กสศ.เดินหน้าโครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงปี 65” รุ่นที่ 4 เชิญชวนสถานศึกษาสายอาชีพร่วมออกค้นหาเยาวชนขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เรียนต่อสายอาชีพ ปวช. ปวส. อนุปริญญา ผู้ช่วยพยาบาล-ผู้ช่วยทันตแพทย์ รวม 2,500 คน เพื่อปั้นกำลังคนป้อนตลาดแรงงานที่กำลังขาดแคลน และปิดช่องว่างลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลังพบเด็กยากจนมีโอกาสได้เรียนต่อสูงกว่ามัธยมปลายหรือ ปวช. เพียง 5% ต่อรุ่นเท่านั้น
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีประชุมรับฟังคำชี้แจงโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงปี 2565
นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง มีเด็กยากจนด้อยโอกาสถึง 4 ล้านคน และทวีความรุนแรงมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 จากการสำรวจพบว่าเด็กยากจนยังเรียนระดับประถมศึกษาค่อนข้างสูง แต่จะน้อยลงเรื่อยๆ ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยช่วงชั้นมัธยมต้นได้เรียน 80% ระดับมัธยมปลายได้เรียน 52.9% หากเรียนในระดับสูงขึ้นจะมีเพียง 5% ต่อรุ่น หรือราวๆ 8,000 คน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 30% นี่คือช่องว่างที่ห่างกันอยู่ถึง 6-7 เท่า
ข้อมูลความต้องการกำลังคนของประเทศไทย หากจะขับเคลื่อนนโยบาย 4.0 ได้นั้นต้องการแรงงานสายอาชีพจำนวนมาก เฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ต้องการกำลังคน 119,243 คน จากทั้งหมด 176,525 คน คิดเป็นสัดส่วน 80-90% โดยเฉพาะความต้องการด้านการแพทย์ครบวงจรและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
นางสาวธันว์ธิดากล่าวว่า ภารกิจหนึ่งของ กสศ.คือการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนยากจนด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษา เมื่อรวม 2 โจทย์เข้าด้วยกัน ทั้งความด้อยโอกาสและความต้องการแรงงานสายอาชีพ กสศ.จึงได้ออกแบบโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงปีละ 2,500 คน ให้ได้เรียนต่อสายอาชีพ (ปวช. ปวส. หรืออนุปริญญา) ในสาขาที่มีความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 สาขาที่ขาดแคลนด้านอาชีพระดับท้องถิ่น สาขาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมกับหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล และหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ระยะเวลา 1 ปี
เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือเยาวชนด้อยโอกาส ให้ได้รับโอกาสการพัฒนาและศึกษาต่อในระดับสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษาในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การบริหารจัดการสถานศึกษาที่สร้างสมรรถนะ (Competencies) และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเยาวชนให้ดีขึ้น
กสศ. จึงขอเชิญสถานศึกษาที่มีคุณสมบัติดังกล่าวสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยเป็นสถานศึกษาที่มีหลักสูตรดังกล่าวและผ่านการรับรองหลักสูตรโดยหน่วยงานต้นสังกัด สภาการพยาบาล และทันตแพทยสภา มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและอุปกรณ์ แหล่งเรียนรู้การจัดการและด้านที่พัก มีการบูรณาการการเรียนกับการทำงานในสถานประกอบการ สามารถผลิตบุคลากรป้อนสถานประกอบกิจการได้
การสนับสนุนทุนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- ทุนสำหรับพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งสถานศึกษา การแนะแนวประชาสัมพันธ์ การค้นหาเยาวชนด้อยโอกาส การพัฒนาคุณภาพหลักสูตร ระบบดูแลการมีงานทำ และการมีงานทำ ทุนประมาณ 10,000 บาทต่อทุนต่อปี
- ทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนด้อยโอกาส ได้แก่ 1. ค่าธรรมเนียมการศึกษา 2. ค่าใช้จ่ายรายเดือน ได้รับเดือนละ 6,500-7,500 บาท ตามหลักสูตรที่จะเข้าศึกษา
สถานศึกษาและเยาวชนผู้รับทุนจะได้รับการหนุนเสริมศักยภาพ การพัฒนาทักษะในยุคใหม่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถานศึกษาและผู้รับทุน เป็นต้น
ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กล่าวว่า สถานศึกษาที่เชิญเข้าร่วมยื่นข้อเสนอโครงการมาจากทุกสังกัด สอศ. อว. และกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์
โครงการนี้ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับสถานประกอบการ เช่นเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติจริง และการเพิ่มทักษะของนักศึกษาในด้านต่างๆ เช่น ทักษะการดำรงชีวิต ทักษะการสื่อสาร ทักษะทางการเงิน ทักษะการจัดการตนเอง ความเครียด เป็นต้น ซึ่งเป็นทักษะที่จะช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ด้วยการช่วยเหลือครอบครัวของเขาด้วย
ขณะที่นายนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การคัดเลือกสถานศึกษามี 6 ด้าน
- ความพร้อมของหลักสูตรบุคลากร เครื่องมือ ที่พัก ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
- การจัดแนะแนวการประชาสัมพันธ์การศึกษาสายอาชีพและทุนการศึกษา โดยสถานศึกษามีหน้าที่ให้ข้อมูลผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะเด็กบางคนถอดใจไม่เรียนต่อ จึงไม่สนใจข้อมูลข่าวสารด้านการศึกษาแล้ว ดังนั้นต้องทำให้เด็กได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ อย่างน้อยให้เขารู้ว่ายังมีโอกาส
- วิธีการค้นหาและคัดเลือกนักเรียนเข้ารับทุน ต้องจัดทีมลงไปในพื้นที่เพื่อสร้างแรงจูงใจ เพราะเด็กบางคนไม่มีแม้กระทั่งเงินค่ารถ อย่างไรก็ตาม ความจนอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเจตคติที่ดีต่อการศึกษาสายอาชีพ
- การพัฒนาระบบดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของผู้รับทุนให้สามารถเรียนจนจบตามกำหนดเวลาได้ เพราะเด็กยากจนถือเป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งหากมีความเครียดอาจจะทำให้ทิ้งทุนได้ ดังนั้นสถานศึกษาต้องมีระบบให้คำปรึกษา ชี้ทางออก บอกทางแก้ ประคับประคองจนเรียนจบได้
- การพัฒนาหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูง คือ เพิ่มคอร์สการเรียนที่เสริมทักษะด้านที่ขาด
- การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของผู้ที่จะจบหลักสูตรการศึกษา
นายนพพร กล่าวว่าในการพิจารณาคัดเลือก เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม จึงจะมีคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ภาควิชาการ และสื่อมวลชน โดยพิจารณาจากข้อเสนอโครงการและการสัมภาษณ์เพิ่มเติมผ่านทางโทรศัพท์หรือระบบซูม
สถาบันใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการกับ กสศ.มาก่อน จะมีผู้ทรงคุณวุฒิลงพื้นที่ด้วย จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลรวมกัน และนำไปสู่การพิจารณาขั้นตอนที่ 2 ของคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงภาคบังคับ จากนั้นลงมติคัดเลือกสถาบันที่มีความพร้อม มีความเข้าใจ มีความมุ่งมั่น ทั้งนี้คำตัดสินถือเป็นมติและขอสงวนสิทธิ์เป็นที่สุด
โครงการจะดำเนินการค้นหา คัดกรองความยากจน และคัดเลือกคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับทุน ซึ่งมีคุณสมบัติดังนี้
- กำลังเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ ปวช. 3 หรือเทียบเท่า โดยอยู่ระหว่างการศึกษาและใกล้จะจบ ในปีการศึกษา 2564
- ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสตามเกณฑ์ กสศ. คือ ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยคนละไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน หรือเป็นกลุ่มด้อยโอกาส อาทิ พิการ กำพร้า
- มีศักยภาพในการศึกษาต่อกรณีใดกรณีหนึ่ง ต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสม 5 ภาคเรียนอยู่ที่ 2.50 – 3.00 ขึ้นอยู่กับกรณีหรือมีความสามารถพิเศษโดดเด่น
- คุณสมบัติเฉพาะ เช่น ความวิริยะ อุตสาหะ ความถนัด และเจตคติ ความประพฤติ
สถานศึกษาสายอาชีพที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ
สามารถยื่นข้อเสนอโครงการทางออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ – 13 ธันวาคม 2564
อ่านรายละเอียดได้ที่ โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2565
ร่วมกันสร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน