ผู้เชี่ยวชาญระบุ เด็กต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษเพื่อชดเชยกับความรู้ที่หายไป
เว็บไซต์ The Economist เผยแพร่บทความพิเศษรวบรวมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและนักการศึกษาทั่วสหรัฐฯ เกี่ยวกับปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนซึ่งกำลังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนทั่วโลก โดยความเห็นต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้ไวรัสโควิด-19 จะพบการติดเชื้อในกลุ่มเด็กได้น้อย (จากสถิติคือ 1 ต่อ 500,000 คน) แต่การที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้เต็มเวลา หรือบางแห่งต้องปิดยาวกว่า 1 ปี กลับกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่ส่งผลต่อชีวิตและอนาคตของเด็กคนหนึ่งที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศ
แม้แนวทางการปิดโรงเรียนจะช่วยสกัดกั้นการแพร่ระบาดและลดอัตราการติดเชื้อในหมู่เด็กและเยาวชน รวมถึงลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อในหมู่ผู้ใหญ่ได้ แต่กลับมีรัฐบาลเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่คำนึงถึงผลกระทบ ต้นทุนความเสียหาย และความเสี่ยงจากการปิดโรงเรียน ขณะที่หลายประเทศเลือกที่จะปิดโรงเรียนต่อไป แต่กลับอนุญาตให้บาร์และร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการ
รายงานระบุว่า ผลลัพธ์ของการปิดโรงเรียนเป็นเวลานานทำให้สมองของเด็กไม่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการตามที่ควรจะเป็น โดยระบุถึงเด็กนักเรียนประถมในอังกฤษมีระดับความรู้ล้าหลังไปถึง 3 เดือนจากระดับปกติที่ควรจะเป็น ส่วนเด็กในเอธิโอเปียเรียนได้น้อยกว่าปกติถึง 60 – 70% ขณะที่มากกว่าครึ่งของเด็กอายุ 10 ปีในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถอ่านบทความขนาดสั้นที่ไม่ซับซ้อนได้
ธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกมาเตือนว่า ปัญหาการอ่านของเด็ก อาจขยายเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ใน 3 ของนักเรียนในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ขณะที่ในประเทศต่าง ๆ ที่เลือกใช้มาตรการปิดโรงเรียนจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ระหว่างเด็กที่มีพร้อม (มีไอแพด, มีอินเทอร์เน็ต, มีห้องนอนส่วนตัวสำหรับเรียนทางไกล) กับเด็กที่ขาดแคลน (ไม่มีความพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์) มีช่องว่างเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กลับมองว่า ภาวะชะงักงันที่โรงเรียนต้องเผชิญ อาจเป็นโอกาสดีที่จะได้ยกระดับปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของแต่ละประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากบรรดานักการศึกษาต่างต้องคิดหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เด็กสามารถเรียนหนังสือได้อย่างมีศักยภาพและพัฒนาได้เต็มขีดความสามารถภายใต้บริบทปัจจุบัน
สำหรับประเทศที่ร่ำรวย รัฐบาลหลายประเทศได้จัดสรรงบประมาณไปยังกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อจัดให้มีการสอนเสริม หรือการเรียนพิเศษแบบติวตัวต่อตัว หรือแบบกลุ่มเล็ก และมีครูดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่ในส่วนของประเทศยากจนเลือกการปรับหลักสูตรไม่ให้แน่นจนเกินไป รวมถึงเปิดทางให้ครูสามารถลดเนื้อหาในหนังสือแบบเรียนเพื่อใช้เวลาส่วนใหญ่สอนความรู้พื้นฐานอย่างการอ่านและการคิดคำนวณ
ขณะเดียวกัน บรรดาครูต้องเพิ่มทักษะการสอนทางไกลและการสอนออนไลน์เพื่อปรับปรุงแนวทางการสอนของตน โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการนำซอฟต์แวร์เข้ามาใช้ในการสอน เพื่อช่วยให้ห้องเรียนมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เด็กนักเรียนได้รับมอบหมายบทเรียนที่เหมาะสมกับขีดความสามารถของตนเอง ส่วนครูได้รับการแบ่งเบาภาระจากงานที่ไม่เกี่ยวกับการสอน เช่น การให้คะแนน ทำให้ครูมีเวลาเพิ่มขึ้นในการดูแลเด็กที่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการเรียนมากที่สุด
นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ยังเน้นย้ำให้เห็นว่าครอบครัวเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนออนไลน์ ในครอบครัวที่เด็กๆ ได้กินอิ่มท้อง มีพ่อแม่คอยสนับสนุน มีหนังสือให้อ่านเต็มบ้าน ถือเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของเด็ก เมื่อเวลานี้บ้านได้กลายมาเป็นห้องเรียนไปแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา นักสังคมสงเคราะห์ได้เร่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส อาทิ จัดหาแว่นสายตาให้เด็กสามารถอ่านหนังสือได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือให้ความช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองเรื่องงานเอกสาร และในการส่งการบ้านของลูก ขณะที่บางโรงเรียนขยายขอบเขตให้บริการรับปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต และสร้างช่องทางให้เด็กๆ เข้าถึงหน่วยงานที่ช่วยป้อมปรามปัญหาความรุนแรงในบ้านได้
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่มีรัฐบาลทั่วโลกเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สามารถดำเนินมาตรการเพื่อชดเชยความรู้ที่สูญหายของเด็กในช่วงเวลาที่โรงเรียนปิด แถมผลการสำรวจพบว่าปีที่ผ่านมามีเพียง 2% ของงบประมาณบรรเทาเยียวยาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งถึงภาคการศึกษา ขณะที่สหประชาชาติ (UN) พบว่า ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา มีเพียง 1 ใน 4 ของเด็กนักเรียนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงโครงการช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐจัดสรรไว้ให้
ทั้งนี้ ปีหน้ารัฐบาลอังกฤษมีแผนด้านงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนได้ติวพิเศษ แต่ก็ยังเป็นงบที่น้อยกว่าเงินอุดหนุนของรัฐที่ให้กับครัวเรือนในการซื้ออาหารราคาพิเศษเป็นระยะเวลา 1 เดือน ขณะที่สถานการณ์ในสหรัฐฯ ดีกว่าเล็กน้อย เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจัดสรรงบพิเศษเพิ่มเติมช่วยเด็กนักเรียนได้ติวพิเศษกับติวเตอร์มืออาชีพ แต่สัดส่วนของงบประมาณที่สหรัฐฯ จัดสรรมาให้นี้กลับเป็นเงินพิเศษเพียง 20% เท่านั้น แถมเงินส่วนนี้ยังถูกใช้ไปกับการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับอนามัยและความสะอาด เพื่อสกัดกั้นการแพร่เชื้อ รวมถึงแผงกั้นพลาสติกระหว่างโต๊ะนักเรียน ที่ทำให้มองเห็นกระดานได้ยากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น สหประชาชาติรายงานว่า หากหลายประเทศยังตกอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ จำนวน 2 ใน 3 ของประเทศยากจนทั่วโลกเลือกหั่นงบประมาณทางการศึกษาก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งตามปกติแล้ว ประเทศยากจนเหล่านี้มีงบทางการศึกษาอยู่ในระดับที่ต่ำและไม่เพียงพออยู่แล้ว กล่าวคือ ประเทศยากจนใช้เงิน 48 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,527 บาท) ต่อปีสำหรับเด็กหนึ่งคน ส่วนประเทศร่ำรวยใช้ 8,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 270,461 บาท) ต่อปีสำหรับเด็กหนึ่งคนโดยประมาณ
อีกทั้งสถานการณ์การศึกษาในประเทศยากจนมีแนวโน้มย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เมื่อยูเอ็นคาดการณ์ว่าความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศหรือรัฐบาลต่างชาติเพื่อการศึกษาจะลดลง 12% ระหว่างปี 2018 – 2022 (สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19)
ทั้งนี้ เป็นเรื่องน่าเศร้าที่รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกมักเลือกที่จะละเลยประเด็นด้านการศึกษา หรือให้ความสำคัญเป็นลำดับท้ายๆ ทั้งๆ ที่การยกระดับการศึกษาหรือการพัฒนาโรงเรียนเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์กับบรรดานักการเมืองและรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การศึกษาคือสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับชีวิตของทุกคน เพราะไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงอนาคตที่ดีในวันหน้าได้เท่ากับการได้รับการศึกษาที่ดี ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลนานาประเทศควรยกระดับและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากการปิดโรงเรียนเป็นเวลานานเพราะการระบาดของโควิด-19 และหากเป็นไปได้ รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ เร่งปฏิรูประบบการเรียนให้มีคุณภาพ และเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด
ที่มา : Closing the world’s schools caused children great harm