กรุงเทพฯ 17 กันยายน 2565 – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ บริษัท Sea (ประเทศไทย) และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี เดินหน้าสร้างโมเดลลดความเหลื่อมล้ำด้วยแนวคิดนวัตกรรม ภายใต้โครงการ Equity Partnership’s School Network Season 4 เปิดโอกาสให้นักเรียนจากโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและในเมืองได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะในการประกอบอาชีพ พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตของเด็กและต่อสังคมอย่างมากในปัจจุบัน ตั้งเป้าเล็งขยายผลโมเดลสู่ระดับนานาชาติผ่านเครือข่าย รร.นานาชาติในสิงคโปร์และอังกฤษ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าโครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาค หรือ Equity Partnership’s School Network ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อต่อยอดความสำเร็จที่เกิดขึ้นในสามปีแรก ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาคีและภาคประชาชน สร้างรายได้กลับคืนสู่โรงเรียนเครือข่าย กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น พร้อมเสริมทักษะที่สำคัญต่อโลกยุคปัจจุบันใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง (Empathy & Cross Cultural Understanding) 2.ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และ 3.ทักษะการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ (Digital Entrepreneurship) ให้กับเด็กและเยาวชน นับเป็นนวัตกรรมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จากการสร้างพื้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายที่มีเป้าหมายร่วมกัน โดยในปีที่ 4 นี้ นับเป็นปีที่มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ เป็นจำนวนมากที่สุดถึง 20 โรงเรียน
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 ที่สังคมโลกต้องการความเข้าอกเข้าใจและความเอื้อเฟื้อในการอยู่ร่วมกัน โครงการ Equity Partnership’s School Network Season 4 จึงถูกขับเคลื่อนด้วยกระบวนการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม หรือ Social Emotional Learning (SEL) แบ่งเป็นทักษะสำคัญ 5 ประเภท (Big Five Model) ได้แก่ 1.ความรับผิดชอบต่องาน 2.ทักษะทางอารมณ์ 3.ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 4.การเปิดรับประสบการณ์ และ 5.ทักษะสังคมและการมีส่วนร่วมกับผู้อื่น ภายใต้แนวคิดของโครงการฯ ที่มุ่งสร้างสรรค์พื้นที่สังคมแห่งความร่วมมือและมิตรภาพ ไม่เพียงสร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาในเขตเมืองและสถานศึกษาในเขตชนบท แต่ยังส่งเสริมให้เด็กนักเรียนทุกคนมีความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะแสดงศักยภาพของตัวเองผ่านการทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
“การสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับประเทศ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และสถานศึกษา สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ เห็นได้จากผลของโครงการ Equity Partnership ที่ผ่านมาที่สะท้อนให้เห็นว่า หากได้รับโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทุกฝ่ายล้วนยินดีให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ และหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กๆ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะฟื้นฟู ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมเล็งขยายผลโมเดลสู่ระดับนานาชาติผ่านเครือข่าย รร.นานาชาติในสิงคโปร์และอังกฤษ ตามเป้าหมายของ กสศ. ที่ต้องการเห็นสังคมร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และเกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะอยู่ในมุมใดของระบบการศึกษา” ดร.ไกรยส กล่าว
นางพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัท Sea (ประเทศไทย) มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือของโครงการฯ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ด้วยการสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยเด็กนักเรียนบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Shopee สร้างรายได้กลับคืนสู่นักเรียนได้จริง พร้อมทั้งต่อยอดการสร้างอาชีพในอนาคตให้กับเด็กนักเรียน ผ่านการพัฒนาทักษะด้านการทำธุรกิจ E- Commerce ให้กับเด็กนักเรียน รวมถึงการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลผ่านการลงมือทำจริง (Digital entrepreneurial skill) และการลดช่องว่างทักษะดิจิทัล (Digital Inclusion) เพื่อให้เยาวชนสามารถนำทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยีสร้างรายได้และประโยชน์ให้ชุมชน ซึ่งเป็นทักษะใหม่ที่สำคัญท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงบนโลกดิจิทัล
ด้าน นายเกรกอรี่ เธรลฟอล – ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่องค์ความรู้ โรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี่ กรุงเทพ กล่าวว่า โครงการ Equity Partnership ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเสมอภาคระหว่างเด็กๆ จากโรงเรียนในเมืองกับเด็กๆ จากโรงเรียนในต่างจังหวัด ผ่านการสร้างประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีคุณค่า ไม่เพียงสร้างมิตรภาพระหว่างกัน แต่ยังก่อให้เกิดการบูรณาการทักษะอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการตลาด ทักษะการออกแบบและผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ ทักษะการเล่าเรื่องราว ไปจนถึงทักษะการเป็นผู้ประกอบการ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ของประเทศ