สืบเนื่องจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียน ส่งผลให้ทางกระทรวงศึกษาธิการเอสโตเนีย จับมือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการศึกษาวิจัยหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบในการสอบเพื่อจบการศึกษาจากระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของเด็กนักเรียนทั่วประเทศ จากระบบการสอบแบบแบบเดิม หวังลดภาระและความเคร่งเครียดของนักเรียน รวมถึงปรับให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและสภาพแวดล้อมของผู้เรียนให้มากที่สุด แต่ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการบ่งชี้คุณภาพของตัวนักเรียนที่ดีที่สุดด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ตามหลักสูตรการศึกษาแบบเดิม โรงเรียนทุกแห่งทั่วเอสโตเนียจะจัดให้นักเรียนในระดับมัธยมต้นต้องสอบไฟนอลปลายภาค และทำคะแนนทุกวิชาภาคบังคับให้ได้ขั้นต่ำอย่างน้อย 50 % ขึ้นไปจึงจะสามารถสอบผ่านได้ใบรับรองว่าสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้
อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวต้องยกเลิกไปในปี 2020 และมีเหตุให้ต้องปรับเปลี่ยนและผ่อนปรนกฎระเบียบเงื่อนไขในปี 2021 เพราะสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยหนึ่งในกฎระเบียบที่ผ่อนปรนก็คือนักเรียนที่เข้าสอบไม่จำเป็นต้องทำคะแนนให้ได้ขั้นต่ำอย่างน้อย 50% ซึ่งในประเด็นนี้ ทำให้ทางกระทรวงศึกษาธิการและวิจัยแห่งเอสโตเนีย พิจารณาว่า น่าจะปรับให้ข้อกำหนดเรื่องเกณฑ์การสอบผ่านดังกล่าวมาใช้เป็นกฎหลักถาวรต่อเนื่องหลังจากนี้เป็นต้นไป
สถานีโทรทัศน์ ERR รายงานอ้างอิงคำกล่าวของ Ülle Matsin หัวหน้ากรมนโยบายการศึกษาทั่วไป ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและวิจัยแห่งเอสโตเนียอธิบายว่า เนื่องจากข้อยกเว้นดังกล่าวเห็นผลที่มีความหมายได้ชัดเจน ดังนั้น ในปีนี้ทางกระทรวงฯ จึงมีแผนกำหนดให้ข้อยกเว้นที่ว่านี้กลายเป็นหลักการที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ก่อนเกิดวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทางกระทรวงฯ กำหนดให้นักเรียนต้องสอบผ่านให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของผลการเรียนสูงสุด เพื่อที่จะสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ทว่าในขณะนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังแสวงหาแนวทางการสอบวัดระดับใหม่ โดยเริ่มต้นจากการพิจารณาเปลี่ยนการวัดคะแนนด้วยการใช้ช่วงคะแนนห้าระดับ (five-point scale) มาเป็นการวัดแบบคะแนนร้อยละ (percentage points) ซึ่งใช้ในการสอบปลายภาคของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อปรับเกณฑ์ให้ไม่ยากพอที่เด็กจะทำการสอบเพื่อให้ผ่านและสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เป็นการวัดระดับโดยให้ความสำคัญกับการผ่าน มากกว่า ตัวเลขของคะแนนนั่นเอง
ก่อนหน้านี้ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา ทางกระทรวงศึกษาธิการเอสโตเนียยังได้เข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับทางสมาคมครูทั่วประเทศ เกี่ยวกับแนวทางการวัดผลการสอบดังกล่าว ซึ่งครูส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยและยกมือสนับสนุนแผนการดังกล่าว กลายเป็นที่มา ที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเตรียมอนุมัติใช้เป็นกฎระเบียบอย่างจริงจัง
ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังมองว่าเป็นผลดีต่อตัวเด็กนักเรียน เพราะแทนที่จะต้องทุ่มเทเวลามาเตรียมตัวสอบจบ เด็กมัธยมต้นเหล่านี้จะได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเตรียมความพร้อมทำข้อสอบเพื่อสอบเข้า หรือสอบเลื่อนชั้นวัดระดับไปยังชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระและความเคร่งเครียดได้เป็นอย่างดี
วันเดียวกัน มีรายงานว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการโปแลนด์ได้ประกาศแนวทางการศึกษาของประเทศในปีนี้ว่าจะให้น้ำหนักความสำคัญกับอาชีวะศึกษา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงานในหลายภาคส่วนที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะความชำนาญในการลงมือปฏิบัติ ควบคู่ไปกับความรู้ความเข้าใจในสายงาน
ทั้งนี้ สื่อท้องถิ่นของโปแลนด์รายงานว่าตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ทางกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์จะเพิ่มเงินทุนอุดหนุนทางการศึกษาต่อนักเรียนหนึ่งคนให้แก่โรงเรียนที่จัดสอนหลักสูตรการฝึกอบรมในวิชาชีพขั้นสูงที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน
นโยบายสนับสนุนการศึกษาที่มุ่งเน้นการศึกษาด้านอาชีพครั้งนี้ มีขึ้นหลังมีผลการศึกษาคาดการณ์แนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานระดับชาติและระดับภูมิภาคประจำปี ที่พบว่าทุกอุตสาหกรรมต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือในสายงานที่เกี่ยวข้อง คือจบแล้วสามารถลงมือทำได้ทันที และไม่ต้องเสียเวลาปรับตัวในการทำงานมากขึ้น โดยการศึกษายังเปิดเผยรายชื่อ 30 อาชีพที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการในระดับสูงในช่วง 5 ปีข้างหน้า
สำหรับสุดยอดอาชีพยอดนิยมประจำปี 2565 ที่โปแลนด์เพิ่งเปิดเผยออกมา คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการก่อสร้างและการผลิตจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการมากที่สุด ซึ่งรวมถึงช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ผู้ปฏิบัติงานเมคคาทรอนิกส์ (วิทยาการสาขาวิศวกรรมที่มุ่งเน้นวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้าและเครื่องกลวิศวกรรมระบบและยังรวมถึงการรวมกันของหุ่นยนต์ , อิเล็กทรอนิกส์ , คอมพิวเตอร์ , การสื่อสารโทรคมนาคม , ระบบ , ควบคุมและผลิตภัณฑ์วิศวกรรม) และช่างเทคนิคระบบอัตโนมัติ
ที่มา : Estonia seeks to change rules for finishing lower secondary school