เมื่อการเรียนออนไลน์กลายเป็นรูปแบบหลักของการเรียนการสอนทั่วโลกในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการภายในห้องเรียนคิดหาวิธีสร้างแบบสำรวจ ออกแบบคำถามสนุกแกมจริงจังอย่างสมดุล เพื่อใช้ค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวตนของนักเรียนแต่ละคน เป็นการสร้างความความเข้าใจและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนักเรียนและคุณครู สู่ผลลัพธ์การเรียนการสอนที่มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
แน่นอนว่า เมื่อภาคการศึกษาใหม่เริ่มขึ้น ในคาบเรียนแรก ระหว่างครูกับนักเรียนมักมีการพูดคุยแนะนำตัว ถามคำถามอย่าง “เธอชอบสีอะไร” หรือ “เพลงโปรดของเธอคือเพลงอะไร” หรือคำถามทั่วไปอื่นๆ เพื่อทำความรู้จักกัน แต่ดูเหมือนว่าในภาวะไม่ปกติเช่นนี้ การเรียนการสอนออนไลน์ได้ทำให้ขั้นตอนที่แสนสำคัญนี้ถูกลดทอนออกไปในวันเปิดภาคเรียนใหม่
ดังนั้น เพื่อช่วยให้ครูสามารถทำความรู้จักและเข้าใจนักเรียนได้มากยิ่งขึ้น การใช้แบบสำรวจที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นหนึ่งตัวช่วยที่ดีสำหรับครู โดยเอ็มม่า เชียพเพ็ตตา (Emma Chiappetta) ผู้ทำงานด้านการออกแบบสำรวจให้กับองค์การหลายแห่งกล่าวว่า การออกแบบสำรวจที่บรรจุคำถามซึ่งผ่านการคัดสรร การผสมผสานความหนักเบาของคำถามได้อย่างพอเหมาะลงตัว จะทำให้ผู้ออกแบบสอบถามสามารถเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อย่างในกรณีของครู การเข้าถึงข้อมูลด้านลึกของนักเรียนจะทำให้สามารถวางแนวทางและออกแบบการสอนได้อย่างเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน
ครั้งนี้เชียพเพ็ตตาได้แบ่งปันประสบการณ์การออกแบบสอบถาม ซึ่งตนใช้เพื่อทำความรู้จักและสร้างสัมพันธภาพกับนักเรียนที่เข้ามาร่วมกลุ่มสหพันธ์เพศและเพศสภาพ (Gender and Sexuality Alliance – GSA) ซึ่งเป็นโครงการเรียนรู้พิเศษ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กเรียนรู้ เข้าใจ ยอมรับ และเคารพ เพศสภาพและความแตกต่างหลากหลายทางเพศของคนในสังคม
เชียพเพ็ตตาได้ประมวลและสรุปออกมาเป็นคำแนะนำ 11 ข้อที่ “ควร” และ “ไม่ควร” ทำสำหรับการทำแบบสอบถาม เพื่อให้ครูได้ทำความรู้จักกับบรรดานักเรียนของตนเอง
1. ควรทำ : ถามชื่อที่นักเรียนอยากให้ครูเรียก โดยในทางจิตวิทยา การถามชื่อในลักษณะนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าครูกำลังเคารพและให้เกียรติในความเป็นตัวตนของเด็กคนนั้น ซึ่งหมายรวมถึงเพศสภาพของเด็กด้วย ช่วยให้ครูสามารถวางแผนการสื่อสารกับเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถออกเสียงชื่อเรียกของเด็กคนนั้นได้อย่างถูกต้อง
2. ไม่ควรทำ : อย่าใช้คำถามแบบที่ต้องมีกรอบตัวเลือกให้เลือก เพราะเป็นการปิดกั้นความคิดเด็กจนเกินไป
