นักศึกษาต้องควักกระเป๋า (เพิ่ม) เท่าไหร่เพื่อลงทุนกับการศึกษาที่มีคุณภาพ ข้อมูลที่น่าสนใจบอกว่าพวกเขายอมจ่ายให้สถาบันการศึกษาในราคาที่จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการเรียนพิเศษนอกมหาวิทยาลัย นักวิจัยเวียดนามเผยผลการศึกษาเรื่องการคำนวนค่าเล่าเรียนที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ โดยต้องเป็นค่าเล่าเรียนที่รักษาสมดุลระหว่างคุณภาพกับราคาที่เอื้อมถึง
รายงานระบุว่า ค่าเล่าเรียนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อเป้าหมาย 2 ประการของการศึกษาระดับอุดมศึกษา นั่นคือ การรับประกันคุณภาพและการขยายการเข้าถึง
หากไม่มีการเพิ่มค่าเล่าเรียนก็อาจไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะรับประกันคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นอุปสรรคที่เพิ่มเติมให้กับนักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และมีศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการต่าง ๆ ในระดับต่ำ
ดังนั้นประเด็นเรื่องค่าเล่าเรียนและความยินยอมพร้อมใจจ่ายของนักเรียน จึงกลายเป็นคำถามสำคัญสำหรับหลายครอบครัวในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเวียดนาม
พระราชกฤษฎีกาของเวียดนาม 86/2015/ND-CP ในปี 2015 ได้กำหนดกลไกการจัดเก็บและการจัดการค่าเล่าเรียนสำหรับสถาบันการศึกษาในระบบของประเทศ และเป็นเอกสารทางกฎหมายในปัจจุบัน ที่ควบคุมเพดานค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาระดับชาติ โดยตามข้อบัญญัติของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ได้กำหนดเพดานค่าเล่าเรียนสำหรับโปรแกรมการศึกษาระดับอุดมศึกษาในวงกว้างสำหรับปีการศึกษา 2020 – 2021 ซึ่งจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจาก 42.87 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน (ราว 1,405 บาท) เป็น 62.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 2,050 บาท) ขึ้นอยู่กับระเบียบวินัยและเงื่อนไขของทางมหาวิทยาลัย
ดังนั้น นักศึกษาการแพทย์และเภสัชศาสตร์ต้องจ่ายสูงสุดโดยเฉลี่ยเกือบ 570 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 18,686 บาท) ระหว่างปีการศึกษา 2020 – 2021 ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อหัวของประชากรซึ่งอยู่ที่ประมาณ 180 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,901 บาท) ในปี 2021
ฟาม หง็อก เทือง (Pham Ngoc Thuong) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรมแห่งเวียดนาม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้เขียนรายงานถึงรัฐบาลเพื่อขออนุญาตระงับค่าเล่าเรียนสำหรับปีการศึกษา 2021- 2022 เพื่อจุดประสงค์ที่ว่า นักเรียนจะได้ไม่ต้องรับภาระในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพิ่มอีก
อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้เป็นค่าธรรมเนียมเพียงอย่างเดียวที่นักศึกษาชาวเวียดนามต้องจ่าย
เดอะแบกแห่งเวียดนาม การศึกษาคุณภาพมีราคาที่นักเรียนต้องจ่าย
ในปี 2017 การศึกษาของสถาบันเพื่อเศรษฐกิจและการพัฒนาข้อมูล (Institute of Economic and Development Information) สำรวจความเห็นของนักศึกษา 600 คน พบว่า นักศึกษาเวียดนามเกือบร้อยละ 90 ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมนอกรั้วมหาวิทยาลัย นั่นหมายความว่า การศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติ ความรู้ และทักษะของนักเรียนเวียดนามยังถือเป็นปัจจัยที่จำเป็นอยู่ ผู้วิจัยประเมินว่าโดยเฉลี่ยแล้ว นักศึกษายินดีที่จะจ่ายเงิน 400 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 13,113 บาท) สำหรับบทเรียนพิเศษนอกมหาวิทยาลัย
