เปิดตัว “เครือข่ายอาสาเพื่อน กสศ.” ระดมความร่วมมือภาคเอกชน รับมือเด็กป่วย-กำพร้าจากโควิดพุ่ง ชี้ยอดเด็กป่วยก้าวกระโดด 2 เท่า กว่า 70% เป็นกลุ่มยากจน เปราะบาง

เปิดตัว “เครือข่ายอาสาเพื่อน กสศ.” ระดมความร่วมมือภาคเอกชน รับมือเด็กป่วย-กำพร้าจากโควิดพุ่ง ชี้ยอดเด็กป่วยก้าวกระโดด 2 เท่า กว่า 70% เป็นกลุ่มยากจน เปราะบาง

กสศ.ห่วงสถานการณ์การระบาดในกลุ่มเด็กป่วย-กำพร้าโตก้าวกระโดด จับมือภาคเอกชน กลุ่มธุรกิจ TCP มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย LINEMAN wongnai ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และเคพีเอ็มจี ประเทศไทย เปิด “เครือข่ายอาสาเพื่อน กสศ.” นำร่องพื้นที่สีแดงเข้ม ปิดช่องว่าง เติมเต็มระบบการดูแลเด็ก ครัวเรือนเปราะบาง และลดความเหลื่อมล้ำเด็กในวิกฤตโควิด

ด้วยอัตราเร่งของจำนวนผู้ป่วยเด็กและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กสศ. จึงเร่งระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนภายใต้ “เครือข่ายอาสาเพื่อน กสศ.” เพื่อทำงานเชิงรุกในการรับมือกับเด็กป่วย-กำพร้าจากโควิด-19 ในการสนับสนุน “ศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต กสศ.” 

เพื่อหนุนเสริมการทำงานของหน่วยงานหลักจากหลากหลายกระทรวง ช่วยให้เด็กกลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลช่วยเหลือเร็วที่สุด และสนับสนุนให้ระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องในระยะฟื้นฟู โดยเครือข่ายประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจ TCP มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย LINEMAN wongnai ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และเคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นต้น 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า 

“เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มเด็กยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงเดือนจำนวนการติดเชื้อโควิด-19 ของเด็กก้าวกระโดดเกือบ 2 เท่า และมีอัตราการติดเชื้อมากกว่า 2,000 คนต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจากการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่มียอดผู้ป่วยเด็ก (เด็ก แรกเกิด-18 ปี) ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ราว 65,000 คน และจากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 มีจำนวนเด็กติดเชื้อสะสมจากการรายงานของ ศบค. ที่ 119,814 คน เป็นการติดเชื้อของเด็กใน กทม. สะสม 26,224 คน และในส่วนภูมิภาคสะสม 93,590 คน โดยจังหวัดที่มียอดเด็กติดเชื้อสะสมสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี สมุทรสาคร และนนทบุรี ขณะที่จำนวนเด็กกำพร้าที่สูญเสียพ่อแม่จากโควิด-19 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีจำนวน 350 คนในพื้นที่ 55 จังหวัด” 

แม้ว่าความรุนแรงของโรคในเด็กนั้นไม่มาก แต่การรับมือกับปัญหาและผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการศึกษาของเด็กในระยะยาวนั้นมีความซับซ้อนกว่า ทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคม เศรษฐกิจ ปากท้อง โภชนาการ และความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา 

โดยในจำนวนนี้ราว 70% เป็นกลุ่มยากจนด้อยโอกาส หรือกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการเฝ้าระวังระยะยาวของอาการที่หลงเหลือจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่องอีกหลายเดือน หรือ “Long COVID” ไม่ว่าจะเป็นอาการเหนื่อยล้า ปัญหาการหายใจ ปวดศีรษะ และอาการนอนไม่หลับ เป็นต้น

ดร.ไกรยส กล่าวว่า “หลังการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าทำให้จำเป็นต้องหาทางรับมือกับวิถีชีวิตภายใต้ความปกติใหม่ (New Normal) สำหรับ กสศ. ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดทำให้ต้องเปลี่ยนมุมมองในการรับมือในการแก้ปัญหา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การพัฒนาเด็ก และการป้องกัน 

