องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในอังกฤษจับมือครู ยื่นข้อเรียกร้องให้ภาครัฐและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง จัดคอร์สอบรมพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาอย่างจริงจัง เพื่อฝึกขัดเกลาคุณครูให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการสนับสนุนและช่วยเหลือบรรดาลูกศิษย์ในการรับมือและเผชิญหน้ากับการเสียชีวิตของบุคคลใกล้ชิด รวมถึงสมาชิกภายในครอบครัวจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19
หนึ่งในความท้าทายของเหล่าคุณครูทั่วอังกฤษ นอกจากจะต้องดำเนินการเรียนการสอนภายในห้องเรียนให้ราบรื่น โดยที่เด็กนักเรียนยังสามารถเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังด้านสุขอนามัยอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว คุณครูเหล่านี้ยังต้องรับมือกับเด็กนักเรียนกลุ่มใหญ่ที่ตกอยู่ในภาวะเศร้าโศกเสียใจต่อการจากไปของบุคคลที่ตนเองรักและเคารพจนไม่อยู่ในสภาวะที่พร้อมต่อการเรียนหนังสือได้
Child Bereavement UK องค์กรการกุศลซึ่งมุ่งเยียวยาเด็กที่ต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสีย เปิดเผยผลการสำรวจเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยพบว่า 86% ของครูผู้ตอบแบบสอบถามต้องรับมือกับลูกศิษย์ที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวหรือคนรู้จักเพราะโควิด-19 โดยในจำนวนนี้ เกือบ 75% เป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญในชีวิตของเด็ก ส่งผลให้เด็กตกอยู่ในความเศร้าและความเครียด ซึ่งหากว่าคุณครูไม่รู้จักวิธีสังเกตและรับมือกับเด็กที่อยู่ในสภาวะอารมณ์แบบนี้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนคนนั้นได้
ดังนั้น องค์การดังกล่าวจึงเห็นความสำคัญและความจำเป็นว่า ควรต้องมีการจัดคอร์สฝึกอบรมให้ครูและนักการศึกษาในโรงเรียนทั่วอังกฤษ ได้เรียนรู้ทักษะและวิธีการรับมือเด็กที่เผชิญกับความสูญเสียอย่างถูกต้อง โดยแม้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการจะจัดให้มีการอบรมแล้วส่วนหนึ่ง แต่องค์กร Child Bereavement UK ระบุว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มในครั้งนี้คือต้องการให้ภาครัฐออกเป็นกฎข้อบังคับให้ครูทุกคนต้องเข้ารับการฝึกอบรมอย่างจริงจัง
ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีขึ้นเนื่องจากปัจจุบันการเข้ารับการฝึกอบรมดังกล่าวในอังกฤษยังคงเป็นไปตามความสมัครใจของครู ทำให้จำนวนครูและเด็กที่จะได้รับประโยชน์จากการจัดการฝึกอบรมนั้นมีจำนวนน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการของจำนวนเด็กนักเรียนที่ต้องประสบกับการเสียชีวิตของคนที่ตนเองรัก
ข้อเรียกร้องขององค์กร Child Bereavement UK ได้รับการสนับสนุนจาก Centre For The Art Of Dying Well (ศูนย์เพื่อสุนทรียแห่งการตาย) ของมหาวิทยาลัยเซนต์แมรี ในเวสต์ลอนดอน ซึ่งมีการจัดการคอร์สฝึกอบรมครูในการรับมือกับภาวะสูญเสียรูปแบบต่าง ๆ
รายงานระบุว่า ในแต่ละปีทางมหาวิทยาลัยจะได้รับมอบหมายให้ฝึกอบรมครูใหม่ในระดับประถมและมัธยมศึกษา เพื่อรับมือกับภาวะสูญเสียของเด็กนักเรียนในช่วงวัยต่าง ๆ โดยผลลัพธ์ของการฝึกอบรม ส่งผลดีต่อทั้งตัวเด็กนักเรียนและคุณครูเอง
