บรรดานักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษาและการสอนของอินเดียทั่วประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาสามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติ แม้จะยังมีการระบาดของโควิด-19 อยู่ก็ตาม โดยแนะให้พิจารณาแนวทางการเปิดโรงเรียนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ ก่อนเตือนว่า การที่ปล่อยให้เด็กนักเรียนประถมกว่าหลายล้านคนทั่วอินเดียไม่ได้ไปเรียนหนังสือนานมากกว่า 1 ปี จะส่งผลให้ทักษะการอ่านออกเขียนได้ของเด็กถดถอย และทำให้ความพยายามผลักดันปฏิรูประบบคุณภาพทางการศึกษาเพื่อความก้าวหน้าของเด็กอินเดียในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมากลายเป็นความสูญเปล่า
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์ จัดทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์การศึกษาของอินเดียในช่วงเวลานี้ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโควิด-19 โดยได้รวบรวมความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่มีต่อมาตรการ นโยบาย และแนวทางการศึกษาที่รัฐบาลอินเดียกำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่า ควรยินยอมให้โรงเรียนประถมศึกษาเปิดทำการสอนได้แล้ว
คำแนะนำครั้งนี้มีขึ้นหลังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอินเดียเริ่มทยอยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้หลายพื้นที่เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดทางให้ธุรกิจ ร้านค้า และร้านอาหารต่างๆ กลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง แต่ว่า เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาทั่วอินเดียจำนวนมากหลายสิบล้านคนกลับยังไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้นับตั้งแต่ที่โรงเรียนปิดทำการในเดือนมีนาคม ปี 2020
แม้ว่าโรงเรียนในระดับมัธยมและสถาบันระดับอุดมศึกษาจะค่อยๆ ทยอยเปิดตัวบ้างแล้วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่โรงเรียนประถมในหลายสิบรัฐของอินเดีย รวมถึงเมืองใหญ่อย่างนครมุมไบและกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ กลับยังไม่อาจเปิดโรงเรียนต้อนรับให้เด็กๆ กลับมาเรียนหนังสือที่ห้องเรียนได้ จนผู้เชี่ยวชาญหวั่นใจว่า การเรียนที่ชะงักไปนานจะส่งผลเสียต่อความพยายามในการเพิ่มอัตราการอ่านออกเขียนได้ของประเทศในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ในการสำรวจสำมะโนประชากรอินเดียที่จัดทำล่าสุดเมื่อปี 2011 พบว่า อัตราการอ่านออกเขียนได้ของประชากรอินเดียขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่า 73% เมื่อเทียบกับช่วง 20 ปีก่อนหน้า โดยที่อัตราอ่านออกเขียนได้ในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงช่องว่างการศึกษาระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงของแคบลง แสดงให้เห็นความสำเร็จของรัฐบาลอินเดียในการปฏิรูปการศึกษาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาแบบถ้วนหน้าได้
อย่างไรก็ตาม การศึกษาหลายฉบับเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ยิ่งโรงเรียนถูกสั่งปิดนานมากขึ้น ก็ยิ่งสร้างความเสียหายทางการเรียนรู้ให้แก่เด็กเรียน โดยเฉพาะเด็กที่อาศัยอยู่ในชนบทห่างไกล และในชุมชนยากจนด้อยโอกาสของสังคม ซึ่งในสถานการณ์ปกติก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเรียนหนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาในพื้นที่ 15 รัฐทั่วอินเดีย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนเกือบ 1,400 คน ที่มีฐานะยากจนและเรียนอยู่ในโรงเรียนรัฐ พบว่า 37% ของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมต้นในชนบทไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ขณะที่เกือบ 50% แม้จะมีโอกาสได้เรียน แต่ก็มีทักษะการอ่านที่จำกัด โดยอ่านออกเพียงไม่กี่คำเท่านั้น
รีติกา เขรา (Reetika Khera) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีอินเดีย (Indian Institute of Technology) ในกรุงนิวเดลี ซึ่งช่วยจัดทำการสำรวจข้างต้น กล่าวว่า “ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเด็กอินเดียรุ่นนี้เสี่ยงต้องเจอภาวะไม่รู้หนังสือ ซึ่งความเสี่ยงจะร้ายแรงกว่านี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัวและมีมาตรการออกมาแก้ไขหรือเปล่า”
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเผยให้เห็นถึงอุปสรรคด้านการเรียนรู้ที่เด็กอินเดียต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็น การไม่มีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเอง เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้ รวมถึงเข้าไม่ถึงสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ที่คุณครูแชร์มา ขณะที่พ่อแม่ของเด็กๆ จำนวนมากล้วนเรียนไม่จบ จึงไม่อาจช่วยลูกๆ ในการเรียนออนไลน์ได้ ทั้งนี้ในงานวิจัยสำรวจอื่นๆ ก็สะท้อนผลลัพธ์ที่น่าวิตกใกล้เคียงกันนี้ด้วย
