องค์กรกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (Unicef) เผยผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อการศึกษาของเด็กนักเรียนทั่วโลกล่าสุด โดยพบว่า ยังมีโรงเรียนอีกอย่างน้อยใน 23 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงปิดโรงเรียน หรือเปิดโรงเรียนได้บางเวลา ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางการเรียนรู้และระดับการศึกษาของเด็กวัยเรียนถึง 405 ล้านคนทั่วโลก ขณะเดียวกัน โรงเรียนในบางประเทศที่เปิดแล้ว เด็กยากจน โดยเฉพาะเด็กหญิง เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากเด็กนักเรียนหญิงยากจนเหล่านี้ แม้ว่าโรงเรียนจะเปิดทำการแล้ว แต่จนถึงขณะนี้เด็กหญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้
สถานีโทรทัศน์ บีบีซีแห่งอังกฤษ รายงานผลการศึกษฉบับล่าสุดของทางยูนิเซฟ หลังจากที่วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลก ที่แม้ว่าบางประเทศจะเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดมาตรการคุมเข้มเพื่อสกัดกั้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานที่ทำงาน หน่วยงานราชการ และโรงเรียนสามารถกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติแล้ว กระนั้น ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่สามารถเปิดโรงเรียนเพื่อทำการสอนได้
ทั้งนี้ ผลการสำรวจของยูนิเซฟพบว่ายังมีโรงเรียนใน 23 ประเทศที่ยังไม่เปิดโรงเรียน หรือเปิดโรงเรียนได้ไม่เต็มเวลาทำการปกติ ทำให้นักเรียน 405 ล้านคนยังคงไม่สามารถไปโรงเรียนได้ โดยในจำนวนนี้ ยูนิเซฟประเมินว่ามีเด็กนักเรียนราว 147 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาแบบตัวต่อตัวด้วยตนเองได้
ผลการสำรวจยังพบอีกว่า เด็กที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือเด็กจากครอบครัวยากจน มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิงที่จนถึงขณะนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ แม้ว่าโรงเรียนจะเปิดให้กลับไปเรียนได้เหมือนเดิมแล้วก็ตาม
แคทเธอรีน รัสเซลล์ ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟ กล่าวว่า เด็กๆ คือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่ถูกซ่อนเร้นปกปิดไว้ เพราะแม้ว่าเด็กแทบทั้งหมดจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพน้อยมากจากเชื้อไวรัสจนไม่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่วีถีชีวิตของเด็กเหล่านี้ก็พลิกกลับตาลปัตรจากการปิดโรงเรียน
ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นการระบาดใหญ่ในเดือนมีนาคมปี 2020 มีโรงเรียนใน 150 ประเทศทั่วโลกที่สั่งปิดโรงเรียนทั้งหมด ขณะที่อีก 10 ประเทศตัดสินใจเปิดบางส่วน
สองปีต่อมา ยังคงมีโรงเรียนอีกอย่างน้อย 19 ประเทศที่ยังคงปิดโรงเรียนอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่อีก 4 ประเทศคือ ฟิลิปปินส์ ฮอนดูรัส เกาะโซโลมอน และ วานูอาตูในแปซิฟิกใต้ พบโรงเรียนอย่างน้อย 70% ในพื้นที่ยังคงปิดทำการ
“เรากำลังเห็นเด็กที่เคยอ่านหนังสือได้ นับตัวเลขได้ ไม่สามารถอ่าน หรือ นับเลข เหมือนที่เคยทำได้อีก” ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟยังระบุว่า สิ่งที่ตนเองหวั่นเกรงมากที่สุดก็คือกลุ่มเด็กที่ต้องเลิกเรียนกลางคน เนื่องจากเสี่ยงจะกลายเป็นกลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดหรือถูกใช้ประโยชน์และเอารัดเอาเปรียบ เพราะความยากจนของครอบครัวบีบให้เด็กต้องขายแรงงานเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว ขณะที่เด็กหญิงอาจมีชะตากรรมที่เลวร้ายกว่านั้น คือถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย
รายงานระบุว่าในประเทศฟิลิปปินส์ แม้จะยังคงบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวด ทำให้เด็ก ๆ ทั้งหลายไม่สามารถออกมาวิ่งเล่นข้างนอกได้ แต่ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ตัดสินใจเปิดโรงเรียนให้ทำการเรียนการสอนตามปกติในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา กระนั้น นักเรียนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะอยู่บ้านไม่ยอมไปโรงเรียน
ส่วนหนึ่งเลือกอยู่บ้านเพื่อความปลอดภัยและเรียนหนังสือออนไลน์ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งไปเรียนไม่ได้เพราะความยากจน ทำให้ต้องช่วยเหลือพ่อแม่ทำมาหากินเลี้ยงดูปากท้องก่อน
โคลอี อัลโมฮัวลา ดิกิต สาวน้อยชาวฟิลิปปินส์วัย 13 ปี กล่าวว่า คิดถึงการเรียนหนังสือ คิดถึงเพื่อนร่วมชั้น คิดถึงงานโรงรียน และคิดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียน แต่โรงเรียนยังคงปิดอยู่ ขณะที่พ่อของดิกิต ระบุว่า อยากให้ลูกสาวได้ไปโรงเรียน เพราะการเรียนออนไลน์ ทำให้ลูกขาดทักษะทางสังคมที่การเรียนออนไลน์ไม่สามารถชดเชยให้ได้
ข้ามฟากมาที่ทวีปแอฟริกา ประะเทศในแถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ถือเป็นพื้นที่ที่เด็กนักเรียนได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนมากที่สุด โดยยูนิเซฟพบว่า เด็กนักเรียนในพื้นที่แถบนี้มีทักษะการอ่าน การเขียนและการคำนวณอยู่ในระดับต่ำมากไปกว่าเดิม จากที่แต่ก่อนอยู่ในระดับต่ำที่สุดอยู่แล้ว ขณะที่ในอีกหลายประเทศ เช่น อูกันดา แม้ว่าโรงเรียนจะเปิดทำการปกติไปเมื่อเดือนมกราคาที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ ย่างเข้าเดือนเมษายน ยังมีนักเรียนราว 1 ใน 10 ที่ยังไม่สามารถกลับไปเรียนได้
นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว หลายประเทศทในแถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (ซับซาฮารา) ยังได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ทำให้อาคารเรียนหลายแห่งได้รับความเสียหายหนัก ดังนั้น โรงเรียนต้องยืดเวลาปิดต่อไปเพื่อการซ่อมแซมฟื้นฟูสถานที่
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงระหว่าง 2 ปีที่โรงเรียนปิดไป เด็ก ๆ ในแถบซับซาฮาราส่วนใหญ่ต่างเดินทางตามพ่อแม่ผู้ปกครองไปทำงานยังเหมืองต่างๆ ซึ่ง ลิเลียน นิคารุ ครูประถมแห่งหนี่งในพื้นที่กล่าวว่า การที่เด็กขาดเรียนไป 2 ปีเต็ม ๆ ทำให้ความรู้ที่เคยเรียนเลือนหายไปมาก ดังนั้น กลายเป็นงานหนักของครูที่ต้องเริ่มรื้อฟื้นความรู้เด็กขึ้นมาใหม่แทบทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ครูอีกหลายคนยังมีหน้าที่เพิ่มเติมเข้ามา นั่นคือ ครูต้องเดินทางไปพบปะพ่อแม่ของเด็กนักเรียนบางส่วน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิง เพื่อโน้มน้าวให้ครอบครัวยอมปล่อยให้เด็กหญิงเหล่านี้ได้กลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน รวมถึงเด็กหญิงที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่กลายเป็นคุณแม่วัยใสไปเรียบร้อยแล้ว
ชารอน (นามสมมติ) สาวน้อยวัย 17 ปี ตั้งครรภ์ในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่โรงเรียนปิด ตัดสินใจกลับมาเรียนหนังสือให้จบตามคำชักชวนของครู พร้อมหวังว่า การตัดสินใจของตนเองจะเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนวัยเดียวกันที่เป็นคุณแม่ได้เห็นว่า การมีลูกไม่ใช่อุปสรรคต่อการเรียน โดยที่ทางโรงเรียนได้จัดหาสถานที่ช่วยดูแลเด็กเล็ก เพื่อให้คุณแม่วัยใสมาเรียนหนังสือได้อย่างสะดวกและหมดห่วง
