กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือภาคีเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ผนึกกำลังเดินหน้าพัฒนาระบบการศึกษา ตั้งเป้าฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ หลังธนาคารโลกเผยการศึกษาล่าสุดพบ ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในกลุ่มประเทศยากจนและกำลังพัฒนาทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 3 และกว่า 70 % ของเด็กอายุ 10 ปี ไม่สามารถเข้าใจข้อความเรียบง่ายไม่ซับซ้อนได้
การผนึกกำลังครั้งนี้มีขึ้นผ่านเวทีการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งบรรดานักการศึกษา
ผู้เชี่ยวชาญและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ สถานที่ประชุม และจากแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมกว่า 2,000 คน โดยทั้งหมดได้ร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อตกผลึกความคิดและประกายแนวทางการทำงาน ภายใต้เป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ แบ่งปันข้อมูล และเสนอแนวคิดที่จะนำไปสู่แผนปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูการศึกษาให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค ด้วยแนวคิด Education for All – All for Education
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ทาง กสศ. ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, ยูเนสโก กรุงเทพ ฯ, สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของยูนิเซฟ (UNICEF EAPRO), ยูนิเซฟ ประเทศไทย, รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) และ Save the Children เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ภายใต้แนวคิด ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน (International Conference on Equitable Education : Together Towards Equity) ระหว่างวันที่ 19 – 20 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ ฯ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2020 โรงเรียนเกือบทุกแห่งทั่วโลกต้องปิดทำการเป็นระยะเวลานานร่วมหลายสิบเดือน กลายเป็นความท้าทายใหม่ต่อรัฐบาล โรงเรียน ครู นักเรียนและผู้ปกครองทั่วโลกที่ต้องรับมือและก้าวผ่านขีดจำกัดที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันครั้งนี้ โดยมีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทำให้ “การเรียนออนไลน์” กลายเป็นตัวเลือกเรียนทางไกลที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในฐานะเครื่องมือหลักสำหรับการศึกษาทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความสมบูรณ์พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน และความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในประเทศนั้น ๆ ยังมีไม่เท่ากัน ดังนั้น การเรียนออนไลน์ที่แม้จะทันสมัยและช่วยปลดล็อกความท้าทายที่เกิดจากโควิด-19 จึงกลับกลายเป็นอุปสรรคอีกขั้นสำหรับเด็กบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มยากจน ความท้าทายของความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ทำให้วิธีการสอนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ขาดความยืดหยุ่นและจำกัดการเข้าถึง เกิดการจัดสรรทรัพยากรการเรียนรู้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาล่าสุดที่เปิดเผยที่ทางธนาคารโลกจัดทำร่วมกับ UNESCO, UNICEF, กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร (UK government Foreign Commonwealth and Development Office – FCDO), USAID และ มูลนิธิบิลล์ แอนด์ เมลินดา เกตส์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า การพัฒนาทางการเรียนรู้ของเด็กต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ในประเทศที่มีการเรียนออนไลน์มาใช้ ส่งผลให้เด็กนักเรียนรุ่นนี้ มีแนวโน้มสูญเสียรายได้ที่ควรจะหาได้จากช่วงชีวิตของตนถึง 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ซึ่งเทียบเท่า 17 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในโลกปัจจุบัน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมทุกฝ่าย พร้อมระบุถึงความสำคัญของการประชุมนานาชาติในครั้งนี้ ว่า เป็นไปเพื่อหาโซลูชั่นการศึกษาที่แต่ละฝ่ายสามารถนำไปปรับใช้กับบริบทของประเทศ โดยวาระเร่งด่วนของการศึกษาในเวลานี้ก็คือการฟื้นฟูการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กจำนวนมากกำลังประสบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ และปัญหาทางพัฒนาการร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เช่น พัฒนาการกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ผู้จัดการ กสศ. ย้ำอีกว่า การเร่งฟื้นฟูเด็กและเยาวชนกลับสู่ภาวะปกติ จนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการบูรณาการและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตามแนวคิด All for Education ซึ่งเป็นที่มาและวัตถุประสงค์หลักของการประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในครั้งนี้ พร้อมแสดงความหวังว่าการพูดคุยนำไปสู่การเกิดแผนการฟื้นฟูและพัฒนาเด็กที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เกิดการลงทุนเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืนในระยะยาว
