สพฐ. จับมือ กสศ. พัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา นำร่อง 28 เขตพื้นที่การศึกษา
เชื่อมโยงข้อมูลและพัฒนารูปแบบการเก็บข้อมูลเพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนครอบคลุมทุกมิติ

สพฐ. จับมือ กสศ. พัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา นำร่อง 28 เขตพื้นที่การศึกษา

เมื่อวันที่ 23-24 มีนาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ร่วมกับ ศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดประชุมพัฒนากลไกการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน สำหรับเขตพื้นที่การศึกษาต้นแบบ 28 เขตพื้นที่ โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา นักจิตวิทยาโรงเรียน และผู้รับผิดชอบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน รวมกว่า 150 คน เข้าร่วมรับฟังกรอบแนวคิดและทิศทางการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นกลไกขับเคลื่อนงานระดับเขตพื้นที่

ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามสร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนร่วมกับกรมสุขภาพจิตตั้งแต่ปี 2543 โดยมีหลักการทำงาน 5 ขั้นตอนประกอบด้วย 1.) ทำความรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล 2.) คัดกรองจำแนกกลุ่มเสี่ยง 3.) ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ 4.) วางแนวทางป้องกันแก้ไข และ 5.) ส่งต่อ/ดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่กำลังเผชิญปัญหา อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านองค์ความรู้และทรัพยากร ทำให้ระบบดังกล่าวดำเนินการด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูเป็นหลัก กระทั่งได้มีความร่วมมือกับ กสศ. ที่ช่วยออกแบบและพัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศทำให้โรงเรียนมีเครื่องมือเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งการสร้างความร่วมมือในการส่งต่อดูแลช่วยเหลือภายใต้ข้อมูลชุดเดียวกันไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ.

“รูปแบบของปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แม้ สพฐ. ยังคงพยายามพัฒนาระบบฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยเงื่อนไขอันเป็นข้อจำกัดนานาประการ ระบบจึงยังพัฒนาได้ไม่ถึงจุดที่สามารถรองรับความหลากหลายของเด็กเยาวชนได้ในทุกมิติ วันนี้จึงมีความพยายามอีกครั้งโดยความร่วมมือของหลายฝ่าย ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีโจทย์โดยตรงเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย พื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน กำหนดเขตพื้นที่การศึกษานำร่องให้เห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม นำมาสู่การทบทวนและถอดบทเรียนการทำงานของ 28 เขตพื้นที่การศึกษาในการประชุมครั้งนี้”

“รูปแบบของปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แม้ สพฐ. ยังคงพยายามพัฒนาระบบฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยเงื่อนไขอันเป็นข้อจำกัดนานาประการ ระบบจึงยังพัฒนาได้ไม่ถึงจุดที่สามารถรองรับความหลากหลายของเด็กเยาวชนได้ในทุกมิติ วันนี้จึงมีความพยายามอีกครั้งโดยความร่วมมือของหลายฝ่าย ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีโจทย์โดยตรงเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย พื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน กำหนดเขตพื้นที่การศึกษานำร่องให้เห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม นำมาสู่การทบทวนและถอดบทเรียนการทำงานของ 28 เขตพื้นที่การศึกษาในการประชุมครั้งนี้”

รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ถูกพัฒนาขึ้นจากฐานข้อมูลนักเรียนเป็นรายคน ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกที่แสดงให้เห็นมิติด้านการศึกษา สุขภาพกายใจ คุณภาพชีวิต สถานะครอบครัว สิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงทางการศึกษาและการดำรงชีวิตของนักเรียนและครอบครัว เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยป้องกันเด็กเยาวชนจากปัญหาและพัฒนาศักยภาพได้เต็มกำลัง ระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นการยกระดับการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลังจาก สพฐ. ได้ร่วมมือกับ กสศ. จัดเก็บข้อมูลคัดกรองนักเรียนเพื่อรับเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) ครอบคลุมสถานศึกษาทุกแห่ง โดยระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จะเริ่มจากเขตพื้นที่การศึกษาต้นแบบ 28 เขต ครอบคลุมสถานศึกษา 1,050 แห่ง ก่อนขยายผลคลอบคลุมสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ เพื่อจัดทำระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกคนต่อไป

“ด้วยโจทย์ด้านการศึกษาที่ท้าทายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เรายังต้องรับมือกับภาวะสูญเสียการเรียนรู้หรือ Learning Loss อย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาเดิม ๆ ที่ประสบมาตลอดก็จะมีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น เราจึงมีภาระหน้าที่ร่วมกันอีกมากในการจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยต้องช่วยกันสังเคราะห์บทเรียนจากหน้างานจริง แล้วหาแนวทางตั้งรับให้ทันต่อสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งที่ กสศ. เข้ามาช่วยคือการวางระบบฐานข้อมูลที่นำไปสู่การวิเคราะห์ ประมวลผล ประเมินความเสี่ยง ซึ่งวันนี้ได้เดินหน้ามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เราได้เห็นการจัดการข้อมูลที่ค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกมิติ เป็นเครื่องมือช่วยเหลือครูให้เข้าถึงเด็กเป็นรายคน สามารถดึงความช่วยเหลือที่เหมาะสมให้ไปถึงตัวเด็ก เกิดเครือข่ายความร่วมมือรับส่งต่อเด็กระหว่างหน่วยงาน ระหว่างสถาบัน มีระบบป้องกันแก้ไขก่อนเกิดปัญหาที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ทั้งยังเป็นส่วนประกอบของการวางแนวทางส่งเสริมผลักดันให้นักเรียนได้พัฒนาตัวเอง ทั้งการเรียน การใช้ชีวิต มีทักษะอาชีพที่ตรงกับความสามารถ อยู่ในโรงเรียนได้อย่างมั่นคงจนจบการศึกษา” ดร.ธีร์ กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึงภารกิจในการสนับสนุนเครื่องมือเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าปัจจุบัน กสศ. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการดำเนินงานโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค มีการจัดทำเครื่องมือการคัดกรองและการจัดเก็บข้อมูลความยากจนของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อรับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากหน่วยงานต้นสังกัดและเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