ทั้งนี้ ชารอนต้องเรียนซ้ำชั้นอีกปีหนึ่ง เพื่อรื้อฟื้นความรู้ที่เลือนหายไป และตั้งเป้าว่าจะเรียนให้จบเพื่อนำวุฒิการศึกษาไปเรียนต่อด้านการเป็นเชฟ (พ่อครัวแม่ครัว) ต่อไป
รายงานของยูนิเซฟยังพบอีกว่า นอกเหนือจากการที่ต้องพานักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนให้ได้ และฟื้นฟูความรู้ที่เลือนหายไปแล้ว ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ต้องเร่งจัดการก็คือการให้ความรู้ด้านทักษะทางอารมณ์และสังคมแก่เด็กนักเรียนในทุกระดับชั้น ซึ่งการที่บางประเทศยังคงขยายเวลาการปิดโรงเรียนออกไป ก็ยิ่งทำให้ทักษะทางอารมณ์และสังคมของเด็กไม่สามารถพัฒนาการได้ตามวัยอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ มีรายงานว่า บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองในบางประเทศ เช่น ตรินิแดด และโทบาโก หนึ่งในประเทศที่ปิดโรงเรียนยาวนานที่สุดในโลก และเพิ่งจะเปิดโรงเรียนไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน รู้สึกกระวนกระวายที่โรงเรียนปิดทำการล่าช้า ทั้ง ๆ ที่สถานที่สาธารณะอื่นๆ อย่าง ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และชายหาด กลับมาเปิดทำการได้ปกตินานร่วมหลายเดือนแล้ว
อีลิย สาวน้อยวัย 9 ขวบในตรินิแดด กล่าวว่า จากที่เคยเรียนได้เต็มวัน แต่ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเรียนของเจ้าตัวจำกัดอยู่แค่วันละไม่เกิน 4-5 ชั่วโมง ผ่านหน้าจอแล็ปท็อปเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็เรียนไม่ทัน และก็ไม่กล้าถามครู เนื่องจากกลัวเสียเวลาเรียนที่มีอยู่น้อยนิดอยู่แล้ว โดยคุณแม่ของอีลินกล่าวว่าปีที่แล้ว อีลินพบครูเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น และโรงเรียนไม่มีรายงานผลการสอบหรือผลการศึกษาใดๆ กลับมา ยิ่งทำให้ลูกของตนเองขาดความมั่นใจ จนกลายเป็นเด็กเงียบหงอย ไม่ช่างพูดและร่าเริงเหมือนอย่างเคย
ขณะเดียวกัน บรรดาพ่อแม่ในตรินิแดดและโทบาโก ยังวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพจิตของลูกหลาน เนื่องจากเด็กเหล่านี้ถูกโดดเดี่ยวจากสังคมมานาน ขณะที่ ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีแผนพื้นฟูใด ๆ ทั้งในแง่ของวิชาการความรู้และสภาพจิตใจของเด็ก
ยูนิเซฟพบว่าจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาทั้งหมด 122 ประเทศ มีเพียง 60% เท่านั้น ที่ได้จัดการเขียนแผนฟื้นฟูการศึกษา ซึ่งในสัดส่วนนี้ ส่วนใหญ่แผนที่มีก็ยังไม่จริงจังมากพอ
นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังออกโรงเรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลกตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะการทำให้การศึกษาเป็นเรื่องที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงจัดงบลงทุนการศึกษาอย่างเหมาะสม และประเทศที่ร่ำรวยแล้วควรจะจัดสรรงบส่วนหนึ่งช่วยเหลือประเทศที่ยากจน ซึ่งยูนิเซฟพบว่า ยอดบริจาคจากนานาประเทศเพื่อสนับสนุนงานด้านการศึกษาทั่วโลก ลดลงจาก 8.8% ในปี 2019 มาอยู่ที่เพียง 5.5% ในปี 2020
รัสเซลล์ ผู้อำนวยการบริหารยูนิเซฟ กล่าวว่า บรรดารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทั่วโลกควรจัดทำแผนฟื้นฟูการศึกษาในประเทศ ควบคู่ไปกับการให้คำมั่นที่จะช่วยเหลือกันและกันในการฟื้นฟูการศึกษาในระดับโลก โดยทุปประเทศต้องให้คำมั่นที่จะดูแลใส่ใจเด็กๆ เหล่านี้ เพื่อให้เด็กๆ สามารถดำรงชีวิตต่อไปในโลกยุคใหม่ได้
ที่มา : Covid closures still affecting 400 million pupils – Unicef