จักรเดช ภูยัน (Jagdev Bhuiyan) คุณพ่อลูกสองวัย 32 ปี อาชีพรับจ้างรายวัน กล่าวว่า โควิด-19 ไม่เพียงทำให้ตนขาดรายได้เท่านั้น แต่ยังทำให้อนาคตของลูกๆ มืดมนด้วย เนื่องจากในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา แม้ลูกจะพยายามเข้าเรียนออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ แต่สมาร์ทโฟนที่มีเพียงเครื่องเดียว และสัญญาณเน็ตที่กระท่อนกระแท่นก็ทำให้ลูกของตนแทบไม่เหลือความรู้ในหัวเลย
แน่นอนว่า อินเดียไม่ได้เป็นเพียงชาติเดียวที่เด็กประถมยังไม่ได้ไปโรงเรียน มีหลายประเทศที่เผชิญปัญหาเดียวกัน เช่น ฟิลิปปินส์ ซึ่งรัฐบาลตัดสินใจขยายระยะเวลาปิดโรงเรียนออกไป และเพิ่งจะอนุมัติโครงการนำร่องทดสอบการเปิดโรงเรียน 120 แห่งในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนเวเนซุเอลาตัดสินใจใช้การเรียนการสอนออนไลน์ต่อไป
แม้อินเดียจะมีการเรียนการสอนออนไลน์มารองรับ แต่นักการศึกษาก็เตือนว่า ความยากในการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ที่ทำให้การเรียนของเด็กไม่คืบหน้าจะกลายเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่จะผลักให้เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน เมื่อเด็กกลับมาเรียนที่ห้องเรียนอีกครั้งแล้วพบว่าตนเองเรียนไม่ทันเพื่อนหรือตามบทเรียนไม่ทัน
โดยการสำรวจของฌอน เดรซ (Jean Drèze) นักเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนากล่าวว่า ในปี 2011 อัตราอ่านออกเขียนได้ของเด็กอินเดียในพื้นที่ชนบท ช่วงอายุระหว่าง 8-12 ปี อยู่ที่ 88% และมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ทว่าการสำรวจล่าสุดกลับพบว่าตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 53% เท่านั้น ถือเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงของระบบการศึกษาของอินเดีย
“เด็กหลายล้านคนในอินเดียกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกไล่ออกจากการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา แม้ว่าพวกเขาจะลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนแล้วก็ตาม หากเด็กเหล่านี้หลุดจากระบบการศึกษาอาจส่งผลให้พวกเขาต้องจำยอมทำงานใช้แรงงานและไร้อำนาจต่อรองในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าการสูญเสียการเรียนรู้สามารถฟื้นกลับคืนมาได้ โดย กฤษณะ กุมาร์ (Krishna Kumar) นักวิชาการด้านการศึกษากล่าวกับนิตยสาร Frontline ว่าความสามารถของเด็กที่ลดลงนั้นไม่น่าแปลกใจ และต้องจำไว้ว่าความสามารถจะฟื้นคืนกลับมาและค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้นได้หากได้รับการฟื้นฟูเยียวยาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
ความเห็นดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย แต่เหล่านักเคลื่อนไหวก็ออกมาเตือนว่า การฟื้นฟูดังกล่าวอาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ครอบครัวยากจนเผชิญปัญหาปากท้อง ทำให้ลูกหลานถูกบีบให้ออกมาช่วยงาน กลายเป็นแรงงานเด็ก ส่วนเด็กผู้หญิงอาจถูกบีบให้ต้องแต่งงานก่อนวัยอันควร ดังนั้น การเร่งเปิดโรงเรียนให้เด็กกลับมาเรียนได้เร็วที่สุดจึงถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่อย่างน้อยก็ช่วยให้เด็กมีพื้นที่ปลอดภัย และไม่ทำให้ความรู้ของเด็กหล่นหายไปมากกว่านี้
นอกจากการจัดสรรงบประมาณและมาตรการเปิดโรงเรียนในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยอิงต้นแบบจากประเทศพัฒนา เช่น สหรัฐฯ แล้ว รัฐบาลท้องถิ่นของอินเดียหลายรัฐยังร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ที่จัดทำโครงการครูฝึกสอนสำหรับเด็กนอกระบบในหมู่บ้านห่างไกลในรัฐโอริสสา (Odisha) ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดีย
จากาดิช ฮาริจัน (Jagadish Harijan) หนึ่งในทีมครูผู้ฝึกสอนวิชาการอ่านและการเขียนเบื้องต้นวัย 25 ปี พบว่า เกินครึ่งของเด็กนักเรียนวัย 7 ขวบจำนวนราว 40 คนในความรับผิดชอบของตนสูญเสียความรู้เดิมและจดจำตัวอักษรแทบไม่ได้แล้ว ทำให้ตนเองต้องจัดแบบฝึกหัดให้ทำทุกๆ วันอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากฝึกฝนเด็กอย่างนี้นับแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ครูหนุ่มพบว่าทักษะการอ่านและเขียนของเด็กๆ คล่องแคล่วและดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
ขณะที่ในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) รัฐใหญ่ทางตะวันตกของอินเดีย ก็จัดให้มีคอร์สเรียนพิเศษทบทวนหลักสูตรให้กับนักเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเลื่อนระดับชั้นต่อไปในปีการศึกษาหน้า
จัสมิน อาลี เฮก (Yasmin Ali Haque) ตัวแทนยูนิเซฟประจำอินเดีย ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ออกโรงเตือนว่า บรรดามาตรการที่ดำเนินการอยู่ในอินเดียขณะนี้ยังไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องได้รับการลงทุนมากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลจำเป็นต้องจัดหาเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเรียนรู้ทางไกล นอกเหนือจากการฝึกอบรมครูและการเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัย และต้องทำทันที อย่ารีรออีกต่อไป