กลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) ร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จากการนำเอาเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง SDG4 และ SDG17 มาใช้โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนขยายผลให้เกิดขึ้นในทุกรูปแบบและทุกระดับขั้นการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางในสังคม ต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาคุณภาพได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม โดยการหารือครั้งนี้ได้หารือผ่านหัวข้อต่าง ๆ อาทิ
1) กรอบกฎหมายและการพัฒนาด้านนโยบาย
2) กลไกการจัดทำงบประมาณและการจัดหาเงินทุน
3) การจัดบริการด้านการศึกษา
4) การติดตามและประเมินผล
ซึ่งการประชุมครั้งนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และยูเนสโก กรุงเทพ ฯ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งที่ 5 ภายใต้การหาแนวทางส่งเสริมกิจกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (The 5th Meeting of Equitable Education Alliance : Identify Opportunities for EEA Activities) ซึ่งมีผู้แทนจาก 10 องค์กร ใน 12 ประเทศ ประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมแบบไฮบริด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ในครั้งนี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ โดยเน้นย้ำว่า แม้สมาชิกแต่ละหน่วยงานจะมีความแตกต่างกันในหลายด้าน แต่ทั้งหมดก็มีความมุ่งมั่นและมีใจเดียวกันที่จะทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของความเสมอภาคทางการศึกษา ทำให้การศึกษาที่เข้าถึงได้อย่างทั่วถึงเกิดขึ้นได้จริง
สำหรับประเด็นหลักของการหารือในครั้งนี้ ประกอบด้วย การระบุถึงอุปสรรคของความเสมอภาคทางการศึกษา ค้นหาองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา ระบุความเชี่ยวชาญและการดำเนินงานขององค์กรสมาชิก เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน แบ่งปันประสบการณ์การทำงานของเครือข่ายพันธมิตร ช่องทางความร่วมมือ เสนอแนะแนวทางในการก้าวข้ามความท้าทายของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และแนะนำองค์กรสมาชิกใหม่ของเครือข่าย

ในส่วนของสถานการณ์ทางการศึกษาในปัจจุบัน สมาชิกพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาต่างเห็นตรงกันว่าภาพรวมของการศึกษาในปัจจุบันเข้าขั้นภาวะวิกฤต โดยยูเนสโกได้ระบุตัวเลขของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาทั่วโลกในปี 2018 ว่ามีสูงถึง 258 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้
ขณะเดียวกัน สืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ช่องว่างของความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอุปสรรคของความเสมอภาคทางการศึกษานี้ หมายรวมถึง ทักษะทางดิจิทัลและความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล สภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว และการดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการปกป้องสิทธิด้านการศึกษาของบุคคลโดยตรง ดังนั้น การมีแผนเพื่อฟื้นฟูการเรียนการสอนภายหลังการระบาด และการสรุปบทเรียนเพื่อเรียนรู้จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน

ทั้งนี้ บรรยากาศในการประชุมเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นที่ตัวแทนจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ต่างหารือแลกเปลี่ยนแบ่งปันความคิดเห็น รวมถึงสอบถามแนวทางการทำงาน และการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยให้บรรดาพันธมิตรที่เหลือได้แนวคิดนำไปปรับใช้เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในพื้นที่ของตนเอง โดยประเด็นที่สมาชิกให้ความสนใจรวมถึงแนวทางการสรรหาเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษา
ในส่วนของแนวทางแก้ไข ลำดับความสำคัญในการจัดการของแต่ละพันธมิตรล้วนแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมของแต่ละประเทศ แต่โดยรวมเห็นตรงกันว่า ให้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และพัฒนาระบบการศึกษาบนพื้นฐานที่ต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ดังนั้น การส่งเสริมให้เก็บข้อมูลเพื่อให้เงินทุนด้านการศึกษาถูกใช้ไปกับกลุ่มที่ต้องการอย่างแท้จริง การมีระบบติดตามและประเมินผลกับโครงการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพเพื่อค้นหาตัวชี้วัดที่เป็นอุปสรรค การส่งเสริมให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และการวางแผนกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายจึงมีความจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้นสมาชิกพันธมิตร ต่างเสริมให้สนับสนุนการศึกษาในวัยผู้ใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเน้นย้ำว่ากลุ่มการศึกษานอกโรงเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ มีประชากรจำนวนมากจึงต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กลุ่มการศึกษาในระบบ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนพื้นที่บนโลกออนไลน์เพื่อให้พันธมิตรสามารถเข้าไปศึกษา และปรึกษาการทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเพิ่มเติมที่ the Equitable Education Hub ซึ่งทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กศส.) แสดงความคาดหวังว่า จะได้แนวทางสร้างสรรค์และความก้าวหน้าของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงเรื่องราวของความสำเร็จของบรรดาพันธมิตรที่จะได้นำมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนร่วมกันในอนาคตต่อไป