ผลสำรวจในอินเดียชี้ การเรียนออนไลน์ยิ่งเพิ่มช่องว่างทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาเกือบ 85% ตอบตรงกัน รู้สึกเรียนได้เพียงครึ่งหนึ่งของที่ควรจะได้เรียนตามหลักสูตร พร้อมวอนภาครัฐเร่งหามาตรการรองรับ ระบุ ผลคะแนนการสอบไม่ได้เป็นตัวชี้วัด หรือพิสูจน์ว่า การเรียนออนไลน์ประสบความสำเร็จด้วยดี
เมื่อเร็วๆ นี้ TeamLease Edtech บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยีทางการศึกษาของอินเดีย ได้ทำการสอบถามนักเรียนนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมากกว่า 700 คน จากมหาวิทยาลัย 75 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อประเมินช่องว่างทางการศึกษาที่เกิดขึ้น หลังจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศต้องปรับการเรียนการสอนมาเป็นออนไลน์หลายเดือน
ทั้งนี้เว็บไซต์ข่าว The Times of India ได้ออกมาเปิดเผยผลการสำรวจนี้ พบว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่พอใจกับความรู้ที่ได้รับ ระบุ รู้สึกเหมือนเรียนไปได้เพียงครึ่งหนึ่งของความรู้ที่ตนเองควรจะได้รับในภาคเรียนนั้นๆ แม้จะได้เรียนครบชั่วโมง แต่อดรู้สึกไม่ได้ว่าเหมือนตนเองได้เรียนไปเพียง 40-60% จาก 100% ของวิชาที่ลงเรียน ขณะที่ราว 88% ของเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเชื่อว่า อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี กว่าที่จะสามารถชดเชยช่องว่างทางการศึกษาที่เกิดขึ้นได้
ขณะที่แมนจูลา เชาว์ดารี (Manjula Chowdhary) คณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัย Haryana’s Kurukshetra กล่าวยอมรับว่า ต่อให้นักศึกษาสามารถทำคะแนนสอบออกมาได้ดี แต่เกรดที่ได้ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดถึงความรู้ที่หายไป เพราะเมื่อไปสอบถามนักศึกษาเป็นรายบุคคล จะรับรู้ได้ทันทีว่า นักศึกษาแต่ละคน สามารถซึมซับความรู้และมีความเข้าใจในบทเรียนได้มากน้อยต่างกันออกไป มีเพียงนักเรียนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเรียนได้ดีและประสบความสำเร็จกับการเรียนออนไลน์ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ เป็นเด็กที่มีแรงจูงใจทางการเรียนค่อนข้างสูง และสามารถศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเองได้ดีอยู่แล้ว
ซี แอล เทวันกัน (C L Dewangan) เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอินเดียกล่าวว่า การสอบออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นการสอบแบบให้นักศึกษาสามารถเปิดหนังสือได้ ดังนั้นผลคะแนนจึงไม่ใช่ตัวสะท้อนระดับความรู้ที่เด็กได้รับ ตัวอย่างนักศึกษาประมาณ 60% ที่ก่อนหน้านี้ไม่อาจผ่านเลื่อนชั้นได้ ก็สามารถผ่านเลื่อนชั้นไปได้เพราะทำคะแนนการสอบออนไลน์ได้ดี
ด้าน พี สุพรามันยา ญาดาปทิตยา (P Subrahmanya Yadapadithaya) รองประธานมหาวิทยาลัย Mangalore ชี้ว่า ข้อบกพร่องของการเรียนออนไลน์คือ ไม่สามารถใช้ในวิชาที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมทักษะด้าน soft skills ได้ และจากการสังเกตคำตอบของนักเรียนขณะทำข้อสอบออนไลน์ พบว่า คำตอบเหล่านั้นแสดงชัดว่า นักเรียนไม่สามารถจับใจความสำคัญของเนื้อหาที่สอน และไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ภายในที่แท้จริงได้
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงอินเดียที่ประสบกับปัญหาช่องว่างการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา เพราะสถาบันการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาแบบเดียวกัน โดยเป็นผลจากการที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปิดทำการ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด และแม้จะหันมาใช้ระบบการเรียนออนไลน์ แต่โครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ไม่พร้อม สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่ทั่วถึง และความไม่พร้อมของตัวผู้เรียนเอง ก็ทำให้การเรียนออนไลน์ ไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาที่เกิดขึ้นได้
ข้อมูลจากธนาคารโลก หรือ World Bank บ่งชี้ว่า มีนักเรียนนักศึกษาเกือบ 220 ล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับผลกระทบทางการศึกษาขั้นรุนแรง เพราะวิกฤตไวรัสโควิด-19 แต่ถึงอย่างนั้น ตัวเลขช่องว่างทางการศึกษาของอินเดียเมื่อนำไปเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากกว่าประเทศอื่นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอังกฤษ
ขณะที่ TeamLease Edtech ผู้จัดทำการสำรวจครั้งนี้มองว่า มี 5 ปัจจัยด้วยกันที่ทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษาในอินเดีย ได้แก่ 1) ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล 2) ความล่าช้าในการบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐ 3) ประสิทธิภาพการเรียนที่ขาดแคลนอยู่ก่อนแล้ว 4) การเผชิญกับภาวะล็อกดาวน์ที่ยาวนานกว่าประเทศอื่นๆ และ 5) เนื้อหาข้อมูลออนไลน์ที่ค่อนข้างอ่อนด้อย
ส่วนโมฮัมเหม็ด นาฟี อาหมัด อันซารี (Mohammed Nafees Ahmad Ansari) ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนออนไลน์และการเรียนทางไกล (Center for Distance and Online Education) แห่งมหาวิทยาลัย Aligarh Muslim แสดงความเห็นว่า บรรดาอาจารย์สามารถมองเห็นช่องว่างการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังสังเกตได้ว่า นักศึกษาหญิงเข้าเรียนลดลง เนื่องจากนักศึกษาเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลได้
“เหตุผลหลักที่ทำให้การเรียนออนไลน์ของอินเดียเกิดช่องว่างการเรียนรู้เพิ่มขึ้น เพราะระบบนิเวศทางการศึกษาของอินเดีย ไม่สามารถปรับให้เป็นดิจิทัลได้ทันในช่วงเวลาที่จำเป็นต้องใช้งาน ดังนั้น อยากวิงวอนให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดัน โดยเริ่มจากการทำให้นักเรียน นักศึกษาทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างทั่วถึง” ชานทานู รูจ (Shantanu Rooj) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ TeamLease Edtech กล่าว
ที่มา : E-classes leading to learning gaps in higher education: Survey