สำหรับ สพฐ. เป็นหน่วยจัดการศึกษาที่มีนักเรียนในภาพรวมทั้งประเทศมากที่สุดที่มีการคัดกรองความยากจนและมีการจัดทำข้อมูลเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงที่ลงไปถึงตัวเด็กนักเรียนและครัวเรือนที่สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นจริงที่หน่วยงานภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล เป็นผลจากการลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องของคุณครูราว 400,000 คน จากโรงเรียนกว่า 30,000 แห่งในสังกัด สพฐ. และโรงเรียนทุกสังกัด ในขณะเดียวกัน กสศ.และ สพฐ. ได้ร่วมกันพัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเพื่อคัดกรองนักเรียนรายบุคคลที่ครอบคลุมทุกมิติเเละเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

“การดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องตั้งเเต่ระดับสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา บ่งบอกถึงเส้นทางความร่วมมือระหว่างองค์กร แสดงให้เห็นว่าถ้ามีข้อมูลที่ดีจากหน้างานจริง จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่นำไปสู่การได้รับการจัดสรรทรัพยากรและการสนับสนุนด้านอื่น ๆ จากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งหมายถึงโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชน ผู้ปกครอง รวมถึงสถานศึกษาทุกแห่ง แม้ว่าวันนี้เราอาจเริ่มต้นพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนจาก 28 เขตพื้นที่การศึกษา แต่วันข้างหน้าหากระบบทำงานได้อย่างตรงจุด การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กทุกคนก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน”

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้ กสศ. และ สพฐ. ได้ร่วมกันสร้างหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาที่เป็นรูปธรรม โดยนอกจากจะมีระบบดูแลช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และขาดโอกาส ยังมีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกคนที่มีการประเมินความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ มีแนวทางการดูแลที่ใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา

“การทำงานร่วมกับ สพฐ. มากกว่า 3 ปี ทำให้มีข้อมูลเด็กเยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย มีการคัดกรองความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ที่ไม่ได้นำมาใช้กับเฉพาะนักเรียนทุนเสมอภาค แต่เป็นการพัฒนาระบบและเครื่องมือสารสนเทศให้ครอบคลุมนักเรียนทุกกลุ่ม โควิด-19 ทำให้มีเด็กกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้นชั่วข้ามคืน ระบบนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือและพัฒนาเด็กทุกคนได้ตามความหลากหลายของกลุ่มประเภทปัญหา มีแนวทางดูแลที่ใกล้ชิด มีการคัดกรองความเสี่ยงทางสุขภาพใจ มีเครื่องมือและมาตรการสนับสนุนระยะยาว เพื่อเสริมจุดอ่อน ผลักดันจุดแข็งให้ทุกคนข้ามผ่านอุปสรรคไปจนขัดเกลาความสามารถภายในตัวเองได้อย่างเต็มที่” ดร.ไกรยส กล่าว

นายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สพฐ.

ด้าน นายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ได้กล่าวถึงคณะทำงานเขตพื้นที่การศึกษาว่าคือข้อกลางการทำงานเชื่อมต่อไปถึงสถานศึกษา โดยมีระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นร่มใหญ่ที่สำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ และเป็นข้อมูลสะท้อนกลับมายังกระทรวงศึกษาธิการให้จัดการศึกษาและเติมเต็มการดูแลนักเรียนทุกคนได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ ระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จะมีผลกับนักเรียนนับตั้งแต่เข้าสู่ระบบการศึกษา ด้วยการแยกหมวดหมู่ ทำความรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคลผ่านการเยี่ยมบ้าน การประชุมผู้ปกครอง เป็นเครื่องมือที่ สพฐ. พัฒนาร่วมกับ กสศ. นำเอาข้อมูลต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นระบบสารสนเทศที่รวมไว้ในแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งคุณครู ผู้บริหารสถานศึกษา คณะทำงานทุกฝ่าย จนถึงระดับผู้กำหนดนโยบาย สามารถติดตามเพื่อนำมาตั้งโจทย์ทำงาน หรือหยิบใช้ได้ทันทีที่ต้องการ

“ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จะมีความเข้าใจที่ว่าเรากำลังสร้างภาระเพิ่มเติมให้กับครูในการรวบรวม บันทึก ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน หรืองานจัดการเอกสารที่กินเวลาการทำงานในห้องเรียน  แต่ระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ 28 เขตพื้นที่การศึกษาร่วมกันนำร่องพัฒนาขึ้น ถือว่าเป็นระบบสารสนเทศต้นแบบสำหรับการบริหารงานทั้งโรงเรียน ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้กับครู ทั้งยังเป็นข้อมูลที่ส่งต่อไปถึงฝ่ายจัดสรรงบประมาณ หมายถึงเราได้มีตัวช่วยในการวางแผนงานทั้งระบบ เป็นเครือข่ายส่งต่อให้ขับเคลื่อนงานได้รวดเร็ว ในส่วนของตัวผู้เรียน ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนจะเชื่อมหลักสูตรแกนกลาง เชื่อมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ช่วยเชื่อมต่อการข้ามช่วงชั้นระหว่างสถานศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่ และจะทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายปลายทางที่จะไม่มีเด็กเยาวชนแม้แต่คนเดียวหลุดจากระบบการศึกษากลางทางได้เร็วยิ่งขึ้น” นายนิสิต ทิ้งท้าย