เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) ได้พิจารณารับทราบรายงานประจำปี 2564 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมี ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นผู้ชี้แจงพร้อมคณะผู้บริหาร กสศ.
นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา วุฒิสภา กล่าวว่า การทำงานของ กสศ. ที่ทดลองเหนี่ยวนำความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบถือว่าทำได้ดี ค้นหาวิธีการส่งเสริมการศึกษาในโครงการที่มีขนาดใหญ่ หากยึดเป็นหลักทำงานในปีถัดไปจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและวิถีชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างฐานดำเนินงานร่วมกับภาคีปฏิรูปการศึกษาทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพราะความสำเร็จของ กสศ. ไม่ได้เป็นเพราะว่าได้เงินทุนจำนวนมากจากรัฐบาล แต่หมายถึงการดึงความร่วมมือจากผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม ปีที่ผ่านมาเป็น ‘ปีแห่งความร่วมมือ’ ที่มี 16 องค์กรและมูลนิธิรวมกันเป็นเครือข่ายการทำงานที่ก้าวหน้าจากปีก่อน ๆ อย่างไรก็ตาม ภาคีต้องขยายขนาดขึ้น เพราะโลกใบใหม่ของเด็กเยาวชนไม่เหมือนเดิม จึงจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนเข้ามาสนับสนุนช่วยสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ๆ
“ข้อเสนอแนะคือ เราจำเป็นต้องพูดถึงงบประมาณการทำวิจัยและนวัตกรรมในอนาคต โดยปี 2564 มีตัวเลข 287 ล้านบาท คำถามคือเป็นงบประมาณในการวิจัยพัฒนาระบบเพื่อยกระดับข้อมูลสำหรับการศึกษา ที่พอสำหรับเด็กเยาวชนยากจนและคนยากไร้ในการพัฒนาตนเองได้หรือไม่ เพราะการลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนต้องผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายทำมาหากินได้ กสศ. จะต้องเป็นแกนหลักในการชักชวนภาคีเข้ามาช่วยให้เด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไปได้พึ่งพาตนเอง อีกประการคือในโลกใบใหม่ เด็กเยาวชนไม่ได้มุ่งเป้าที่ใบปริญญาอีกต่อไป การศึกษาทางเลือกจึงควรเป็นแก่นใหญ่ของการศึกษาเพื่ออนาคต ประการสำคัญคือ กสศ. ต้องนำคนเหล่านี้ออกมาพัฒนาศักยภาพและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” นายตวง กล่าว
นายฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การดำเนินงานย่างเข้าปีที่ 5 ของ กสศ. ได้มุ่งสู่เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการศึกษาให้ขยายวงกว้างออกไป ขอแสดงความชื่นชมว่าทุกโครงการที่ กสศ. สนับสนุนมีความสำคัญและแก้ไขปัญหาได้ดี อาทิ การสร้างสถาบันต้นแบบผลิตและพัฒนาครูผ่านโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ซึ่งขยายวงกว้างไปยังสถาบัน 553 แห่ง กระจายทั่วประเทศใน 53 จังหวัด รายงานชี้ให้เห็นชัดเจนว่าด้วยงบประมาณจำกัดในปี 2564 ผลงานของ กสศ. ถือว่าเกินคุ้มจากทุนตั้งต้น ด้วยการออกแบบเครื่องมือที่สนับสนุนการบูรณาการข้อมูลเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยแสดงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจน และสามารถนำไปต่อยอดทำงานบูรณาการร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้นำไปทดลองใช้ในพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาในปี 2565 มาแล้ว ขอเป็นกำลังใจและอยากให้ กสศ. ทำผลงานให้ดีต่อเนื่องไป
ศ.นิสดารก์ เวชยานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า บทบาทของ กสศ. คือการเป็น ‘ตัวเร่ง’ (Catalyst) ในการกระตุ้นการทำงานของภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อลดการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม มีคำถามถึง กสศ. เกี่ยวกับการทำงานฟื้นฟูการศึกษาจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า เมื่อนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้แล้ว จะดำเนินการต่ออย่างไรให้ได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจะถือว่าเป็นการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่า ดังนั้น กสศ. ต้องผลักดันด้านนโยบายให้สำเร็จ เพื่อให้งบลงทุนของประเทศถูกนำไปใช้ในบริบทที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับบทบาทของ กสศ. ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ว่าจะทำงานกับเด็กและเยาวชนอย่างไร และประเด็น All for Education กสศ. จะผลักดันอย่างไรให้หน่วยงานทุกภาคส่วนตระหนักว่าเป็นหน้าที่ในการทำงานด้านการศึกษา หรือเปิดพื้นที่ให้ผู้ปกครองเข้าไปมีส่วนร่วมกับการศึกษามากขึ้น เพราะการศึกษาไม่สามารถทำเพียงคนเดียวได้
