Session3 : การศึกษากับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation)
เวียดนามแชร์ผลลัพธ์ความสำเร็จ การเรียนการสอนแบบดิจิทัล มุ่งพัฒนาทั้งครูและนักเรียน อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงมากมายต่อชีวิตของเรา หนึ่งในเรื่องที่สำคัญและได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากคือ ‘การศึกษา’ ที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนผ่านห้องเรียนแบบปกติได้อีกต่อไป แต่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อทำให้ครูและนักเรียนยังสามารถทำการเรียนการสอนท่ามกลางวิกฤตการณ์ของโรคต่อไปได้ โดยไม่ต้องเข้ามาเจอกันในห้องเรียนแบบเดิม
Mr. Toan Dang – Programme officer (ICT in Education), UNESCO Bangkok ได้กล่าวเปิดประเด็นสำหรับเรื่องนี้ไว้ว่าการศึกษาที่ต้องพึ่งพาอาศัยสื่อดิจิทัลก็ยังมีข้อจำกัดมากมาย โดยพบว่าในจำนวนเด็กนักเรียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคทั้งหมด มีเพียงแค่ 28% เท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงการศึกษาทางเลือกผ่านช่องทางดิจิทัลได้
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเข้าถึงการเรียนการสอนผ่านดิจิทัลมีความยากลำบากมีด้วยกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างที่แตกต่างกันของการเข้าถึงเทคโนโลยีระหว่างเด็กนักเรียนในเมือง และเด็กนักเรียนในต่างจังหวัด ประสบการณ์ความคุ้นชินต่อเทคโนโลยีและบริบทที่ต่างกันของเด็กๆในแต่ละครอบครัว หรือแม้แต่งบประมาณในการจัดทำระบบการเรียนการสอนผ่านดิจิทัลที่มีต้นทุนสูงสำหรับรัฐบาล
จากการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่โรงแรมแชงกรีลา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีตัวแทนด้านการศึกษาจากองค์กรระดับโลก และจากประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมาร่วมพูดคุยในประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ
Mr.Samir Kumar Paul ผู้ประสานงานนานาชาติจาก YPEER Bangladesh และอาสาสมัครจากมูลนิธิ JAAGO ได้เล่าถึงสถานการณ์การเรียนการสอนผ่านสื่อดิจิทัลในประเทศบังคลาเทศว่า มีอุปสรรคในด้านงบประมาณที่ไม่เพียงพอในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนผ่านดิจิทัลให้เหมาะสม เด็กนักเรียนมีความรู้สึกไม่กระตือรือร้น ไม่สนุก ไม่ตื่นเต้น เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาแบบดั้งเดิมที่มีการพบปะ มีปฏิสัมพันธ์กันในห้องเรียน โดยปัญหามาการพัฒนาเนื้อหาการสอนที่ยังไม่มีคุณภาพและเหมาะสมอย่างเพียงพอ อีกทั้งสภาพแวดล้อมในการเรียนจากทางบ้านของเด็กนักเรียนแต่คนมีความแตกต่างกัน และอุปกรณ์ดิจิทัลในการเรียนก็มีไม่เพียงพอ
กลับกันนั้น Mr.Le Anh Vinh รองอธิบดีสถาบัน Viet Nam Institute of Educational Sciences (VNIES) ได้แชร์ความสำเร็จของการเรียนการสอนผ่านสื่อดิจิทัลในประเทศเวียดนามท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ว่า ในช่วงที่ปิดการเรียนการสอนแบบปกติไป 2-4 เดือนนั้น ทางเวียดนามมีการรับมือเพื่อให้การเรียนการสอนยังสามารถดำเนินต่อไปได้ผ่านสื่อดิจิทัล โดยมีการสำรวจว่าเด็กนักเรียนมีอุปกรณ์ดิจิทัลในการเรียนการสอนเพียงพอหรือไม่ มีการฝึกครูผู้สอนเพื่อให้สอนผ่านทางออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการใช้การสอนผ่านหลายช่องทาง ทั้งทางโทรทัศน์, โปรแกรม zoom และออนไลน์ช่องทางอื่นๆ โดยต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งคุณครูและนักเรียนในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆเพื่อให้การเรียนการสอนผ่านทางสื่อดิจิทัลมีประสิทธิภาพ จากการสำรวจพบว่ามีเด็กนักเรียนกว่า 70% ที่ใช้เครื่องมือสื่อสารเคลื่อนที่ในการเรียน และรัฐบาลมีการสนับสนุนในการจัดหาอุปกรณ์ดิจิทัลในการเรียน ระบบการเรียนการสอน และเนื้อหาการสอนที่มีคุณภาพ ในการจัดการเพื่อให้การเรียนการสอนท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดยังดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะต้องลงทุนกับเรื่องดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมากก็ตาม
ในด้านของประเทศมองโกเลีย Ms.Oyunaa Purevdorj อธิบดีจาก Education Integrated Policy and Implementation Department, Ministry of Education and Science, Mongolia กล่าวว่า ทางประเทศมองโกเลียให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นอย่างมาก โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม ครู และนักเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนผ่านดิจิทัลสามารถเกิดขึ้นได้ โดยการพัฒนาเนื้อหาการสอนผ่านสื่อดิจิทัลเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก จึงอาจสรุปได้ว่าการเรียนการสอนผ่านสื่อดิจิทัลนั้น จำเป็นต้องมีการสนับสนุนด้านงบประมาณและนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ของรัฐบาล การเตรียมการจัดการที่ดี และการร่วมมือกันของทั้งหลายๆฝ่าย จึงจะทำให้สำเร็จได้