“สิ่งที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดภาวะ ‘Lost Generation’ ซึ่งจะเป็นความสูญเสียที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทย และสังคมโลกอย่างมหาศาล” ดร.ไกรยส กล่าว ก่อนเผยว่า มีเด็กประมาณ 300,000 ราย ที่อยู่ในกลุ่มคนยากจนและต้องสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ไป ในช่วงของการปิดโรงเรียนเพราะโควิด-19 ซึ่งลำพังแค่การเยียวยาไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กบรรเทาผลกระทบต่อการสูญเสียการเรียนรู้ แต่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อฟื้นฟูการศึกษา นำเด็กที่หลุดออกจากโรงเรียน กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง ฉะนั้นทุกภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากร ความมุ่งมั่น และทุกมุมมองที่จะสามารถช่วยพวกเขาให้กลับมาโรงเรียนได้อีกครั้ง
ด้าน คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand) ระบุว่า การที่เด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป กว่า 70 % ทั่วโลก ขาดความสามารถในการอ่านเขียนเรื่องง่าย ๆ ซึ่งเป็นทักษะขั้นพื้นฐานจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตได้บั่นทอนโอกาสที่เด็กคนนั้นจะได้รับการพัฒนาจนเต็มศักยภาพ ทำให้ไม่มีทางเลือกมากนัก และบีบให้ต้องจำยอมตกเป็นเบี้ยล่างและการเอารัดเอาเปรียบของสังคม เช่น หากเป็นเด็กหญิงก็ต้องถูกบีบบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควร กลายเป็นคุณแม่วัยใสที่ยังไม่พร้อม หรือหากเป็นเด็กชายก็กลายเป็นแรงงานเด็กราคาถูก
คยองซอน คิม กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่อาจจะหลบซ่อนอยู่ในมุมมืดของสังคม อยู่ในจุดที่ยังไม่ได้รับการมองเห็นและต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้น หน่วยงานทุกฝ่ายต้องดำเนินการในเชิงรุก กล่าวคือเป็นฝ่ายที่ต้องเข้าหาเข้าถึงเด็ก ลงไปยังพื้นที่ที่พวกเขาอยู่ เพื่อให้เด็กแต่ละคนได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาที่มีความเฉพาะเจาะจง ในแบบที่พวกเขาต้องการ ขณะที่หน่วยงานทั้งหลายต้องประเมินผลติดตามอย่างต่อเนื่องจนกว่าที่เด็กคนนั้นจะยืนด้วยกำลังของตนเองได้อย่างมั่นคง
“หัวใจสำคัญคือเราต้องจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการเพิ่มเงินลงทุน โดยเน้นการลงทุนแบบมีเป้าหมายชัดเจน เพื่อนำโอกาสทั้งหมดมาสู่เด็ก ๆ ไม่เพียงพัฒนาแค่ตัวนักเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงระบบ เราจำเป็นต้องพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาพกายและจิตที่ดี โรงเรียนจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย และคอยสนับสนุนผู้เรียนอยู่เสมอ” คยองซอน คิม กล่าว
ขณะที่ ริกะ โยโรซุ หัวหน้าสำนักงานบริหารและผู้ประสานงานโครงการระดับภูมิภาค สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพ ฯ กล่าวว่า ทุกฝ่ายจำเป็นต้องสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษาให้แก่เด็ก ๆ ทั้งเด็กที่อยู่ในโรงเรียน และนอกโรงเรียน ฉะนั้น ไม่ว่าพวกเขาจะได้รับการศึกษาแบบอยู่ในโรงเรียน หรือผ่านระบบการศึกษาทางเลือก จะต้องมีการประเมินและรับรู้อย่างเท่าเทียม เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ต่อไปได้
ริกะ อธิบายว่า การให้ความสำคัญกับ ‘การศึกษา’ (Education) ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นเรื่องของ ‘SDG4’ หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal 4) เท่านั้น แต่เพราะการศึกษาที่เท่าเทียมไม่ใช่อนาคตแต่เป็นปัจจุบัน ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องทำให้แน่ใจว่า เด็กและเยาวชนจะได้รับการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม และได้เรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาสนใจจริง ๆ
“ฉันหวังอย่างยิ่งว่า เราจะสามารถเรียกเด็กรุ่นนี้ว่าเป็น รุ่นแห่งความสุขในอีก 10 ปีข้างหน้า ผ่านความร่วมมือร่วมใจกัน และสนับสนุนด้านการศึกษาของเรา” ริกะ กล่าว
วรางคณา มุทุมล ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์ คุณภาพโปรแกรมและผลกระทบ องค์การช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the Children) เสริมว่า นอกจากการปรับหลักสูตรการศึกษาและให้ความช่วยเหลือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว คุณครูก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนเช่นกัน ในฐานะผู้ที่เป็นหัวใจในการถ่ายทอดความรู้ ขัดเกลาบ่มเพาะทักษะทางอามณ์และสังคม ซึ่งเป็นซอฟท์สกิลที่สำคัญสำหรับโลกยุคใหม่
ทั้งนี้ วรางคณา ย้ำว่า ทุกฝ่ายต้องสนับสนุนการศึกษาทั้งระบบ ไม่ใช่มุ่งให้ความสำคัญแต่เด็กนักเรียนเท่านั้น เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูสู่การศึกษาที่ยั่งยืน การหาแนวทางแก้ไขร่วมกันในระดับนานาชาติว่าจะสนับสนุนพัฒนาคุณครูอย่างไร จะดูแลสุขภาพจิตของคุณครูที่ต้องรับมือกับความเครียด ภาระ และความขาดแคลนต่าง ๆ ได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ครูจึงจะมีสถานะมากกว่าผู้อบรมสั่งสอน แต่เป็นทั้งเพื่อน คนรู้ใจ และปราการที่แข็งแกร่งในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่เด็ก ๆ ได้