กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดข้อเสนอเร่งด่วน นโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา” เพื่อเด็กและเยาวชนยากจน 2.5 ล้านคน หลุดพ้นจากวงจรความยากจนข้ามรุ่น สำหรับวาระการเลือกตั้งของประเทศไทยที่กำลังจะมาถึง โดยเน้นนโยบายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ
ชูหลักประกันโอกาสการศึกษา 20 ปีไร้รอยต่อ ระบบการศึกษาหลายทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิต กระจายอำนาจให้เกิด Hub การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัด
กสศ. รายงานข้อค้นพบ ระบุว่า แม้ว่าภาครัฐจะดำเนินนโยบายเรียนฟรีและให้การสนับสนุนนักเรียนที่มาจากครัวเรือนยากจนอย่างต่อเนื่อง กระนั้นในแต่ละปียังคงมีนักเรียนบางส่วนที่จำเป็นต้องตัดสินใจออกจากการศึกษาภาคบังคับกลางคัน โดยพบว่า 1 ใน 5 ของเด็กไทยเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพราะความยากจนในระดับรุนแรง หรือประมาณ 2.5 ล้านคน (ร้อยละ 20 จากจำนวนนักเรียนในการศึกษาภาคบังคับทั้งหมด 9 ล้านคน) เฉพาะปี 2565 สถิติชี้ว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีประมาณ 900,000 กว่าคน นักเรียนกลุ่มนี้มาจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยที่ 1,044 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเพียงวันละ 34 บาทต่อคนต่อวัน สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 และการชะลอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน
“ผลการศึกษาในอดีตทั้งในและต่างประเทศชี้ว่า รายได้ของครัวเรือนนักเรียนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการออกกลางคัน ภาวะความยากจนในระดับรุนแรงบวกกับดักความคิดว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ดีขึ้นกว่าเดิม มีมุมมองอาชีพที่จำกัด มีผลต่อการตัดสินใจออกจากระบบการศึกษาอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานด้อยทักษะและมีลูกหลานที่ถูกผลิตซ้ำเส้นทางชีวิตตกอยู่ในวงจรความยากจนข้ามรุ่น”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ข้อค้นพบตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ในการทำงานของ กสศ.ร่วมกับเครือข่ายที่มุ่งเน้น “ทำความเข้าใจ” ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแรงจูงใจและความสามารถในการ “เข้าถึงการศึกษา” ของเด็ก เยาวชนและครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น กสศ. จึงเสนอ 3 ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเร่งด่วน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา โดยมุ่งนโยบายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ได้แก่
1.ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีหลักประกันทางการศึกษาให้แก่เยาวชนทุกคนอย่างไร้รอยต่อ
เชื่อมฐานข้อมูลเด็กและเยาวชน 2.5 ล้านคน และส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้รับสวัสดิการครอบคลุมทุกมิติและการสนับสนุนการศึกษาสูงสุดเต็มศักยภาพ ไม่มีใครตกหล่น และควรเพิ่มเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขให้เด็กเยาวชนในครัวเรือนใต้เส้นความยากจน (2,762 บาทต่อคน/ครัวเรือน) จำนวน 2.5 ล้านคน ทุกคน ครอบคลุมทุกการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกช่วงชั้น ทุกรูปแบบการเรียนรู้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงและคงอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งงบเรียนฟรี 15 ปี ยังไม่ครอบคลุม
การขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้ครอบคลุมนักเรียนระดับอนุบาลและมัธยมศึกษาตอนปลาย สายอาชีพและเทียบเท่าในทุกสังกัดการศึกษา และทุกรูปแบบการเรียนรู้ เช่น ศูนย์การเรียน บ้านเรียน วิทยาลัยการอาชีพ/เทคนิค รวมถึงปรับอัตราให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อของค่าครองชีพทางการศึกษา (ไม่ได้ปรับมา 14 ปี) เพื่อพยุงกำลังซื้อให้ผู้ปกครองยังคงมีกำลังส่งบุตรหลานให้ยังคงเรียนหนังสือ และเพิ่มศักยภาพของการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนแบบมุ่งเป้า ด้วยการใช้ EdTech ติดตาม เงื่อนไขการคงอยู่ในระบบการศึกษาไม่ให้ต่ำกว่าร้อยละ 80-85 พัฒนาการสมวัยรอบด้าน และระบบส่งต่อความช่วยเหลือจากโรงเรียนถึงทุกหน่วยงาน
2.ระบบการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิต หรือ Alternative Education
กสศ. พบว่าระบบการศึกษาไม่เข้ากับเด็ก ขาดแคลนทางเลือก ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายได้ เป็นสาเหตุสำคัญของการผลักดันให้เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาและระบบสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในครัวเรือนยากจน ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบางทางสังคมและปัญหาเฉพาะ เช่น เด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มตั้งครรภ์ในวัยเรียน กลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ
รัฐควรกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา สนับสนุนให้เกิดหน่วยจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันรายบุคคล มีความยืดหยุ่นทั้งเวลา รูปแบบ และเงื่อนไขในการเข้ารับบริการทางด้านการศึกษา สามารถเรียนแล้วได้วุฒิ ได้งาน ได้เงิน ได้ทักษะชีวิต ทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ ตัวอย่างนวัตกรรม เช่น โรงเรียน 3 ระบบ, 1 ตำบล 1 ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ,หลักสูตรอาชีพระยะสั้น Upskill & reskill ,โรงเรียนมือถือ, ศูนย์การเรียน โดยมีระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่น เช่น ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) เป็นกลไกที่ช่วยให้การเรียนรู้ทุกรูปแบบสามารถเทียบโอนหน่วยกิต เชื่อมต่อกันได้ทั้งระบบในทุกระดับ ทำให้การศึกษาตลอดชีวิตเกิดขึ้นได้จริง ขณะเดียวกันระบบสวัสดิการต้องครอบคลุมทุกรูปแบบการจัดการศึกษาด้วย
3.กระจายอำนาจด้วย Hub การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัดหรือท้องถิ่น
จัดทำนโยบายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของพื้นที่ และเชื่อมโยงความร่วมมือทุกมิติ รวมถึงจัดตั้งกองทุนลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนากำลังคนระดับจังหวัดหรือท้องถิ่น สามารถพัฒนานวัตกรรมการเงินและการคลัง เพื่อระดมทรัพยากรและบริหารงบประมาณภายในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
“ทุกวันนี้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว อัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลงกว่าเดิมมาก ไทยจึงเป็นประเทศที่ไม่สามารถปล่อยให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้แม้แต่คนเดียว นโยบายที่จะนำไปสู่ทางออกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่ยั่งยืนนั้น จึงต้องเป็นมากกว่าความช่วยเหลือในการให้เงินอุดหนุนและทุนให้เปล่า แต่ต้องส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ ผ่านระบบการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิต สามารถพึ่งพาตัวเองได้ การออกแบบนโยบายเช่นนี้จะไม่เพียงพาเด็กและเยาวชนจำนวน 2.5 ล้านคน จากครัวเรือนยากจน 20% ท้ายของประเทศ ก้าวออกจากวงจรความยากจนข้ามรุ่น ยังส่งผลต่อระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต เด็กเยาวชนทั้งประเทศ และประเทศไทยสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จภายในช่วงชีวิตของพวกเราทุกคน” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว
ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม : รายงานข้อค้นพบและข้อเสนอนโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา” เพื่อเด็กและเยาวชนยากจน 2.5 ล้านคน หลุดพ้นจากวงจรความยากจนข้ามรุ่น