อังกฤษเผยผลการศึกษาชี้เด็กซนที่ชอบเล่นผจญภัยมีสุขภาพจิตที่แข็งแกร่ง
โดย : Parmita Uniyal - Hindustan Times
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

อังกฤษเผยผลการศึกษาชี้เด็กซนที่ชอบเล่นผจญภัยมีสุขภาพจิตที่แข็งแกร่ง

ทีมนักวิจัยในอังกฤษเปิดเผยผลการศึกษาฉบับล่าสุดที่พบว่า ในช่วงของการล็อคดาวน์ระลอกแรก เด็ก ๆ ที่มีโอกาสใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นผจญภัย มีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าน้อยลง และมีความสุขมากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกันที่ไม่ได้ออกไปไหน ซึ่งทีมนักวิจัยหวังว่าผลการศึกษาในครั้งนี้จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายเห็นถึงความสำคัญของการเล่น ว่าไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป 

โดยจากการศึกษาฉบับใหม่นี้ได้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Child Psychiatry and Human Development (จิตเวชศาสตร์ในเด็กและการพัฒนามนุษย์) ที่ทางมหาวิทยาลัย Exeter ซึ่งเป็นผู้นำในการดำเนินการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ได้ออกแบบชุดคำถามและสอบถามกับบรรดาผู้ปกครองว่าลูกๆ ของพวกเขาได้ออกมาวิ่งเล่นที่ “น่าหวาดเสียวและน่าตื่นเต้น” ในระดับที่ทำให้เด็กเหล่านี้เผชิญกับความกลัวและความไม่แน่นอนบางอย่างบ่อยมากแค่ไหน

การศึกษาครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่เด็กๆ ในปัจจุบันมีโอกาสสำหรับการเล่นผจญภัยในที่ที่ผู้ใหญ่ไม่เห็น เช่น ปีนต้นไม้ ขี่จักรยาน กระโดดจากที่สูง หรือเล่นที่ไหนสักแห่งในที่ที่ลับตาผู้ใหญ่น้อยลง โดยการศึกษานี้พยายามทดสอบทฤษฎีที่ว่า “การเล่นผจญภัยให้โอกาสในการเรียนรู้ที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในเด็ก ดังนั้นจึงช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในเด็กได้”

ทีมนักวิจัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินการศึกษาจากโครงการ UKRI Future Leaders Fellowship ได้ทำการสำรวจผู้ปกครองเกือบ 2,500 รายทั่วอังกฤษ ที่มีลูกอายุระหว่าง 5-11 ปี ซึ่งผู้ปกครองกลุ่มนี้ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการเล่นของลูก สุขภาพจิตโดยทั่วไป (ก่อนเกิดโควิด) และอารมณ์ของลูกในช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 ครั้งแรก

นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้ดำเนินการด้วยการแบ่งผู้ปกครองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ปกครอง 427 คนที่อาศัยอยู่ในไอร์แลนด์เหนือ และส่วนที่เหลือคือกลุ่มผู้ปกครองที่อาศัยอยู่ในบริเตนใหญ่ คือพื้นที่ครอบคลุม อังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์

งานนี้ ทางทีมนักวิจัยพบว่าเด็กที่ใช้เวลาเล่นนอกบ้านมากขึ้นมี “ปัญหาภายในใจ” น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัญหาภายในใจจะแสดงออกมาในเชิงอารมณ์ด้านลบ เช่น ความวิตกกังวลและความซึมเศร้า ขณะที่ เด็กที่ได้เล่นนอกบ้านบ้างเหล่านั้นยังคิดบวกมากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์รอบแรก

รายงานระบุว่า แม้ผลกระทบค่อนข้างน้อย ตามที่คาดไว้เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กๆ โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ดังกล่าวก็มีความสอดคล้องกัน โดยนักวิจัยได้คำนึงถึงตัวแปรทางประชากรที่หลากหลาย เช่น เพศของเด็ก อายุ สถานะในการจ้างงานของผู้ปกครอง ฯลฯ และสุขภาพจิตของผู้ปกครองเอง เป็นต้น 

ขณะที่ การศึกษาในกลุ่มบริเตนใหญ่ยังพบอีกว่าผลกระทบนั้นเด่นชัดในเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำมากกว่าผู้ที่เติบโตในครัวเรือนที่มีรายได้สูง

