ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระดับโลกให้คำแนะนำถึงบรรดาโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ ว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในยุคโควิด-19 ไม่ใช่เพียงแค่การฟื้นฟูกอบกู้สถานการณ์การศึกษาที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักเพราะการระบาดของโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังต้องคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น พร้อมหยิบยก 3 บทเรียนสำคัญจากบรรดาโรงเรียนหัวก้าวหน้าที่ประสบความสำเร็จในการนำนวัตกรรมมาใช้คิดค้นแนวทางใหม่ๆ เพื่อฟันฝ่าวิกฤตการศึกษา
เมื่อไม่นานมานี้ สามผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาชั้นนำในสหรัฐอเมริกา อย่างเจนนี่ เคอร์ติน (Jenny Curtin) เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสด้านการศึกษาที่มูลนิธิบารร์ (Barr) พร้อมด้วยเมลานี ดุ๊คส์ (Melanie Dukes) เจ้าหน้าที่อาวุโสของโครงการ Overdeck Family Foundation และ แซสเกีย เลวี ธอมป์สัน (Saskia Levy Thompson) ผู้อำนวยการโครงการการออกแบบเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนที่ Carnegie Corporation ในนครนิวยอร์ก ได้เผยแพร่บทความสรุป 3 บทเรียนสำคัญของการนำนวัตกรรมมาใช้เป็นทางออกของวิกฤตการศึกษาที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างเผชิญอยู่ในเวลานี้ ซึ่งเนื้อหาในบทความได้เอ่ยถึงข้อเสนอแนะที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
บทความระบุว่า ในฐานะนักการศึกษาซึ่งต้องทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่คาดเดาอะไรไม่ได้ สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือการพึ่งพาการคิดค้นใหม่ๆ ทั้งนี้โควิด-19 ทำให้โรงเรียนและระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ส่งผลให้ครู นักเรียน และครอบครัว ต้องพัฒนาวิธีการสอนและการเรียนรู้แบบใหม่ โดยโรงเรียนหลายแห่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นวัตกรรมสามารถช่วยให้โรงเรียนเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและบรรลุผลสำเร็จได้เกินกว่าหรือมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ขณะเดียวกัน วิธีการเรียนแบบเก่าที่หลายคนคุ้นเคยได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีเด็กที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังมากเกินไป ดังนั้น ท่ามกลางช่วงเวลาที่นานาประเทศยังคงเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาทั่วโลกจึงควรคว้าโอกาสนี้ไว้เพื่อพัฒนาแนวทางเพิ่มศักยภาพนักเรียนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เคยถูกกีดกันในอดีต เช่น กลุ่มนักเรียนผิวสี
นักขับเคลื่อนเพื่อการศึกษาทั้งสามคนได้หยิบยกโครงการ Canopy Project ซึ่งมูลนิธิของทั้งสามให้การสนับสนุน โดยโครงการ Canopy Project ได้ทำการติดตามโรงเรียนหลายร้อยแห่งทั่วสหรัฐฯ ว่ามีการปรับตัวและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้างทั้งสามพบว่า โรงเรียนเหล่านี้ปรับตัวโดยเน้นรูปแบบที่วางนักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ นวัตกรรมการเรียนการสอนที่โรงเรียนเหล่านี้พัฒนาขึ้นถือว่ามีศักยภาพในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ฝังรากลึกยาวนานในอเมริกา โดยนักการศึกษาทั้งสามท่านได้ยกตัวอย่างนวัตกรรมบางส่วนจากโรงเรียนของรัฐในนิวยอร์ก, แมสซาชูเซตส์, วอชิงตัน ดี.ซี., เมน, คอนเนตทิคัต, และนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งสามารถสรุปเป็น 3 บทเรียนสำคัญได้ดังนี้
1) ปรับปรุงการสื่อสารและผนึกกำลังร่วมกับครอบครัว (Strengthening communication and partnership with families)
ในช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐฯ ได้ปรับปรุงการสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างครูและครอบครัวของนักเรียน โดยที่โรงเรียนประถม Concourse Village Elementary School ในเมืองบรอนซ์ รัฐนิวยอร์กนั้น ได้หันมาสื่อสารกับครอบครัวเด็กนักเรียนโดยเน้นเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ทำให้ยังมีการสื่อสารระหว่างกัน แต่ไม่บ่อยเกินไปจนรบกวนเวลาพ่อแม่ผู้ปกครอง
