ผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับประโยชน์ของพฤติกรรมการอ่านในเด็กเล็กพบว่า หากต้องการให้เด็กได้ประโยชน์จากการอ่าน ควรให้เด็กได้หยิบจับและอ่านหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มบนกระดาษมากกว่าการอ่านจากอีบุ๊ก เนื่องจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กเล็กจะมีคุณภาพสูงขึ้นในขณะที่อ่านหนังสือรูปเล่มมากกว่าหนังสือบนแอปพลิเคชันดิจิทัลผ่านอุปกรณ์แท็บเล็ตทั้งหลาย
การศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารด้านกุมารแพทย์เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม ทางทีมวิจัยได้ดำเนินการทดสอบปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ 72 ราย กับลูกวัยกระเตาะ อายุ 24-36 เดือน พร้อมเปรียบเทียบการโต้ตอบขณะอ่านหนังสือบนแท็บเล็ตกับหนังสือเด็กที่เป็นรูปเล่ม แล้วพบว่า พ่อแม่มีการพูดคุยกับลูกมากกว่าเมื่ออ่านหนังสือเป็นเล่ม ทำให้ในทางกลับกันเด็กจึงต้องพูดคุยตอบสนองต่อพ่อแม่กลับไป ช่วยขัดเกลาให้เด็กมีภาวะทางอารมณ์ที่ดีขึ้น เพราะได้ฝึกตอบสนองกับพ่อแม่ของตน
ดร.ทิฟฟานี มันเซอร์ (Tiffany Munzer) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพฤติกรรมในเด็กของโรงพยาบาลเด็ก Health C.S. Mott Children’s Hospital แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน และเป็นหัวหน้าทีมวิจัยและผู้เขียนบทความเผยแพร่ดังกล่าว ระบุว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกผ่านการอ่านหนังสือร่วมกันจะส่งเสริมการพัฒนาภาษาและการรู้หนังสือ และอาจเป็นประโยชน์ต่อมิตรภาพ ความสำเร็จในโรงเรียน และผลลัพธ์ด้านการพัฒนาอื่นๆ ในวัยเด็กได้ในภายหลัง
“ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกดังกล่าวก็เหมือนอาหารสมองสำหรับเด็ก การพูดคุยของพวกเขาได้สร้างรากฐานทางภาษาของเด็ก ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาทางสังคมและอารมณ์ที่มีผลต่อชีวิตจริงๆ” ดร.มันเซอร์กล่าว
นอกจากนี้ การศึกษาล่าสุดยังสนับสนุนการค้นพบของ ดร.มันเซอร์ก่อนหน้านี้ที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อพ่อแม่ลูกได้อ่านหนังสือที่พิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม จะมีการคุยกันบ่อยขึ้น และคุณภาพของปฏิสัมพันธ์ของครอบครัวดีกว่าตอนอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน รายงานยังพบว่า 98 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวที่มีสมาชิกภายในบ้านอายุต่ำกว่า 9 ปี ล้วนมีสมาร์ตโฟนหรือแเท็บเล็ต ทั้งยังปล่อยให้เด็กวัยหัดเดินส่วนใหญ่ใช้เวลากับสื่อดิจิทัลโดยเฉลี่ยมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน
“แท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในชีวิตครอบครัวสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้หรือมีคุณค่าต่อพัฒนาการของเด็กๆ เท่ากับหนังสือทั่วไป” ดร.มันเซอร์กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น ดร.มันเซอร์ยังแนะนำให้นักออกแบบซอฟต์แวร์ที่สร้างสื่อการอ่านอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเด็กควรขอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญเด็กปฐมวัยที่ได้รับการฝึกอบรมมา เพื่อรองรับการนำเสนอเนื้อหาสำหรับเด็กและขจัดสิ่งรบกวนสมาธิ เช่น แอนิเมชั่นและโฆษณาออกไป เช่นเดียวกันกับที่ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพของเด็กควรช่วยแนะนำผู้ปกครองเกี่ยวกับการใช้สื่ออย่างปลอดภัยและมีประโยชน์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ภายใต้โลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลได้ ดร.มันเซอร์ย้ำว่า บรรดากุมารแพทย์ควรแนะนำให้ผู้ปกครองดูสื่อดิจิทัลกับลูกๆ ทุกครั้งเมื่อเป็นไปได้ คอยถามคำถามปลายเปิดให้เด็กๆ ได้คิดและแสดงความเห็น และมีการพูดคุยระหว่างเวลาอ่านเพื่อช่วยให้ลูกๆ มีส่วนร่วมและเกิดการเรียนรู้
ด้านอลิซ เหลียว (Alice Liao) คุณแม่ลูกสาม วัยไม่ถึง 4 ขวบทั้งหมด กล่าวเสริมว่า การอ่านหนังสือก่อนนอนยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยลูกๆ จะเลือกหนังสือที่ชอบ แล้วมานั่งอ่านร่วมกัน ซึ่งเหลียวพบว่า การได้หยิบจับหนังสือที่เป็นรูปเล่ม มีมิติ มีสัมผัส ทำให้เด็กสนุกกับการอ่านได้มากขึ้น
“การใช้ชีวิตในยุคนี้ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากมาย การผละจากหน้าจอเพื่อมาใช้เวลาอ่านหนังสือด้วยกันสักเล่มสองเล่มย่อมถือเป็นเรื่องที่ดีของครอบครัว” เหลียวกล่าว
ที่มา :
• Reading print books to toddlers is better than e-books
• Study: Books Are Better Than Tablets For Young Kids