อินเดียหนุนนักศึกษาเข้าอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรเพิ่มเติม
โดย : Astha Hemant - The Times of India
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

อินเดียหนุนนักศึกษาเข้าอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรเพิ่มเติม

สถาบันอุดมศึกษาทั่วอินเดีย ออกโรงสนับสนุนให้นักศึกษาสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรของสถานศึกษาหรือหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือจากหลักสูตรทางการปกติที่นักศึกษาเรียนอยู่ในปัจจุบัน เพราะจะช่วยให้นักศึกษาได้รับทักษะที่พร้อมสำหรับอุตสาหกรรมและโลกการทำงาน เนื่องจากหลักสูตรประกาศนียบัตรที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่จะปรับปรุงทักษะที่มีอยู่ และเพิ่มทักษะใหม่ๆ (upskilling และ reskilling) ให้นักศึกษากลายเป็นแรงงานสำคัญที่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือช่วยสนับสนุนได้นักศึกษาได้ทำงานในสายงานที่ต้องการมากขึ้น 

Uma Shankar Pandey เจ้าหน้าที่พิเศษประจำศูนย์การเรียนรู้แบบเปิดเสรี หรือ Campus of Open Learning (COL) แห่งมหาวิทยาลัยเดลี (University of Delhi – DU) กล่าวว่า ทุกวันนี้ การเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรต่างๆ ล้วนมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้งานทำ อีกทั้ง เทรนด์ระดับโลกยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเรียนรู้และการเพิ่มมูลค่าผ่านหลักสูตรเสริมต่าง ๆ  ซึ่งน่าเสียดายว่าเทรนด์ที่ว่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ยังไปไม่ถึงระบบการศึกษาของอินเดีย

Pandey ยังกล่าวอีกว่า หลักสูตรประกาศนียบัตรยอดนิยมในขณะนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับโลกในยุคดิจิทัล ยกตัวอย่างเช่น Internet of Things (IoT), Cloud Computing, และ Data Science ซึ่งความต้องการทักษะหลากหลายจะผลักดันให้นักศึกษาที่มีความชำนาญการในสาขาเฉพาะทางต่างๆ เช่น แพทยศาสตร์หรือการบัญชี หันมาเลือกหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านการจัดการหรือวิทยาศาสตร์ข้อมูลเสริมเพิ่มเติมความรู้เดิมของตน

ด้าน Tapan Kumar Nayak ผู้อำนวยการ โรงเรียนธุรกิจชัยปุระ เมืองกาเซียบัด (Ghaziabad) ระบุว่า ความต้องการหลักสูตรด้านประกาศนียบัตรเริ่มมีมากขึ้นเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว โดยเป็นผลพวงของการมาถึงของ เทคโนโลยีทางการศึกษา (EdTechs) ที่ทำให้มีหลักสูตรใหม่ๆ ที่น่าสนใจและไม่เหมือนใครเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้มากขึ้น

ขณะที่ Rahul Kashyap ผู้ร่วมก่อตั้ง Skillslash บริษัทผู้ให้บริการอัพสกิลและรีสกิลบุคลากรกล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทักษะที่ได้รับระหว่างการศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็เพียงพอแล้วสำหรับนักเรียนทุกคนที่จะทำงานจนถึงวัยเกษียณอายุได้ แต่สำหรับทุกวันนี้  ภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้ทุกคนจำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยใน 4-5 ทักษะ ซึ่งการเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรถือเป็นวิธีที่ง่ายและคุ้มค่าที่สุดในการที่จะช่วยให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มทักษะที่ต้องการนี้

การเติบโตสู่ยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ Ashwini Tiwary ผู้ร่วมก่อตั้ง Autobot ได้เริ่มสร้างบริษัทในปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) มากนัก และมีสถาบันอุดมศึกษาในอินเดียเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เริ่มเปิดสอนหลักสูตรปริญญาด้านยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ เรียนได้ว่าหลักสูตรมีค่อนข้างจำกัด 

