ท่ามกลางสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในภูมิภาคยุโรปที่เริ่มคลี่คลาย เห็นได้จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดพรมแดนให้ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น โดยเป็นผลจากการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งกลับออกโรงเตือนว่า แม้สังคมและเศรษฐกิจกำลังค่อยๆ ฟื้นคืนสู่ปกติ แต่ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ยังไม่จบ แถมยังได้ทิ้งรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ไว้กับวัยรุ่นทั่วยุโรป ซึ่งรอยแผลเป็นดังกล่าวมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบในเชิงลึกและในระยะยาวต่อวัยรุ่นกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทั่วยุโรปไม่อาจประเมินค่าความสูญเสียในครั้งนี้ได้
หลายเดือนหลังจากที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วกรุงปารีสของฝรั่งเศสต้องปิดให้บริการอย่างไม่มีกำหนด ในที่สุดสถาบันการศึกษาเหล่านี้ก็สามารถกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดภาคเรียนฤดูร้อนพอดิบพอดี
ภาพนักเรียนนักศึกษาภายในห้องเรียนเริ่มกลับมาให้เห็นได้อีกครั้ง แม้ว่าจะกลับมาเรียนในช่วงไม่กี่วันก่อนการสอบไฟนอล แต่ คาทาริซนา แมค (Katarzyna Mac) นักศึกษามหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne University) ในฝรั่งเศส ยอมรับว่า การได้กลับมานั่งคร่ำเคร่งอ่านหนังสือในห้องเรียนยังดีกว่าการนั่งเรียนหน้าจอคอมพิวเตอร์จากที่บ้านของตนเอง
ทั้งนี้ เกือบทั้งเทอมที่ผ่านมา แมคก็เหมือนกับนักเรียนนักศึกษารายอื่นๆ ทั่วฝรั่งเศสที่ต้องนั่งเรียนหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นอะไรที่ยาก เครียด และกดดันอย่างมาก กับการนั่งหน้าคอมพ์คนเดียวเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ภาวะเครียดและกดดันดังกล่าวที่วัยรุ่นต้องเผชิญจากการล็อกดาวน์เป็นหนึ่งในปัญหาที่อาจซ้ำเติมสภาวะจิตใจที่เปราะบางอยู่แล้วของบรรดาวัยรุ่นวัยเรียน เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริบท ปัจจัย และเงื่อนไขในชีวิตของเด็กๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยวัยรุ่นบางคนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจ
ความหวาดหวั่น ความไม่แน่นอน ความอ่อนล้า ความหิวโหย มีแนวโน้มสั่งสมจนผลักให้เด็กและเยาวชนในรุ่นนี้ก้าวเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้ง่าย หรือในกรณีที่ยังไม่ถึงขั้นซึมเศร้า แต่ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ก็เป็นบาดแผลใหญ่ที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้
ทั้งนี้ ผลการสำรวจศึกษาของสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปพบว่า การที่หลายธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม ร้านอาหาร และการบริการต้องปิดชั่วคราว หรือเลิกกิจการไป ทำให้ตำแหน่งงานหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานในอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะร้านอาหาร ถือเป็นแหล่งรายได้หลักของวัยรุ่นทั่วยุโรป
สหภาพยุโรป (อียู) ประเมินว่า ขณะนี้มีประชาชนอายุต่ำกว่า 25 ปี ตกงานแล้วมากกว่า 17% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยว่างงานของอียูถึง 2 เท่า โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการชี้ให้เห็นว่า วัยรุ่นที่อยู่ในฐานะยากจนและไร้บ้านกำลังขยับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากนี้
ซาราห์ คูเปชู (Sarah Coupechoux) หัวหน้ามูลนิธิ Abbe Pierre Foundation ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหาผลกำไรในฝรั่งเศส กล่าวว่า นอกจากกลุ่มเด็ก กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงวัยแล้ว กลุ่มวัยรุ่นถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นกัน โดยทุกวันนี้เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้พยายามดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างหนัก เพราะไม่มีทั้งเงินและบ้านให้พักพิง
ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า วัยรุ่นกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เรียนจบมัธยมปลายเรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะหางานทำเพื่อเป็นทุนในการเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วยตนเอง ซึ่งวัยรุ่นวัยนี้มักจะย้ายออกมาจากบ้านพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อมาเริ่มต้นใช้ชีวิตอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง และเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย แต่สถานการณ์โควิด-19 กลับผลักให้วัยรุ่นกลุ่มนี้กลายเป็นวัยรุ่นยากจนในทันที เพราะไม่มีงานทำ และพอไม่มีงานทำก็ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าเช่า จนต้องออกมาระเหเร่ร่อนในเมือง โดยมีรายงานขององค์กรการกุศลแห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า วัยรุ่นทั่วยุโรปกำลังประสบปัญหากับการมองหาหอพักหรืออพาร์ตเมนต์ในราคาย่อมเยา
ในกรณีของแมคก็ไม่ต่างจากวัยรุ่นคนอื่นๆ ทั่วยุโรป ที่กำลังอยู่ในสถานะ “จน” แต่แมคก็โชคดีที่สามารถหาอพาร์ตเมนต์ราคาถูกย่านชานกรุงปารีส ที่เตรียมไว้สำหรับรองรับนักศึกษาและแรงงานในและแวกใกล้เคียง โดยห้องมีขนาดกะทัดรัดพอที่จะบรรจุเตียง โต๊ะ และห้องครัวขนาดเล็ก ตลอดจนตู้เย็นที่ภายในค่อนข้างโล่งเปล่า
แม้จะมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลที่จัดส่งให้กับนักศึกษาโดยเฉพาะ บวกกับสวัสดิการอื่นๆ แมคยอมรับว่าจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะอยู่ต่อไปได้ และการขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ก็ไม่อาจทำได้ เพราะพ่อแม่ก็แทบจะเอาตัวไม่รอดเช่นกัน
รายงานระบุว่า สภาพแวดล้อมกดดันที่นักศึกษาอย่างแมคต้องเผชิญทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
ยังไม่นับรวมปัญหาด้านการเรียนจากการเรียนออนไลน์สำหรับวัยรุ่นที่ครอบครัวยากจนอยู่แล้ว เนื่องจากไม่มีคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และเข้าไม่ถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต
แน่นอนว่า ช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง กล่าวว่า ได้ออกมาตรการมูลค่าหลายพันล้านยูโรเพื่อช่วยให้วัยรุ่นมีงานทำ ได้รับการฝึกอบรมทักษะ และได้เรียนต่อตามความต้องการของตนเอง ขณะเดียวกันก็ให้ปรับปรุงโรงอาหารเพื่อให้พ่อครัวแม่ครัวจัดทำข้าวกล่องราคาถูก พร้อมให้คำมั่นที่จะช่วยเหลือวัยรุ่นเหล่านี้ต่อสู้กับความยากจน
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เชี่ยวชาญอย่างคูเปชูรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการมากกว่าที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน ครอบคลุมตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับท้องถิ่น ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการเปิดช่องทางให้สามารถเข้าถึงวัยรุ่นกลุ่มนี้ให้ได้
คูเปชูสรุปว่า วัยรุ่นเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือในด้านที่จะมุ่งการเยียวยาสภาพจิตใจที่ต้องเผชิญปัญหารุมเร้า ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามและส่งผลเสียหายต่อบุคคลที่กำลังจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต และรัฐบาลต้องเร่งวางแนวทางให้เร็วที่สุด หลังจำนวนผู้ติดเชื้อในภูมิภาคยุโรปขยับกลับมาเพิ่มจำนวนขึ้นอีกครั้ง