เฮเลน ดอดด์ (Helen Dodd) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาเด็กแห่งมหาวิทยาลัย Exeter ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาวิจัยในครั้งนี้กล่าวว่า ทีมนักวิจัยค่อนข้างมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งสิ่งที่ต้องการเน้นจากผลการวิจัยของทีมตนก็คือการที่ผลดังกล่าวอาจสามารถช่วยปกป้องสุขภาพจิตของเด็กได้ โดยการศึกษาพิสูจน์เพื่อให้แน่ใจว่า การเล่นซุกซนในเชิงผจญภัยโลดโผนอย่างพอเหมาะพอดีเป็นประโยชน์มากมายต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางสุขภาพจิตของเด็กเหล่านี้

“ผลลัพธ์นี้ถือเป็นเรื่องดีจริง ๆ เพราะการเล่นนั้นไม่เสียเงินหรือมีค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นไปตามสัญชาตญาณของเด็กๆ ดังนั้น จึงประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวเด็กทุกคน ที่สำคัญการละเล่นต่างๆ เป็นสิ่งที่เปิดกว้างสำหรับเด็กทุกคน อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องมีทักษะพิเศษใดๆ โดยขณะนี้ เราจำเป็นต้องลงทุนและปกป้องพื้นที่ธรรมชาติอย่างเร่งด่วน สวนสาธารณะที่ออกแบบอย่างดี และสนามเด็กเล่นผจญภัย เพื่อสนับสนุนสุขภาพจิตของลูกหลานของเรา” ศาสตราจารย์ดอดด์กล่าว 

ด้าน แดน ปาสกินส์ (Dan Paskins) ผู้อำนวยการกลุ่ม UK Impact แห่ง Save the Children องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในอังกฤษ เสริมว่า  เด็กทุกคนต้องการและสมควรได้รับโอกาสในการเล่น การวิจัยที่สำคัญนี้แสดงให้เห็นว่าการเล่น หรือการออกไปวิ่งเล่น มีความสำคัญมากขึ้นในการช่วยให้เด็กๆ เติบโต หลังจากที่เด็กเหล่านี้ต้องพลาดโอกาสต่างๆ หลายอย่างไปในช่วงล็อดดาวน์จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งการเล่นที่มากขึ้นย่อมหมายถึงความสุขที่มากขึ้น และลดความวิตกกังวลและความหดหู่ใจให้น้อยลง

“นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไม Save the Children จึงสนับสนุนแคมเปญ Summer of Play ที่องค์กรต่างๆ จากทั่วอังกฤษได้ให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนเพื่อให้เด็ก ๆ ได้วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน ได้ใช้เวลากับเพื่อน ๆ และได้เพลิดเพลินกับอิสระเล็กๆ”  ปาสกินส์กล่าว 

ขณะที่ แจคเคอลีน โอ’โลลิน (acqueline O’Loughlin) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PlayBoard NI กล่าวแสดงความยินดีกับการค้นพบในครั้งนี้ พร้อมแสดงความเห็นว่า งานวิจัยฉบับนี้ได้เน้นถึงความสำคัญของการเล่นผจญภัย เด็กและคนหนุ่มสาวต้องการอิสระและโอกาสในการเผชิญกับความท้าทายและความเสี่ยงในการผจญภัยที่สนุกสนานในแต่ละวัน โดยผลการวิจัยพบว่า การเล่น การผจญภัยที่เสี่ยงเล็กน้อย และประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นกลางแจ้ง จะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ของเด็กๆ

“รางวัลของการอนุญาตให้เด็ก ๆ ได้ควบคุมตนเองและจัดการกับความท้าทายในการเล่นของพวกเขานั้นมีขอบเขตที่กว้างขวางและไปได้ไกลเกินกว่าที่เราจะคาดคิดได้ ซึ่งการเล่นแบบผจญภัยจะช่วยให้เด็กสร้างความยืดหยุ่นที่จำเป็นในการรับมือและจัดการกับความเครียดในสถานการณ์ที่ท้าทายต่างๆ” แจคเคอลีน โอ’โลลิน กล่าวปิดท้าย 

ที่มา : Children who play adventurously have better mental health: Study