การจัดตั้งกลไก “อาสา กสศ.” และ “เครือข่ายอาสาเพื่อน กสศ.” จึงเป็นหนึ่งในความพยายามหาทางออกที่จะแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะทักษะและความรู้ในการปรับตัวเพื่อปลดล็อคการแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็วในการตอบสนอง (Speed to Market) ความคล่องตัว (Agility) การบริหารความเป็นเลิศจากฝั่งธุรกิจรวมถึงทักษะในการรับฟัง ความเสียสละ การทำงานในพื้นที่ของอาสา กสศ. ฯลฯ

“เราจะเห็นสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดจากการระดมทรัพยากรและความร่วมมือที่กลไกเครือข่ายอาสาเพื่อน กสศ. และอาสา กสศ. เข้าไปเติมเต็มหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม เช่น ไรเดอร์จาก LINEMAN wongnai เข้ามาทำหน้าที่ในการส่งยาและอาหารให้กับเด็กที่ต้องกักตัวในกลุ่ม Home Isolation หรือ การเข้ามาสนับสนุนอาสาสมัครของ TCP เพื่อติดตามและมอนิเตอร์ เป็นผู้ช่วยทีมแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ หรือการสนับสนุนถุงการเรียนรู้ นำโรงเรียนไปหาเด็กๆ ในช่วงล็อกดาวน์ของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ในระยะฟื้นฟู เป็นต้น” 

นางสาวนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า

 “วิกฤตจากโควิด-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ณ ขณะนี้รุนแรงถึงที่สุด และคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือเด็กกลุ่มเปราะบาง เรื่องด่วนที่กลุ่มธุรกิจ TCP จะเข้าไปดูแลร่วมกับ กสศ. คือ การดูแลสุขภาพความเป็นอยู่ของเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาปลอดภัยและอยู่ในสภาพที่พร้อมเรียนรู้ รวมทั้งมีทุนทรัพย์พอที่จะได้เรียนหนังสือต่อโดยไม่ต้องออกจากระบบกลางคัน โดยให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการ “กลไกอาสาสมัครคุณภาพ” และโครงการ “ทุนสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง” ที่ดูแลทั้งสุขภาพและทุนทรัพย์ไปพร้อมกัน” 

นางสาวนุชรีกล่าวพร้อมกับระบุว่านี่คือเหตุผลหลักที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ริเริ่มผนึกกำลังร่วมกับ กสศ. ในโครงการด้านการศึกษาเพื่อหยุดยั้งปัญหานี้ 

กลุ่มธุรกิจ TCP จึงสานพลัง กสศ. ช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มเป้าหมายระยะเร่งด่วน ผ่านการระดมทุนสนับสนุนโครงการสนับสนุนกลไกอาสาสมัครคุณภาพให้แก่อาสา กสศ. จำนวน 100 คน คนละ 400 บาท รวมงบประมาณ 1.2 ล้านบาท และโครงการทุนสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง มอบโอกาสให้เยาวชนได้ศึกษาต่อในช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. 1) ผ่านการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษา จำนวน 400 คน คนละ 10,000 บาท รวมเป็นงบประมาณ 4 ล้านบาท เพื่อสร้างความเสมอภาค รวมถึงดูแลเด็กและเยาวชนครอบคลุมทุกมิติ

กลไกอาสาสมัครคุณภาพจะทำหน้าที่เป็นกำลังเสริมให้แก่หน่วยงานหลักต่างๆ เช่น อาสาสมัครคุณครูทั้งในระบบและนอกระบบในชุมชน อาสาสมัครเยาวชน ช่วยรับส่งผู้ป่วยเด็ก รวมถึงส่งชุดยาและเครื่องมือติดตามอาการหรืออุปกรณ์ช่วยชีวิตในกรณีจำเป็นเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง และยังสนับสนุนระบบอาสาสมัครดูแลเด็กสัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระหว่างระยะเวลากักตัว 14 วัน ในสถานที่กักตัว (State Quarantine) รวมถึงดูแลเด็กป่วยติดเชื้อที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในสถานพยาบาลทุกรูปแบบ พร้อมจัดตั้งอาสาสมัครเยี่ยมเด็กและครอบครัวในพื้นที่ชุมชน เพื่อติดตามการเลี้ยงดู ส่งยา อาหาร หรือเครื่องใช้จำเป็น

