เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 Equity Lab โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ Disrupt Technology Venture จัดงาน Equity Opportunity Day ครั้งที่ 2 เปิดพื้นที่ให้นวัตกรที่ทำงานด้านการเรียนรู้และการศึกษาจำนวนมากเข้าร่วมแลกเปลี่ยนไอเดียเกี่ยวกับการพัฒนาครู โดยโจทย์ในครั้งนี้ คือ ‘นวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับชีวิตประจำวันให้กับครูในพื้นที่ห่างไกล (นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น)’ รวมถึงพัฒนาศักยภาพอาจารย์มหาวิทยาลัย เสริมสร้างทักษะในการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการดำเนินงานของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นให้เหล่านวัตกรเข้าใจถึงความเป็นมาและเป้าประสงค์ของโครงการ โดยระบุถึงความสำคัญของครูที่จะต้องเป็นมากกว่าผู้สอนแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถเป็นครูนักพัฒนา และครูนวัตกร ที่จะพัฒนาโครงสร้างและคิดค้นนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อมาแก้ปัญหาการศึกษาของผู้เรียนได้ด้วย ซึ่งการสร้างครูที่มีคุณสมบัติในลักษณะนี้จะทำผ่าน Enrich Program หรือโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้จัดอบรบให้กับผู้ได้ทุนในโครงการอย่างต่อเนื่อง
จากนั้นเหล่านวัตกรได้รับฟังข้อมูลจากตัวแทนนักศึกษาครูและอาจารย์ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น 4 ท่าน ที่มาแบ่งปันผ่านวง Insight Corner เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเหล่านักศึกษาครูว่ามีปัญหาอย่างไร และแต่ละพื้นที่มีการจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร ซึ่งนอกจากครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะได้แบ่งปันประสบการณ์ของตนเองแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นวัตกรได้สอบถามเพิ่มเติม เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาต่อยอดอีกด้วย
ถัดมาจึงเข้าสู่ช่วง Ideation ที่เหล่านวัตกรได้ระดมสมองในหัวข้อ ‘นวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับชีวิตประจำวันให้กับครูในพื้นที่ห่างไกล (นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น)’ เพื่อหาไอเดียที่สร้างสรรค์มาต่อยอดนวัตกรรมต่อไป
หลังจากนี้ นวัตกรที่เข้าร่วมงาน Equity Opportunity Day ครั้งที่ 2 จะนำนวัตกรรมของตนเองในหัวข้อดังกล่าวมานำเสนอต่อ Equity Lab กสศ. และ Disrupt Technology Venture ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 โดย 3 ทีมที่ได้รับคัดเลือก จะได้รับทุนสนับสนุน 100,000 บาท เพื่อนำไปใช้พัฒนานวัตกรรมต่อไป
สำหรับนวัตกรรมที่ผ่านการคัดเลือก จะต้องเป็นนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาเชิงระบบในภาพรวม ไม่ใช่นวัตกรรมที่แก้ปัญหาได้เพียงในมิติใดมิติหนึ่ง และสามารถสร้างความยั่งยืนได้ โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกมีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือ 1) Solution/Product ต้นแบบ (prototype) ของนวัตกรรมต้องมีความชัดเจนและตอบโจทย์ปัญหา (pain point) จากผลสำรวจและความต้องการของครูรัก(ษ์)ถิ่น 2) Target Market เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และนวัตกรรมมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว 3) Impact สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม (impact) รวมถึงมีตัวชี้วัดของนวัตกรรมในด้านผลกระทบทางสังคมอย่างชัดเจน และ 4) Sustainable นวัตกรรมมีความยั่งยืน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้