การพูดคุยจะเริ่มจากขั้นแรกคือ โรงเรียนทำแบบสำรวจทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกสัปดาห์เพื่อตรวจสอบกับครอบครัวเด็กว่าต้องการความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีอะไร จากนั้นจึงเพิ่มประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพจิต ความมั่นคงด้านอาหาร และประเด็นอื่นๆ ซึ่งทำให้ครอบครัวเด็กสามารถอัพเดตข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 ขอความช่วยเหลือด้านอาหารและเครื่องมือสื่อสาร หรือแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ กับทางโรงเรียนได้ทันท่วงที
ครั้นพอช่วงฤดูใบไม้ร่วง ทางเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนจะเริ่มนำข้อมูลจากแบบสำรวจก่อนหน้ามาออกแบบแผนการสื่อสารกับครอบครัวนักเรียนให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น จัดทำการสำรวจรายเดือน การโทรศัพท์ติดตามผลเป็นประจำ และอัพเดตความเป็นอยู่ผ่านวิดีโอคอล เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่โรงเรียนเข้าใจสถานการณ์ของครอบครัวได้ดีขึ้นมาก และช่วยให้ครอบครัวรู้สึกได้รับการให้เกียรติและการดูแล อันจะช่วยลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กนักเรียน
ด้านโรงเรียนมัธยม Uxbridge ในแมสซาชูเซตส์ ได้สำรวจและพบสถิติว่า ในช่วงที่ผ่านมาเด็กนักเรียนมีผลการเรียนรู้ที่แย่ลงจนน่ากังวล ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่ต้องเรียนทางไกลช่วงโควิด-19 ระบาด จากสถิติอันน่ากังวลนี้เอง ทำให้ทางโรงเรียนเร่งสร้างระบบสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง โดยตัวอย่างที่เกิดขึ้นก็เช่น มีการประชุมรายบุคคลระหว่างครู นักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษา และครอบครัว เพื่อร่วมวางกลยุทธ์ช่วยเหลือดูแลเด็กนักเรียนที่มีปัญหาโดยเฉพาะ ทั้งนี้การใช้วิดีโอคอลพูดคุยกันช่วยให้ครูยังสื่อสารกับครอบครัวและเด็กได้แม้ในภาวะโรคระบาด โดยสุดท้ายแล้ว โรงเรียนมัธยม Uxbridge คาดหวังว่า แผนกลยุทธ์สนับสนุนต่างๆ รวมถึงความช่วยเหลือที่ออกมาเพื่ออุดช่องว่างการเรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยส่งเสริมนักเรียนให้เรียนรู้ได้รุดหน้าและเท่าเทียมมากขึ้น
นอกจากนี้ การเรียนการสอนทางไกลที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้บรรดาผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสถาบันเทคโนโลยี Northeast Academy for Aerospace and Advanced Technologies ในเมืองเอลิซาเบธซิตี รัฐนอร์ทแคโรไลนา ได้เริ่มตระหนักว่า การวัดผลการเรียนแบบให้เกรด A ถึง F แบบเดิมไม่ช่วยสะท้อนผลลัพธ์ที่แท้จริงว่าเด็กได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง ดังนั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงการประเมินผลให้สะท้อนผลการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น นักวิจัยและนักการศึกษาในสถาบันจึงเริ่มพัฒนารูปแบบการวัดผลแบบใหม่ ซึ่งล่าสุดทางสถาบันได้เปลี่ยนมาใช้ระบบการให้คะแนนแบบอิงมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยวัดเป้าหมายการเรียนรู้ได้ชัดเจนขึ้น ทั้งยังช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าบุตรหลานของตนเก่งหรือถนัดด้านไหนอีกด้วย
2) ออกแบบกระบวนการสนับสนุนให้ตรงกับความต้องการของเด็กแต่ละคนเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสที่พวกเขาแสวงหา (Personalizing supports to ensure all students get the opportunity they need)
เพราะตระหนักว่า นักเรียนแต่ละคนและครอบครัวของพวกเขาอาจมีความต้องการที่แตกต่างกันไป ทางโรงเรียนมัธยม Anacostia High School ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จึงทำการขยายโครงการ Dream Team ให้ครอบคลุมเด็กทุกระดับชั้นในโรงเรียน จากเดิมที่โครงการนี้อนุญาตให้เฉพาะเด็กมัธยมปีที่ 3 เข้าร่วมเท่านั้น รูปแบบของโครงการ Dream Team คือ การให้บุคลากรในโรงเรียนจับคู่เป็นคู่หูกับเด็กๆ โดยคอยดูแลและรับผิดชอบพัฒนาการและการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน ซึ่งทำให้เด็กและครอบครัวรู้สึกมีที่พึ่งพา เมื่อผู้ปกครองมีเรื่องต้องสอบถาม ก็สามารถสอบถามบุคลากรหรือคู่หูนักเรียนได้โดยตรง ผลของโครงการนี้ทำให้บุคลากรทุกคน รวมถึงผู้อำนวยการ (หรือครูใหญ่) ต้องลุกมาจับคู่กับนักเรียน ทั้งยังทำให้บุคลากรในโรงเรียนได้มีโอกาสผูกมิตรและสร้างสัมพันธภาพที่เปี่ยมความหมายกับนักเรียนแต่ละคนอีกด้วย