นางลดาวัลย์ กันทวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า

“ในระยะต้น มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือให้เด็กและครอบครัวได้รับการดูแลเร็วที่สุด ผ่านการสนับสนุนจิตอาสาที่ทำงานด่านหน้า ถ้าไม่มีครูอาสา จิตอาสา ก็จะไม่มีใครในพื้นที่ดูแลเด็ก จึงต้องช่วยเหลือต่อเนื่องไม่ให้พวกเขาหมดแรงเสียก่อน ระยะถัดมาคือการยกระดับคุณภาพชีวิตหลังจากที่หายป่วยแล้ว และงานเชิงป้องกันหรือฟื้นฟูเพื่อให้เด็กได้รับการศึกษา ที่จำเป็นต้องพึ่งพานวัตกรรมเพื่อช่วยเรื่องการเรียนรู้ให้เด็กกลุ่มเปราะบาง รวมถึงสนับสนุนให้ครอบครัวมีรายได้ที่ยั่งยืน การทำงานเพื่อลดผลกระทบต่อเด็กเยาวชนในอนาคต ต้องสร้างมาตรการเชิงป้องกัน ทั้งพ่อแม่ ครู ปกครองและชุมชน มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากเห็นการรวมเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็กในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา โรงพยาบาล อนามัย ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก สถานศึกษา รวมถึงจิตอาสา เพื่อร่วมกันดูแลเด็กในภาวะวิกฤตได้อย่างรอบด้าน เพื่อในอนาคตจะมีองค์กรพันธมิตร บริษัทจดทะเบียนอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือกันเป็นเครือข่าย ระดมความร่วมมือนำทรัพยากรมาใช้ได้อย่างถูกจุดและมีความยั่งยืนมากขึ้น”

นายอิสริยะ  ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINEMAN wongnai  กล่าวว่า

“ถือเป็นความร่วมมือที่มีประโยชน์และได้ช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางได้อย่างตรงจุด ที่ผ่านมา LINEMAN wongnai เป็นแพลตฟอร์มออนดีมานด์ที่ให้บริการด้านการขนส่งทั้งอาหารและสิ่งของ โดยมีไรเดอร์กระจายตัวทุกพื้นที่ รวมทั้งได้อุดหนุนร้านค้าที่ถูกล็อกดาวน์ เพื่อนำอาหารไปส่งต่อให้กับชุมชนที่ขาดแคลน เช่น พื้นที่คลองเตย หรือไปส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับพื้นที่ที่จัด Home Isolation ในยามวิกฤตนี้เราจะไม่นิ่งเฉยและยินดีเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลที่ตรงจุดและรวดเร็ว ซึ่งบริการของเราตอบโจทย์นี้ และเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันปิดช่องว่าง จะช่วยให้วิกฤตนี้คลี่คลายโดยเร็ว”

ทั้งนี้ กสศ.ยังเสนอให้มีการเยียวยาเด็กเยาวชนและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในแนวทางเดียวกับประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิหรือเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ โดย

(1) การสนับสนุนทุนการศึกษาจนสำเร็จปริญญาตรีให้แก่เด็กที่กำพร้าพ่อแม่จากโควิด-19 พร้อมทั้งทุนประกอบอาชีพแก่พ่อ/แม่ที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อให้สามารถตั้งตัวได้ 

(2) กลุ่มเด็กเยาวชนผู้หายป่วยจากโควิด-19 มากกว่า 1 แสนคน ที่ยังต้องรับมือกับอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 ในระยะยาว (Long COVID) เด็กกลุ่มนี้จึงควรได้รับการติดตามตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อย 1-3 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

(3) กลุ่มยากจนซ้ำซ้อนที่ก่อนวิกฤตโควิด-19 มีสถานะยากจนพิเศษอยู่แล้ว และยังติดเชื้อโควิดทั้งบ้าน หรือสูญเสียสมาชิกครัวเรือนที่เป็นผู้หารายได้หลัก ภาครัฐควรเยียวยากระตุ้นให้เกิดการมีงานทำให้คนเหล่านี้สามารถกลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการป้องกันดูแลไม่ให้บุตรหลานต้องหลุดจากระบบการศึกษาในระยะยาว


เกี่ยวกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ด้วยยุทธศาสตร์การทำงานโดยมีข้อมูลเป็นฐาน การวิจัย สร้างองค์ความรู้ ต้นแบบ หรือนวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยรัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุน และมีการบริหารงานที่เป็นอิสระ