ความพยายามของออสเตรเลีย เพื่อสร้างความเสมอภาคสำหรับ “ผู้มีความต้องการพิเศษ”

ความพยายามของออสเตรเลีย เพื่อสร้างความเสมอภาคสำหรับ “ผู้มีความต้องการพิเศษ”

“ความเสมอภาค” เป็นเรื่องสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ และมุ่งเน้นการสร้างนโยบายและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมสูงสุด

ไม่เว้นผู้มีความต้องการพิเศษที่ล้วนต้องการเข้าถึงด้านการศึกษา การพัฒนาฝีมืออาชีพ และการเข้าถึงตลาดแรงงานไม่ต่างจากใครทั่วไป

ชวนเรียนรู้…สถานการณ์ของประเทศออสเตรเลีย เพื่อ‘เปลี่ยน’ ความต้องการพิเศษ เป็น ‘พลังเพื่อสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน’

กรอบนโยบายที่เข้มข้นของออสเตรเลีย

ปัจจุบันในออสเตรเลียมีตัวเลขประมาณการของเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางร่างกายหรือสติปัญญา ในช่วงอายุถึง 14 ปี ราว 7.7 เปอร์เซ็นต์ และอีกราว 4.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้พิการขั้นรุนแรง (ข้อมูลจาก : Survey of Disability, Ageing and Carers) 

จากกรอบนโยบายที่เข้มข้นทำให้ผู้มีความต้องการพิเศษในออสเตรเลียมีสิทธิ์เข้าถึงการเรียนค่อนข้างทั่วถึง มีการดูแลเมื่อถึงช่วงรอยต่อการศึกษาเป็นอย่างดี มีการพัฒนาทักษะอาชีพตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยมีกฎเกณฑ์พื้นฐานที่สถานศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษต้องดำเนินตาม

ยกตัวอย่างเช่น การฝึกให้ตั้งเป้าหมาย รู้จักแสดงความคิดเห็น สามารถแก้ปัญหา และสร้างความมุ่งมั่นด้วยตนเอง เป็นต้น

ทั้งนี้ได้มีการกำหนดเป้าหมายสำคัญสำหรับนักเรียนผู้มีความต้องการพิเศษในระดับมัธยมปลาย ก่อนจะก้าวสู่รอยต่อของการศึกษา หรือแม้แต่เลือกยุติการศึกษา ล้วนต้องได้รับการเข้าถึงความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนผู้พิการ

ถึงกระนั้นใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น เด็กพิเศษอีกหลายต่อหลายคนยังสับสนกับการเลือกทางเดินในอนาคต เนื่องจากได้รับการชี้นำจากครูและผู้ปกครองมากเกินไป โดยขาดข้อมูลการเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง ดังนั้นเด็กพิเศษจึงควรได้รับการดูแลและแนะแนวล่วงหน้านานกว่าปกติ ก่อนที่ช่วงรอยต่อการศึกษาจะมาถึง

เตรียมพร้อมสู่อาชีพในศตวรรษที่ 21

อะไรบ้างที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุคศตวรรษที่ 21 สำหรับผู้มีความต้องการพิเศษ คือคำถามสำคัญ

สิ่งที่ประเทศออสเตรเลียมุ่งเน้นคือ การพัฒนาทักษะด้านอาชีพควบคู่กับการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้ารูปแบบต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และกล้าที่จะใช้ชีวิตแบบโลดโผนบ้าง

ระบบการศึกษาต้องยึดเด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และสร้างการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความสนใจของพวกเขา โดยออสเตรเลียมีโปรแกรม Individual Learning Plans และ Individual Transition Plans ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กพิเศษเข้าถึงแผนการศึกษา และวางแผนช่วงรอยต่อการศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งนัยหนึ่งอาจเชื่อมโยงกับเรื่องการขอทุนอีกด้วย

เมื่อถึงเวลาที่ผู้มีความต้องการพิเศษต้องก้าวสู่ชีวิตการทำงานจริง ออสเตรเลียเตรียมแผนรองรับไว้อย่างเข้มข้น ตั้งแต่การตรวจสุขภาพก่อนการจ้างงาน การให้คนหนุ่มสาวสร้างตัวเลือกเกี่ยวกับอาชีพของตน การฝึกอบรมก่อนปฏิบัติงานจริง และการเชื่อมต่อกับบริการพื้นฐานของชุมชน

6 นโยบายเชิงกลยุทธ์สู่การส่งเสริมศักยภาพและความเท่าเทียม

  1. สังคมแห่งการมีส่วนร่วม นั่นคือ ผู้มีความต้องการพิเศษสามารถดำเนินกิจกรรมในสังคมได้เฉกเช่นคนทั่วไปในฐานะพลเมืองประเทศ ตั้งแต่ความสามารถใช้รถโดยสารสาธารณะ การเข้าถึงข่าวสารข้อมูลทางดิจิทัล การเล่นกีฬาและสันทนาการ เป็นต้น
  2. สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายและได้รับการปกป้องจากการถูกเลือกปฏิบัติ
  3. ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สามารถมีอาชีพ ประกอบธุรกิจ รวมถึงการมีเงินช่วยเหลือหากเป็นผู้ไม่สามารถทำงานได้
  4. การสนับสนุนอย่างเข้าใจจากชุมชน ให้ความใส่ใจและดูแลผู้มีความต้องการพิเศษด้วยความเข้าใจ ทั้งทางด้านกายภาพและจิตใจ โดยให้พวกเขามีส่วนร่วมแม้เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปภายในชุมชน
  5. โอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะ ตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียน การเรียนทั้งระบบภาคปกติและภาคพิเศษ การอุดช่วงรอยต่อการศึกษา การเรียนหลักสูตรอาชีวะ สู่การพัฒนาทักษะและการประกอบอาชีพ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  6. สุขภาวะ ได้รับบริการเพื่อส่งเสริมด้านสุขภาพ และสร้างความเข้าใจเรื่องการมีสุขภาวะที่ดีและการมีความสุขในชีวิต

ทั้งนี้บทสรุปสู่ความสำเร็จยังต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาครัฐ ครู สถานประกอบการ ชุมชน ที่ให้โอกาสผู้มีความต้องการพิเศษได้ใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมและอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

แต่อย่างน้อยความพยายามของประเทศออสเตรเลียก็เป็นบทเรียนให้นานาชาติเรียนรู้ร่วมกันได้

ที่มา :

1.2010-2020 National Disability Strategy, An initiative of the Council of Australian Governments
2. https://newsroom.unsw.edu.au/

ติดตาม “โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ”
ได้ที่  www.facebook.com/vssnthailand/