สวนผักโรงเรียนเทรนด์เพื่อความยั่งยืนด้านอาหารในสหรัฐฯ
โดย : Joel Stice, Education World Contributor
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์อัจนปัญญา

สวนผักโรงเรียนเทรนด์เพื่อความยั่งยืนด้านอาหารในสหรัฐฯ

โรงเรียนในสหรัฐฯ หลายแห่งขยายผลความสำเร็จโครงการปลูกผักในรั้วโรงเรียน (Farm to School) แหล่งอาหารมื้อกลางวันสำหรับนักเรียน สู่การเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งอาหารสำคัญสำหรับเด็กๆ และชุมชน

ท่ามกลางแดดยามสายของวัน บรรดานักเรียนของโรงเรียนในรัฐอาร์คันซอซึ่งเข้าเรียนวิชาโฮเนสโบโรเพื่อสุขภาพสุขศึกษาและสิ่งแวดล้อมศึกษา (Jonesboro Health, Wellness and Environmental Studies) ต่างกำลังมุ่งมั่นเก็บเกี่ยวพืชผักที่สวนของโรงเรียนเพื่อประกอบมื้ออาหารกลางวัน

ผักเหล่านี้เป็นผลงานการเพาะปลูกของครู บุคลากร และเด็กนักเรียนของโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนมีสวนทั้งหมด 3 แห่ง ปลูกตั้งแต่มะเขือเทศ ผักกาดหอม หัวแรดิช และสมุนไพรต่าง ๆ เช่น ออริกาโน่ ซึ่งผลิตผลในสวนเหล่านี้เปิดให้นักเรียนทุกคนเข้ามาเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปประกอบอาหารมื้อกลางวันของตนเองได้ นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของโรงเรียนหลายหมื่นแห่งทั่วสหรัฐฯ ที่หันมาปลูกพืชผักและทำฟาร์มภายในรั้วโรงเรียน โดยบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาการสอนที่ว่าด้วยเรื่องชีวภาพพืชผัก การเพาะปลูก การเกษตร การโภชนาการ ไปจนถึงเรื่องการประกอบอาหารสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

วิทนีย์ เซียนเซตตา (Whitney Ciancetta) ผู้ประสานงานด้านเรือนกระจกโรงเรียนประถมเทรนตัน (Trenton) ในรัฐเมน  สหรัฐฯ กล่าวว่า จุดประสงค์ของการบูรณาการการปลูกผักทำสวนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโรงเรียน และเป็นส่วนหนึ่งของวิชาที่เด็กต้องเรียนในห้องเรียน นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องวิธีการเพาะปลูกและโภชนาการที่จำเป็นต่อสุขภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดให้ความรู้เรื่องภาวะโลกร้อนและลดปัญหาภาวะขาดแคลนอาหารในกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ตลอดจนลดภาระค่าใช้จ่ายในโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืนด้านอาหารของโรงเรียนรวมถึงชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ตลอด 1 ปีที่โรงเรียนเริ่มต้นโครงการปลูกผักในรั้วโรงเรียน คุณครูและเจ้าหน้าที่ประจำโรงอาหารพบว่า เด็กนักเรียนรับประทานผักกันมากขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพราะผักมีรสชาติที่ดีกว่า หรือเพราะเป็นผักที่ปลูกเองจนทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจ แต่อย่างน้อยโครงการปลูกผักนี้ก็ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกกระตือรือร้นมาโรงเรียนยิ่งขึ้น

รายงานระบุว่าผักที่ปลูกในรั้วโรงเรียนมีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแตงกวา แครอท หัวหอม กะหล่ำปลี มันฝรั่ง และพริกไทย ซึ่งผักทั้งหมดนี้นอกจากจะปลูกในสวนแล้ว ส่วนหนึ่งยังปลูกในเรือนกระจกที่ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นภายใต้ความร่วมมือของนักเรียนชั้นมัธยมต้นของโรงเรียน เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกให้เพิ่มมากขึ้น