ข้อจำกัดข้างต้น ทำให้ ในปี 2019 ทาง Tiwary ได้ตัดสินใจจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรรับรองเฉพาะกลุ่ม 3 ระดับ ทั้งนักศึกษาและมืออาชีพเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาชุดทักษะในสาขานี้โดยเฉพาะ ซึ่งการเรียนรู้ภาคปฏิบัติควบคู่ไปกับความรู้เชิงทฤษฎีช่วยให้นักศึกษามีความพร้อมในอุตสาหกรรม

“ขั้นตอนต่อไปคือการเชื่อมโยงหลักสูตรประกาศนียบัตรนี้กับทางสถาบันการศึกษาเพื่อช่วยเผยแพร่ข้อมูลเฉพาะทางที่จำเป็นให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายดายยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดของตัวผู้เรียนเอง”  Tiwary กล่าวเสริม โดยเจ้าตัวยังเผยอีกว่า นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหลักสูตร จำนวนยอดคนลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรเบื้องต้นระดับ 1 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว 

ด้าน Rahul Kashyap ผู้ร่วมก่อตั้ง Skillslash กล่าวว่า ทางบริษัทยังให้บริการจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรแบบรายโครงการ ซึ่งโดยทั่วไป หลักสูตรของแต่ละโครงการจะเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นเบอร์ต้นๆ ของอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยสาเหตุที่ทางบริษัทจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรดังกล่าวเป็นเพราะวิธีการดังกล่าว เป็นเสมือนหลักสูตรเร่งรัดที่นักศีกษาจะได้รับความรู้ในด้าน Data Science หรือนักพัฒนา Full Stack จากบริษัทที่เข้าร่วม โดยนักศึกษาจะได้ใบรับรองเมื่อผ่านเกณฑ์เงื่อนไขที่ทางบริษัทเป็นผู้กำหนด

รายงานระบุว่า ปัจจุบันทางสถาบันอุดมศึกษาทั่วอินเดียต่างตบเท้าเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการคิดค้นหลักสูตรประกาศนียบัตรต่างๆ มากขึ้น ซึ่งแต่เดิมสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ในอินเดียจะมีการปรับปรุงหลักสูตรเป็นระยะๆ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยทุกปี สภาวิชาการอินเดียจะพิจารณาแนวโน้มของตลาดเกิดใหม่อยู่แล้วด้วยการพิจารณาจากหลักสูตรประกาศนียบัตรส่วนหนึ่งที่เปิดสอนให้แก่นักศึกษา และเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรภาคบังคับที่นักศึกษาลงเรียนในสาขาในระดับปริญญาตรี 

Bheemashankar Kattimani นักศึกษาจากกุลบาร์กา รัฐกรณาฏกะ กล่าวว่า หลังเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEE) และทำงานในองค์กรวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) ในฐานะวิศวกรเป็นเวลา 3 ปี ก็ค้นพบว่าตนเองมีความสนใจในระบบอนาไลติกส์ ทำให้ตัดสินใจลงทะเบียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรใน EV ซึ่งเมื่อเทียบกับหลักสูตรปริญญาเต็มเวลา หลักสูตรประกาศนียบัตรนี้ประหยัดทั้งเวลาและเงิน และให้ประสบการณ์ตรงที่จำเป็นในการเตรียมความพร้อมในอุตสาหกรรมได้มากกว่า 

ขณะที่ Surbhi Tak นักศึกษาจากชัยปุระ กล่าวว่า นอกเหนือจากเรียนปริญญาตรีจาก School of Open Learning ในมหาวิทยาลัยเดลีแล้ว เจ้าตัวตัดสินใจศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านการออกแบบแฟชั่น การขายสินค้าและการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งหลักสูตรประกาศนียบัตรนี้ค่อนข้างให้อิสระในการเรียน เพราะเรียในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ช่วยให้ตนเองสามารถเรียนทั้งสองอย่างควบคู่กันได้ และสาเหตุที่เรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรดังกล่าว เพราะมีแผนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจด้านแฟชั่น 

ที่มา : Certificate courses fulfill requirement of upskilling, reskilling