร้างสังคมดี มูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า แนวทางที่ กสศ. ใช้ทำงานทำให้เชื่อมั่นว่า การพัฒนาการศึกษาให้ตอบโจทย์ปัญหาที่ครอบคลุมความเหลื่อมล้ำ จะต้องวางแผนอย่างรอบด้านให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง และหาทางออกให้กับชีวิตของเด็กกลุ่มที่มองไม่เห็นอนาคตของตัวเองได้ ซึ่งขอบเขตการทำงานเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือและสรรพกำลังและทุนจากหลายฝ่าย มาร่วมกันทำงานอย่างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันและส่งผลต่อตัวเด็กให้มากที่สุด
อมรรัตน์ แซ่โค้ว Head of Education Service Center บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การเข้าถึงเด็กกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะทำให้ทราบแนวทางในการช่วยเหลือที่สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งยืนขึ้นได้ด้วยตัวเองอย่างมั่นคงที่สุด และทำให้ทราบว่าต้องปรับวิธีการดูแลพวกเขาให้เท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา รวมถึงหาแนวทางช่วยประคับประคองให้พวกเขาอยู่ในระบบการศึกษาและจบออกไปประกอบอาชีพตามที่วาดหวังไว้ได้ นอกจากนี้แนวทางที่ กสศ. ได้ศึกษาไว้ ทำให้ทราบว่า ชุมชนคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่สามารถช่วยให้เด็ก ๆ ในกลุ่มเปราะบาง มีงานทำและมีอาชีพที่มั่นคงสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จีรศักดิ์ กาสรศิริ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาภาคีเครือข่าย สำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า กสศ. กำลังดำเนินโครงการส่องทางทุนเพื่อรวบรวมแหล่งทุนต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากทุนของ กสศ. ปัจจุบันสามารถรวบรวมได้แล้ว 163 แหล่งทุน ครอบคุลมประเภททุนการศึกษาจํานวน 521 ทุนการศึกษา โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองและครูที่กำลังมองหาแหล่งทุนเพื่อช่วยเหลือดูแลเด็ก อย่างไรก็ตามหาก กสศ. สามารถระดมทุนได้เพิ่มเติมก็จะสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น