ขณะที่โรงเรียนมัธยม Common Ground High School ในนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต ก็ไม่น้อยหน้า ได้มีการรับฟังเสียงสะท้อนนักเรียน จนต่อมาพัฒนาเป็นโครงการ “What you need Wednesdays” โดยทุกวันพุธ โรงเรียนจะเปิดพื้นที่ให้นักเรียนทำกิจกรรมต่างๆ ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดอกพูดคุยตัวต่อตัวกับครู การทำกิจกรรมกลุ่มขนาดเล็กร่วมกับเพื่อนๆ การล้อมวงพูดคุยและปรึกษากับนักเรียนคนอื่นๆ รวมไปถึงการคุยเล่น ผ่อนคลาย และร่วมทำกิจกรรมที่ช่วยเติมพลังให้แก่กัน เป็นต้น โดยโครงการที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนความมุ่งมั่นของโรงเรียน Common Ground ที่อยากรับฟังเสียงสะท้อนของเด็กๆ ส่งเสริมคณะตัวแทนนักเรียน รวมถึงจัดหาทุนการศึกษาที่เหมาะกับความต้องการและความสนใจของเด็กในโรงเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนวัตกรรมและเปลี่ยนแปลงที่สถานศึกษาแห่งนี้พยายามจัดทำขึ้น
3) ขยายแนวคิดว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ไม่จำกัดสถานที่ (Expanding the idea of where learning can happen)
ตลอดช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้นักเรียนทั่วสหรัฐฯ ต้องปรับรูปแบบการเรียนรู้ไปเป็นแบบทางไกลหรือออนไลน์ ซึ่งนับเป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่สำหรับหลายคน ซึ่งแม้ว่าประสบการณ์การเรียนออนไลน์จำนวนมากจะให้ผลลัพธ์ที่ต่ำกว่าที่คาดหวังกันไว้ แต่อย่างน้อยการเรียนออนไลน์ก็ช่วยจุดประกายแนวคิดใหม่ๆ และช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกกรอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่การศึกษาแบบดั้งเดิมไม่เคยมอบให้มาก่อนหน้านี้
ยกตัวอย่างกรณีของโรงเรียน Chelsea Opportunity Academy ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่นักเรียนของโรงเรียนมากกว่าครึ่งต้องรับภาระทำงานเต็มเวลาเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัวในช่วงการระบาดใหญ่ เมื่อนักเรียนต้องออกไปทำงาน ทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการสำเร็จการศึกษา จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทางโรงเรียนตัดสินใจปรับระบบใหม่ โดยให้นักเรียนเก็บหน่วยกิตวิชาเรียนต่างๆ ผ่านการทำงานได้ โดยนักเรียนต้องแสดงให้ครูและโรงเรียนเห็นว่าพวกเขาได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะสำคัญผ่านงานที่กำลังรับผิดชอบอยู่
ด้านโรงเรียนมัธยม Nokomis High School ในรัฐเมน (Maine) พบว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้มุมมองของนักเรียนและครอบครัวที่ต้องการจากโรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยนักเรียนและครอบครัวต้องการความรู้และทักษะสำหรับโลกอนาคต ดังนั้นโรงเรียนจึงริเริ่มหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะอาชีพที่สอดรับกับโลกดิจิทัล ซึ่งหลักสูตรการพัฒนาอาชีพเหล่านี้ถือว่าเปิดประตูอีกบานให้แก่เด็กๆ จากโรงเรียนแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชนบท
นอกจากนี้ ทางโรงเรียน Nokomis High School ยังปรับหลักสูตรให้นักเรียนชั้น ม.5 (ซึ่งกำลังจะขึ้น ม.6) สามารถเก็บหน่วยกิตวิชาภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียนได้ โดยตลอดการเรียนรู้นอกชั้นเรียนนั้นหากนักเรียนติดขัดอันใดโรงเรียนก็มีเจ้าหน้าที่หรือระบบคอยช่วยดูแลทั้งกายและใจ จากการปรับเปลี่ยนนี้ ทำให้นักเรียนเกินครึ่งเลือกที่จะเรียนรู้วิชาอังกฤษนอกชั้นเรียน
นักวิชาการด้านการศึกษาทั้งสามรายสรุปว่า ตัวอย่างแนวทางปฏิบัติของโรงเรียนในสหรัฐฯ ที่หยิบยกมาทั้งหมดนี้ อาจริเริ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ผลลัพธ์กลับมีประสิทธิภาพและสามารถนำใช้ได้ในทุกบริบทนับจากนี้