กูรูชื่นชมจีนเดินหน้าผลักดันเพื่อความเท่าเทียมทางการศึกษา
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กูรูชื่นชมจีนเดินหน้าผลักดันเพื่อความเท่าเทียมทางการศึกษา

คีธ แลมป์ (Keith Lamb) นักวิชาการสาขาการศึกษาจีนร่วมสมัย มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เขียนบทความแสดงความชื่นชมของรัฐบาลจีนในการเดินหน้าผลักดันเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา พิสูจน์ได้จากจำนวนเด็กนักเรียนในชนบทและลูกหลานจากชนชั้นแรงงานได้เข้าถึงการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น และการดำเนินการปฎิรูปการศึกษาเพื่อสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียมของจีนเป็นสิ่งที่แลมป์เห็นว่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ทั่วโลกสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้

แลมป์ได้เริ่มต้นเขียนบทความด้วยการระบุว่า ปีนี้ มีนักเรียนจีนมากถึง 11.93 ล้านคนต่างเข้าร่วมการสอบ “เอ็นทรานซ์” ระดับชาติ หรือที่เรียกว่า “gaokao” ซึ่งแม้จะมีการแข่งขันสูง แต่จำนวนนักเรียนที่เข้าร่วม “gaokao” มากสุดเป็นประวัติการณ์ พิสูจน์ให้เห็นว่าการศึกษาเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงในทุกชั้นเรียนทั่วประเทศจีน

ในมุมมองของแลมป์ คลื่นชนชั้นแรงงานและนักเรียนในชนบทที่สามารถเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ช่วยเปลี่ยนผลลัพธ์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของรุ่นต่อรุ่นไปพร้อมกับปรับให้เข้ากับความเป็นจริงของเศรษฐกิจจีนที่การเปลี่ยนจากการใช้แรงงานราคาถูก เป็นการใช้แรงงานทักษะสูงที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น และเป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโลก

ทั้งนี้ ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา จีนได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้มีกระแสเงินทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามายังจีน โดยโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับการศึกษา เป็นสองปัจจัยที่แยกจากกันไม่ได้ ดังนั้นในขณะที่จีนยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน จีนก็เดินหน้ายกระดับคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาของเด็กนักเรียนทุกคนทั่วประเทศจีน

แลมป์ยอมรับว่า ปัจจุบัน ปัญหาการไม่รู้หนังสือของจีนในอดีตได้รับการแก้ไขแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโดยรวมแล้วการศึกษาของจีนจะได้รับการปรับปรุงได้ดีขึ้นมากแล้ว แต่เมื่อเจาะลึกระบบการศึกษาของจีนแล้ว แลมป์พบว่าจีนยังคงมีความท้าทายอย่างมากที่ต้องการการปฏิรูปครั้งใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีที่มีอยู่หลายรูปแบบ เช่น ช่องว่างระหว่างเด็กนักเรียนในชนบทกับเด็กในเมือง

ทั้งนี้ แลมป์มองว่า การเข้าถึงการศึกษาชั้นหนึ่งพร้อมกับการยกระดับระบบการศึกษาของจีนนั้นไม่อาจแยกออกจากความฝันของจีนในการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ได้ ดังนั้น ความเท่าเทียมกันทางการศึกษาจึงมีความสำคัญ เพราะในทางปฏิบัติ จะเพิ่มผลลัพธ์ในยกระดับทักษะของปัจเจกบุคคล ให้เข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเป้าหมายอนาคตที่จีนกำหนดไว้

ยิ่งไปกว่านั้น ความตั้งใจเรื่องการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วในประวัติศาสตร์ของจีน เห็นได้จากการที่มีสอดแทรกเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษาของนักปราชญ์เมธีอย่างขงจื๊อ

ในปี 2019 จีนได้เปิดเผยแผนกลยุทธ์ความทันสมัยด้านการศึกษาปี 2035 โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบการศึกษาที่ทันสมัย บรรลุการเข้าร่วมในระดับสากลในการศึกษาก่อนวัยเรียนที่มีคุณภาพ ปรับปรุงการฝึกอบรมสายอาชีพ พัฒนาทักษะและความรู้ของเยาวชนพิการ และสร้างระบบการจัดการการศึกษาที่รวมการมีส่วนร่วมของทั้งสังคมมากกว่าแค่การบริหารจัดการของรัฐบาล

ขณะนี้ รัฐบาลจีนมีมาตรการหลายอย่างที่บรรลุเป้าหมายนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม เพราะมาตรการเพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความรอบรู้ หลายโรงเรียนทั่วจีนต่างแบกรับภาระงานอย่างหนักหน่วง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านการศึกษาต่างๆ เช่น การอดนอนและความเครียด ซึ่งแลมป์กล่าวว่ารัฐบาลจีนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการควบคุม แต่การจัดการปัญหาดังกล่าวก็ต้องไม่กระทบต่อคุณภาพการศึกษาโดยรวม 

ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา มีรายงานว่ารัฐบาลจีนได้ออกมาตรการจัดการกับบรรดาติวเตอร์และสถาบันกวดวิชาต่าง ๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต่างขวนขวายให้เด็กได้เรียนเพื่อบรรเทาความกังวลของตนเองว่าลูกหลานจะเรียนหนังสือไม่เก่ง ได้คะแนนไม่ดีเท่ากับนักเรียนคนอื่นๆ 

ขณะที่ ในปีเดียวกันนั้น ทางการจีนได้มีการแนะนำแนวปฏิบัติระดับชาติเพื่อปรับเทียบชั้นเรียนใหม่เพื่อให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน และลดภาระการบ้านที่หนักหน่วง โดยกระทรวงศึกษาธิการจีนได้ประกาศเลิกมอบหมายการบ้าน (paperwork) สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2  และกำหนดให้การบ้านสำหรับนักเรียนระดับสูงกว่าจะต้องทำให้เสร็จภายในหนึ่งชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เวลาว่างที่มากขึ้นในมือของคนไม่มีวินัย อาจเป็นปัญหาพอๆ กับการบ้านที่มากเกินไป และกลไกตลาดที่แสวงหาผลกำไรเหนือหลักการ ทำให้พ่อแม่หลายคนที่กังวลต่ออนาคตที่ดีของลูกตกเป็นเหยื่อของธุรกิจที่มุ่งหวังกำไรจากความยังไม่บรรลุนิติภาวะของเยาวชน เช่น บริษัทเกมทั้งหลาย 

งานนี้ ทางการจีนจึงได้ออกกฎหมายบังคับใช้เด็กและผู้เยาว์จีนสามารถเล่นเกมออนไลน์ได้เพียง 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่มีการจำกัดการเข้าถึงหรือเปิดรับคอนเทนต์ของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ หรือดาราคนดังทั้งหลายในสังคม ที่ทางการจีนมองว่าอิทธิพลดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อค่านิยมทางสังคมโดยรวม และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจของเยาวชน 

ขณะเดียวกัน เพื่อจัดการเติมเต็มเวลาว่างของนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น ทางโรงเรียนในจีนจึงให้ความสำคัญกับกีฬา ศิลปะ และกิจกรรมนอกเวลาเรียนที่พัฒนาทักษะรอบตัวต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ชั้นเรียนมายากล ว่ายน้ำ ตีเทนนิส 

นอกจากนี้ แลมป์มองว่า ภายในโรงเรียนเองก็มีการปฏิวัติอย่างเงียบๆ เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นเลิศ โดยมาตรฐานการศึกษาถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนในชนบทและในเมือง เทคโนโลยี และการสอนได้รับมาตรฐาน เช่น การกำหนดอัตราส่วนครูต่อนักเรียนที่ 13.5 นักเรียนต่อครูหนึ่งคน และเพิ่มการหมุนเวียนของครูระหว่างโรงเรียนในชนบทและในเมือง ซึ่งจะช่วยให้มาตรฐานการสอนเพิ่มขึ้นด้วย 

ปัจจุบัน สาขาวิชาเอกของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับบิ๊กดาต้าและ AI ได้รับความนิยมมากที่สุด และจีนผลิตบัณฑิตด้านเทคโนโลยีมากกว่าประเทศอื่นๆ และเพื่อสานต่อความสำเร็จนี้ต่อไปภายใต้เป้าหมายของการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการศึกษาก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาของจีนเดินหน้าผลักดันการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์มากกว่าการเรียนรู้แบบท่องจำ และบูรณาการทักษะทางธุรกิจเพื่อทำให้การเรียนรู้เป็นประโยชน์มากขึ้นสำหรับอนาคตที่เป็นนวัตกรรมของจีน

ทั้งนี้ เมื่อมองไปที่งานข้างหน้า การเปลี่ยนระบบการศึกษาของจีนให้เป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เน้นการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และให้การเข้าถึงที่เท่าเทียมกันสำหรับนักเรียนทั้งในและนอกเมืองภายในปี 2035 ทางการจีนจะต้องใช้ทรัพยากรและแรงผลักดันมหาศาล แต่เพื่อเป้าหมายของการศึกษาคุณภาพที่คนทุกคนเข้าถึงได้ จีนย่อมไม่มีทางเลือกอื่น พูดง่ายๆ ก็คือ จีนต้องให้การศึกษาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางมากกว่าความต้องการแสวงหาผลกำไรที่ขับเคลื่อนโดยตลาด