แอนนา ลิซ กอร์ดอน (Anna Lise Gordon) ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษาในเซนต์แมรีกล่าวว่า หลังจากหยุดเรียนไปนาน โรงเรียนและครูมักจะมุ่งใส่ใจและให้ความสำคัญกับความรู้ด้านวิชาการ อย่างการอ่าน การคิดคำนวนเป็นหลัก โดยไม่สนใจต่อสภาพจิตใจของเด็กสักเท่าไรนัก ซึ่งในสถานการณ์ปกติทั่วไปไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ทว่าการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กนักเรียนเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้
ทั้งนี้ หลักการสำคัญของคอร์สฝึกอบรมคือ การให้ครูได้เรียนรู้วิธีการพูดคุยสนทนากับลูกศิษย์เกี่ยวกับ “ความตาย” ด้วยภาษาที่เหมาะสม เพื่อทำให้เด็กตระหนัก เรียนรู้ และยอมรับว่า ความตายและความเศร้าจากการตายเป็นเรื่องปกติ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเป็นสิ่งที่ต้องประสบทุกคนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
“คนส่วนใหญ่ทั่วไปมักจะรู้สึกกระอักกระอ่วนเมื่อต้องมานั่งพูดคุยในหัวข้อที่เกี่ยวกับความตาย พวกเขามักไม่รู้ว่าจะต้องตอบรับอย่างไร พูดอย่างไร ทำให้สุดท้ายก็คือกลายเป็นไม่พูดอะไรเลย ซึ่งการไม่พูดอะไรเลยนี้ กลับก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ตามมาได้” กอร์ดอนกล่าว
นอกจากนี้ กอร์ดอน ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดทำคอร์สฝึกอบรมการรับมือกับภาวะสูญเสีย กล่าวว่า การฝึกอบรมยังออกแบบมาเพื่อมอบแนวทางและแนวคิดแก่เด็กและเยาวชน รวมถึงสนับสนุนพวกเขาให้สามารถใช้คำพูดแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา ซึ่งจะทำให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถให้ความช่วยเหลือเด็กได้อย่างทันท่วงที
โดยผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า เด็กหรือเยาวชนจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก้าวหน้าดีขึ้น และบรรลุผลมากขึ้น หากเด็กรู้สึกดี รู้สึกปลอดภัย และได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย กับผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ ดังนั้น กล่าวได้ว่า การสูญเสียผู้ใหญ่ที่ไว้ใจและอยู่ในอารมณ์โศกเศร้าย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเรียน
ดังนั้น การเร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กจึงเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เด็กต้องพร้อมให้มากที่สุดหลังจากที่หยุดเรียนเพราะโควิด-19 ไปนาน
และกลายเป็นที่มาของการเรียกร้องให้ครูอังกฤษเข้ารับการอบรมทักษะการรับมือกับภาวะสูญเสีย ไม่ว่าครูท่านนั้นจะทำงานมานานหรือเพิ่งบรรจุใหม่ก็ตาม โดยการเรียกร้องหนนี้ตั้งเป้าให้ครูทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม
ด้าน ดร.หลุยส์ แมคโกวาน (Louise McGowan) ครูใหญ่โรงเรียนสตรี เซนต์ คลอดีนส แคธอลิก (St. Claudine’s Catholic School For Girls) ในอังกฤษกล่าวสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เพราะโรงเรียนไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับให้เด็กมารับการศึกษาเชิงวิชาการและออกจากโรงเรียนเมื่อหมดเวลาด้วยคุณสมบัติที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่โรงเรียนคือชุมชน คือครอบครัวขยาย ในมุมมองของ ดร.แมคโกวาน การดูแลอภิบาลจึงมีความสำคัญพอ ๆ กัน เพราะเป็นเหมือนสิ่งช่วยเตรียมเด็ก ๆ ให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิต
“การฝึกอบรมจะช่วยให้นักเรียนที่ต้องการการปลอบประโลมใจ แต่ไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจากครู ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่พวกเขาไว้วางใจและเคารพมากที่สุดคนหนึ่ง”