หากพูดถึงจุดเริ่มต้นโครงการ ต้องยกความชอบนี้ให้กับองค์การฟู้ดคอร์ป (FoodCorps) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอเมริคอร์ป (AmeriCorps) ผู้ให้ความรู้เรื่องโภชนาการแก่เด็กนักเรียนชาวอเมริกัน โดยแต่ละเดือนองค์การฟู้ดคอร์ปสจะทำการทดสอบรสชาติ (Taste test) ผักที่ปลูกในรั้วโรงเรียนร่วมกับเด็กนักเรียน

นอกจากนี้ จากการสำรวจของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA) ประจำปี 2015 พบว่า การทำสวนผักไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรและพืชพรรณท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังพัฒนาพื้นที่สีเขียวและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เด็ก ๆ เมื่อได้รับประทานผักผลไม้สด ๆ ได้ตลอดเวลา ทั้งยังช่วยปูพื้นฐานพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่จะติดตัวเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่อีกด้วย

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของ Farm to School Network ศูนย์กลางเครือข่ายความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของสวนในโรงเรียน พบว่าโครงการ Farm to School ส่งผลให้เด็กมีความเต็มใจที่จะลองอาหารใหม่ ๆ และนักเรียนอีก 44.2% หันมารับประทานผักและผลไม้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ประมาณ 22% ของเขตการศึกษาที่มีสวนในโรงเรียนยังสามารถให้บริการผลผลิตเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโครงการอาหารภาคฤดูร้อน อีกทั้งฟาร์มในโรงเรียนเหล่านี้ยังใช้เป็นพื้นที่ในหลักสูตรฟาร์มศึกษาช่วงปิดเทอมฤดูร้อน เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ ตื่นตัวและเกิดการศึกษาเรียนรู้ตลอดช่วงฤดูร้อนได้อย่างดี

ทั้งนี้โครงการปลูกผักในรั้วโรงเรียนเกิดขึ้นจากการริเริ่มของเครือข่ายฟาร์มสู่โรงเรียนแห่งชาติ (National Farm to School Network) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2007 โดยในช่วง 10 ปีแรกของโครงการเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายพันธมิตรในทุกภาคส่วน การเดินหน้าลงมือปฏิบัติงานตามแนวทางยุทธศาสตร์ที่วางไว้ส่งผลให้โครงการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเพียงจำนวนไม่กี่หยิบมือในช่วงปลายทศวรรษ 1990 มาอยู่ที่มากกว่า 42,587 แห่งในเกือบทุก 50 รัฐทั่วสหรัฐฯ รวมถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หรือคิดเป็นสัดส่วน 42% ของโรงเรียนทั้งหมดที่มีอยู่ในสหรัฐฯ เป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนชาวอเมริกันมากกว่า 23.6 ล้านคน และช่วยประหยัดงบประมาณค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนได้มากกว่า 789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ยังมีข้อมูลสนับสนุนจากเครือข่ายฟาร์มสู่โรงเรียนแห่งชาติร่วมกับศูนย์เพื่อระบบอาหารภูมิภาค มหาวิทยาลัยมิชิแกน (Michigan State University Center for Regional Food Systems) สำรวจพบว่า โครงการฟาร์มสู่โรงเรียนได้ขยายไปยังสถานอนุบาลสำหรับเด็กเล็กทั่วประเทศ รวมถึงในพื้นที่ห่างไกลแล้ว ขณะที่ 49% ของผู้ตอบแบบสอบถามจาก 46 รัฐกำลังลงมือทำฟาร์มและบรรจุกิจกรรมปลูกผักในรั้วโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของวิชาการเรียนการสอน และอีก 30% ของโรงเรียนวางแผนจะเริ่มดำเนินการในอนาคตอันใกล้

ที่มา : Farm To School, Digging Into The Growing Trend Of Schools Growing Their Own Food