3. ควรทำ : ครูควรร่วมทำแบบสอบถามด้วย คือทำพร้อมกันกับเด็ก และแสดงคำตอบให้เด็กได้ดู เพื่อให้เด็กทำความรู้จักครูด้วยเช่นกัน หรือในกรณีที่เป็นเด็กระดับประถม จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เด็กทำแบบสอบถามได้เป็นอย่างดี
4.ไม่ควรทำ : อย่าใช้คำถามที่แม้แต่ครูเองก็ยังไม่อยากตอบ หรือเปิดเผย
5. ควรทำ : ใช้คำถามที่ช่วยให้เข้าใจถึงค่านิยม และสิ่งที่เด็กให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก อะไรเป็นสิ่งที่เด็กทุ่มเทแรงกายแรงใจพยายาม โดยตัวอย่างของคำถาม เช่น “อะไรเป็นสิ่งแรกที่หนูคิดถึงหลังจากตื่นนอนเมื่อเช้านี้” อาจเป็นคำถามง่ายๆ สบายๆ แต่คำตอบจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการสอนของครูต่อนักเรียน
6. ไม่ควรทำ : อย่ามุ่งแต่คำถามที่จริงจังเกินไป กล่าวคือ ต้องไม่ใช่คำถามที่รวบรวมเฉพาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กเท่านั้น เพราะแบบสอบถามลักษณะนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกเบื่อหรือเหนื่อยล้าได้ ลองสอดแทรกคำถามสบายๆ ที่ถามถึงความชอบ-ไม่ชอบ กิจกรรม และงานอดิเรก หรือเป็นคำถามสนุกๆ เกี่ยวกับตัวเด็กเอง
7. ควรทำ : ถามคำถามที่ช่วยให้ครูเข้าใจวิธีการเรียนของนักเรียน เพื่อครูสามารถแยกแยะและจัดลำดับการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าการถามคำถามเกี่ยวกับการเรียนอาจทำให้เด็กเบื่อ แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับครูเช่นกัน เคล็ดลับคือ ถามคำถามที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อให้นักเรียนใคร่ครวญถึงประสบการณ์การเรียนที่ผ่านมา เช่น “อะไรคือสิ่งล่าสุดที่นักเรียนได้รู้เมื่ออยู่นอกโรงเรียน แล้วนักเรียนไปรู้เรื่องเหล่านั้นได้อย่างไร” โดยคำถามลักษณะนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กได้แบ่งปันความรู้และเปิดเผยตัวเอง ขณะเดียวกัน ทำให้ครูได้เห็นว่าเด็กคนนี้มีวิธีการเรียนรู้อย่างไร
8. ควรทำ : เด็กแต่ละคนมีบุคลิกลักษณะนิสัยไม่เหมือนกัน บางคนขี้อาย บางคนกล้าแสดงออก ดังนั้น ควรออกแบบสอบถามที่มีการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับตนเองมากขึ้น โดยมากคำถามแนวนี้มักอยู่ปิดท้ายแบบสอบถาม เช่น “มีอะไรอื่นอีกไหมที่ครูควรรู้ เพื่อช่วยสนับสนุนการเรียนของเธอ” โดยเชียพเพ็ตตาอธิบายว่า คำถามลักษณะนี้จะเปิดโอกาสให้ครูได้สนทนากับเด็ก
9. ไม่ควรทำ : อย่าสั่งให้เด็กต้องตอบแบบสอบถามให้ครบทุกข้อ แต่บอกเป็นเชิงขอความร่วมมือตอบให้ครบแทน
10. ควรทำ : ครูต้องแสดงให้เด็กเห็นว่า ครูได้อ่านแบบสอบถามของเด็กทุกคน โดยอาจเขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กเขียนส่งมาลงไปด้วย
11 ไม่ควรทำ : อย่าเพิกเฉยต่อความคิดเห็น หรือคำตอบที่เด็กๆ เขียนส่งมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเพลงที่ชอบ หรือชื่อเล่น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่ช่วยให้ครูสามารถเชื่อมโยง หรือสานสายสัมพันธ์กับเด็กได้แน่นแฟ้นมากขึ้น