รัฐบาลอังกฤษพิจารณาปรับกฎระเบียบการขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ด้วยการมีคำสั่งเพิ่มข้อกำหนดไม่อนุญาตให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่สอบตกวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษยื่นเอกสารขอกู้ยืมเงินเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป โดยเน้นย้ำว่า ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้ต้องการกีดกันนักเรียนออกจากการศึกษาขั้นสูง แต่มีขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงความพร้อมของตนเองก่อนเดินหน้าเข้าศึกษาต่อในรั้วมหาวิทยาลัย
เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ข่าว CNBC รายงานอ้างอิงคำประกาศของรัฐบาลอังกฤษในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (24 กุมภาพันธ์) โดยระบุชัดว่า กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณารับรองข้อกำหนดที่ว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สอบไม่ผ่านวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ จะไม่มีสิทธิ์ยื่นเรื่องของกู้ยืมเงินเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ คำประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ทางกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวต่อทางรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า การกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำที่ต้องให้สอบผ่านทั้งสองวิชาที่นี่มีจุดประสงค์หลักให้เป็นข้อกำหนดความสามารถขั้นพื้นฐานของนักเรียน เพื่อให้มั่นใจได้ว่านักเรียนจะไม่ถูกผลักให้เข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาก่อนที่ตัวนักเรียนเองจะพร้อม
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญก็คือการควบคุมจำนวนนักเรียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้คอร์สเรียนราคาถูกคุณภาพต่ำ หรือไร้มาตรฐานผุดขึ้นจนเกิดการควบคุมของภาครัฐฯ ขณะเดียวกัน ข้อเสนอดังกล่าวยังมีขึ้นท่ามกลางข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณาทบทวนการจัดสรรงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
รายงานระบุว่า ข้อเสนอของทางการกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษก็คือการกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติขั้นต่ำไม่ให้นักเรียนในอังกฤษได้รับเงินกู้จากวิทยาลัยที่ได้รับทุนจากรัฐ หากไม่สามารถสอบระดับ 4 หรือเทียบเท่าเกรด C ในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษในการสอบวัดระดับเพื่อจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในการสอบ GCSEs
ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการยังได้มีการเสนอเกณฑ์ข้อกำหนดอื่น ๆ ในการสมัครขอกู้เงินเพื่อการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัย ด้วยการที่นักเรียนที่ประสงค์จะยื่นขอสินเชื่อต้องได้ เกรด E หรือเทียบเท่าระดับ A อย่างน้อย 2 วิชาในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยมีข้อยกเว้นบางประการ เช่น ยกเว้นสำหรับนักเรียนที่เป็นผู้ใหญ่
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ในสหราชอาณาจักร เงินกู้ยืมของวิทยาลัยเป็นเงินให้กู้ยืมจากรัฐโดยตรง ดังนั้น โดยปกติแล้วการชำระคืนจะเป็นการจ่ายตรงจากการหักจากเช็คเงินเดือนของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาหลังจากที่พวกเขาเหล่านี้มีรายได้เกินจำนวนที่กำหนด
โดยนักศึกษาที่เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก่อนเดือนกันยายนปี 2012 ที่ค่าล่าเรียนอยู่ที่ 3,465 ปอนด์ (ราว 151,558 บาท) ต่อปี ให้เริ่มชำระคืนเงินกู้เมื่อมีรายได้มากกว่า 19,895 ปอนด์ (ราว 870,205 บาท) ต่อปี ขณะที่นักศึกษาที่เริ่มเรียนหลังเดือนกันยายนปี 2012 ซึ่งค่าเล่าเรียนต่อปีเพิ่มสูงถึง 9,000 ปอนด์ (ราว 393,659 บาท) ต่อปี จะเริ่มต้นจ่ายเงินที่กู้ยืมมาเรียนได้ก็ต่อเมื่อสามารถหารายได้ได้มากกว่า 27,295 ปอนด์ (ราว 1,193,881 บาท) ต่อปี
สำหรับค่าเล่าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ในอังกฤษประจำปีการศึกษา 2022-2023 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 9,250 ปอนด์ (ราว 404,594 บาท) ต่อปี
ทั้งนี้จากฐานข้อมูลของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าในปี 2021 ที่ผ่านมา มีนักเรียนในสหราชอาณาจักรประมาณ 22% สอบไม่ผ่านเกรด 4 ในวิชาคณิตศาสตร์ ในขณะที่เกือบ 19% ไม่สามารถสอบผ่านเกรด 4 ในวิชาภาษาอังกฤษ
อย่างไรก็ตามในมุมมองของ อลิสแตร์ จาร์วิส (Alistair Jarvis) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กร Universities UK กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลอังกฤษสมควรทำมากกว่า คือการหามาตรการที่จะ “ขยายโอกาส” ทางการศึกษามากกว่าที่จะ “จำกัดการเข้าถึงการศึกษา” แบบนี้
ขณะเดียวกัน แม้จาร์วิสจะยอมรับว่า ต้องรับฟังรายละเอียดของข้อเสนอของทางกระทรวงศึกษาธิการก่อนที่ทางสภาจะลงมติรับรองให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายอีกครั้ง กระนั้น ในฐานะตัวแทนของ Universities UK ขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า มาตรการที่นี่ว่านี้จะทำให้ความก้าวหน้าตลอดหลายปีที่ผ่านมาของหลายฝ่ายที่พยายามให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดรับผู้คนด้อยโอกาสในสังคมให้เข้าถึงการศึกษาในระดับสูง และมีหน้าที่การงานที่ดีกว่าเดิม ถอยหลังเข้าคลองไป
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักบริการเข้าศึกษามหาวิทยาลัยและวิทยาลัยของสหราชอาณาจักร (Universities and Colleges Admissions Service) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่า 28% ของคนหนุ่มสาวจากพื้นที่ด้อยโอกาสที่สุดของประเทศสามารถสมัครเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในปีนี้ เพิ่มขึ้นเกือบ 18% เมื่อเทียบกับปี 2013
ที่มา : UK could ban students from college loans if they fail math and English