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า จากเนื้อหารายงานประจำปีของ กสศ. ถือว่าน่าพอใจ ด้วยการทำงานภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด แต่ถ้ามองที่โจทย์ของการปฏิรูปวงการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำ ถือว่ายังมี ‘GAP’ หรือช่องว่างอยู่พอควร ดังนั้นแม้ กสศ. จะทำงานได้ดี ก็ยังต้องบอกว่าขอให้อดทนทำงานอย่างหนักต่อไป เพื่อประเทศจะได้มีเด็กเยาวชนอย่างน้อยที่สุดในกลุ่มยากจนพิเศษ ได้มีโอกาส มีความหวังในชีวิต และได้พัฒนาตนเองเพื่อไม่เป็นภาระต่อสังคม ไม่ต้องพึ่งพารัฐ โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ดังนั้นถ้า กสศ. ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคีเครือข่าย ผลระยะยาวที่คาดการณ์ตามงานวิชาการ คือเงินหนึ่งบาทที่ลงทุนจะได้ผลตอบแทนอย่างน้อย 7-8 บาท ตลอดช่วงชีวิตการทำงานของกลุ่มเป้าหมาย ผลดังกล่าวนี้จะทำให้รัฐบาลลดงบประมาณการประชาสงเคราะห์ลงได้ เพราะคนยากจนจะลดจำนวนลงด้วยโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาตนเอง
“สมาชิกวุฒิสภาได้มีข้อเรียกร้องสองส่วนถึงรัฐบาลและสำนักงบประมาณ และเรียกร้องต่อ กสศ. จากการที่มีตัวเลขผู้บริจาคในปี 64 เพิ่มขึ้น 100% คือ 40 ล้านบาทเป็นเรื่องสมควรชื่นชม กสศ. และให้กำลังใจต่อไป อย่างไรก็ตามเงินจำนวนนี้ยังน้อยเกินไปเมื่อมองในขอบเขตการทำงานกับเด็ก 4 ล้านคน ในส่วนแรกจึงขอเรียกร้องให้จัดสรรงบกองทุนรายปีจำนวน 5% ของงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด หรืองบ 100 บาทที่ใช้อยู่ทุกปี คือจาก 5 แสนล้านบาท เราต้องการเพียง 5 บาท หรือ 25,000 ล้านบาท เพื่อทำให้เด็ก 4 ล้านคนมีโอกาสในชีวิต เป็นคนไทยที่มีคุณภาพ ส่วนข้อเรียกร้องที่สอง กสศ. จำเป็นต้องหานวัตกรรมเพิ่มเติมไม่หยุดยั้ง ในการทำให้ทรัพยากรเพียงพอช่วยเด็กยากจนพิเศษและเด็กยากจนธรรมดามากขึ้น” ผศ.นพ.เฉลิมชัยกล่าว
นายเฉลา พวงมาลัย สมาชิกวุฒิสภา เสนอให้รัฐบาลสนับสนุน กสศ. ด้วยการจัดสรรงบประมาณสอดรับยุทธศาสตร์ชาติเรื่องการปฏิรูปการศึกษา โดยกล่าวว่า กสศ. เป็นหน่วยงานที่ทำงานด้วยบุคลากรจำนวนน้อยแต่มีประสิทธิภาพ มีการลงพื้นที่ติดตามโรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้ กสศ. ยังจัดกิจกรรมช่วยเหลือด้านการศึกษาและช่วยให้นักเรียนนักศึกษามีรายได้ ถือว่าทำงานได้ดีเยี่ยม แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางในการแก้ปัญหาในส่วนนี้ และกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง ต้องเชื่อมโยงข้อมูลกลุ่มเป้าหมายกว่า 4 ล้านคนให้ได้ เพราะการศึกษาลงทุนกับการศึกษาไม่ใช่เรื่องสูญเปล่า แต่จะทำให้นักเรียนมีงานทำ มีรายได้ สุดท้ายขอขอบคุณคณะทำงาน กสศ. ที่ตั้งใจทำงานอย่างจริงจังเพื่อช่วยเหลือชาติบ้านเมืองในด้านการศึกษาอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ตอบข้อซักถามต่อวุฒิสภาว่า สำหรับปีงบประมาณ 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. เสนอที่กรอบงบประมาณ 7.9 พันล้านบาท แต่ขั้นตอนต่อไปจะมีการปรับลดหรือไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ อย่างไรก็ตาม กสศ. ยังคงเหนี่ยวนำความร่วมมือทุกภาคส่วน เช่น ระดมทุนบริจาค ประสานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มาตรา 6 ว่า สามารถรับงบประมาณสนับสนุนตรงนี้ได้
โดยประเด็นที่มีคำแนะนำจากสมาชิกวุฒิสภา กสศ. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเรื่องการศึกษาทางเลือก และการวิจัยพัฒนานวัตกรรมที่มุ่งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เช่น การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันเป็นการจัดสรรเฉลี่ยรายหัว แต่ กสศ. พบว่า โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่ไม่มีโรงเรียนอื่นในรัศมี 6-10 กิโลเมตร โรงเรียนขนาดเล็ก จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนต่อเนื่อง ด้วยสูตรการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมตามบริบท โดยขณะนี้ กสศ. มีงานวิจัยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ธนาคารโลก และองค์กรที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน โดยจะรายงานความคืบหน้าต่อไป
ส่วนประเด็นการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาจากผลกระทบโควิด-19 กสศ.ทำงานเชิงรุกเพื่อป้องการการกลุดออกจากระบบ มีเครื่องมือการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ทุกมิติตามแนวคิด All for Education อันเป็นภารกิจสำคัญของ กสศ. ในการทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ เช่น การฟื้นฟูกล้ามเนื้อมือในเด็กประถมศึกษา เป็นต้น และในส่วน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะสามารถสนับสนุนการทำงานของ กสศ. ต่อไป