ทีมวิจัยยังได้ทำการสำรวจนักศึกษา 285 คนในสถาบันอุดมศึกษาของเวียดนาม และพบว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐยอมจ่ายเงินโดยเฉลี่ยประมาณ 462 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 15,146 บาท) สำหรับการเรียนพิเศษนอกมหาวิทยาลัย เมื่อเทียบกับเงินประมาณ 462-342 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 15,146 – 11,212 บาท) ที่นักเรียนในสถาบันเอกชนต้องจ่าย
แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ นักศึกษา 237 คนจากทั้งหมด 285 คนที่เข้าร่วมการสำรวจกล่าวว่า พวกเขายินดีที่จะจ่ายเงินจำนวนนั้นไปกับค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัย หากมหาวิทยาลัยสามารถให้บริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพเดียวกันได้
ผลลัพธ์ข้างต้นบ่งชี้ว่า นักศึกษาระดับอุดมศึกษาของเวียดนามยินดี จ่าย ค่าเล่าเรียนเพิ่มเติม ดังนั้น แม้รัฐบาลจะออกกฎระเบียบเพื่อให้เพดานค่าเล่าเรียนอยู่ในระดับต่ำเพียงใด บรรดานักศึกษาทั้งหลาย โดยเฉพาะนักศึกษาที่มีรายได้สูง จะยังคงใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อความรู้และทักษะนอกมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม ที่พวกเขาคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพหลังจากสำเร็จการศึกษาอยู่ดี
ทีมนักวิจัยระบุว่า เพื่อตอบสนองความต้องการระดับสูงในการเรียนรู้ของนักศึกษา ทางมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอเสียก่อน มหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงค่อย ๆ เปลี่ยนไปใช้รูปแบบองค์กรที่ทำให้มหาวิทยาลัยแสวงหาแหล่งรายได้นอกเหนือจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง รวมถึงการกระจายทรัพยากรทางการเงินของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ถือเป็นวิธีการหนึ่งในการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เพิ่มแรงกดดันให้เวียดนามต้องปรับปรุงคุณภาพและการเข้าถึงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เนื่องจากระบบการศึกษาในเอเชียพยายามปรับปรุงคุณภาพและความคล่องตัวเพื่อแข่งขันกับมหาวิทยาลัยตะวันตก จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนมากขึ้นเพื่อชดเชยปัญหาที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19
สถานภาพของมหาวิทยาลัยเวียดนาม หารือการศึกษาแบบ “ขอไปที” ค้นแนวทางที่ดีในการสนับสนุนนักศึกษา
การเข้าถึงการศึกษายังกลายเป็นข้อกังวลสำคัญนับตั้งแต่การเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยแรงกดดันในการเพิ่มการลงทะเบียนเรียนของนักเรียนจากภูมิหลังที่มีรายได้น้อยกลับมีมากขึ้น และต้องมีการปรับปรุงการเข้าถึงเพื่อให้สอดคล้องกับคำขวัญที่ว่า ‘ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’ ที่รัฐบาลบังคับใช้ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ เมื่อมีการบังคับใช้กลไกที่คล้ายคลึงกันกับนโยบายการแบ่งปันค่าใช้จ่ายของตะวันตกเป็นครั้งแรกในเวียดนามในปี 1997 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเวียดนามก็ได้รับอนุญาตให้เรียกเก็บค่าเล่าเรียนของนักเรียนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น ๆ เช่น การบริจาคการอุดหนุนสนับสนุนต่าง ๆ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
เรียกได้ว่า ยิ่งแหล่งเงินทุนมีความหลากหลายมากเท่าใด มหาวิทยาลัยก็จะยิ่งมีความยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ทางทีมวิจัยยังได้ทำการศึกษาอีกหัวข้อหนึ่งเพื่อตรวจสอบระดับความหลากหลายของแหล่งรายได้ในมหาวิทยาลัยเวียดนาม 51 แห่งในช่วงปี 2015 – 2017 โดยใช้ ดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (Herfindahl-Hirschman Index : HHI) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความยั่งยืนทางการเงินของสถาบันอุดมศึกษาด้วยการศึกษาความเท่าเทียมหรือความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายของทุน และผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ดัชนีสุขภาพทางการเงินของมหาวิทยาลัยในเวียดนามกำลังน่ากังวลเมื่อสถาบันไม่มีความหลากหลายทางการเงิน
ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่ข้อติดขัดในการหาทางออกที่เหมาะสมภายใต้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยเฉพาะ ซึ่งสำหรับระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ปัญหานั้นคือการบรรลุเป้าหมาย 2 ประการ นั่นคือ คุณภาพและการเข้าถึงการศึกษา
กล่าวได้ว่า การหาระดับค่าเล่าเรียนที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงได้และการลงทุนด้านการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ
เลอ ฉวน (Le Quan) อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม กรุงฮานอย กล่าวปราศรัยเมื่อไม่นานมานี้ที่สภาแห่งชาติว่า เพดานค่าเล่าเรียนในปัจจุบันต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับความคาดหวังด้านคุณภาพของผู้เรียนและข้อกำหนดมาตรฐานของสถาบันการศึกษา
ความเห็นดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนจากทางทีมนักวิจัย เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า หากเพดานค่าเล่าเรียนไม่ตรงกับความคาดหวัง เราจะได้ “การศึกษาแบบขอไปที” นั่นคือการที่นักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพียงเพื่อรับปริญญา และมองหาความรู้และทักษะเพิ่มเติมนอกมหาวิทยาลัยแทน
นอกจากนี้ ฉวนยังระบุด้วยว่า “ค่าเล่าเรียนควรเท่ากับเงินเดือน 2 ปีหลังจากสำเร็จการศึกษา” หมายความว่า หากนักศึกษาในระบบ 4 ปีจบการศึกษาด้วยเงินเดือน 420 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือ 10,080 ดอลลาร์สหรัฐใน 2 ปีแรก (ราว 330,462 บาท) ค่าเล่าเรียนสำหรับปีการศึกษาก็ควรปรับเป็น 2,520 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 82,615 บาท) ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับวิธีการคำนวณระดับค่าธรรมเนียมของศาสตราจารย์ ฟาม ฝู (Pham Phu) เขาใช้วิธีการของธนาคารโลกในการประมาณต้นทุนต่อหน่วย (ต้นทุนต่อนักเรียนในหนึ่งปี) ในการศึกษาระดับอุดมศึกษาในเวียดนาม
ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบกับต้นทุนบริการและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัว ศาสตราจารย์ ฟาม ฝู ได้ประเมินต้นทุนต่อหน่วยในการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 120 ของจีดีพีต่อคน
จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า จีดีพีต่อหัวของเวียดนามในปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 2,785 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 91,303 บาท) ดังนั้น ต้นทุนต่อหน่วยของการศึกษาจึงควรอยู่ที่ประมาณ 3,100 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 101,630 บาท)
จากความเห็นข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า การบรรลุเป้าหมาย 2 ประการ นั่นคือ คุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในเวียดนามไปพร้อม ๆ กัน กลับมีความขัดแย้งกันเองสูง เพราะหากเราอยากจะสร้างระบบที่มีคุณภาพสูง การลงทุนของนักศึกษาก็จำเป็นต้องสูง ดังนั้นค่าเล่าเรียนก็จะสูงตามไปด้วย รัฐจำเป็นต้องเข้ามาสนับสนุนในระดับหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน เมื่อการสนับสนุนจากรัฐต่ำ นักเรียนก็จะแบกรับค่าเล่าเรียนที่สูง ส่งผลให้มีเด็กน้อยลงที่จะเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
ผู้วิจัยเสนอแนะว่า รัฐบาลเวียดนามอาจพิจารณาแนวคิดของการจ่ายเงินตามความสามารถ (จ่ายตามกำลัง) เพื่อขจัดปัญหาคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาในเวียดนาม รวมถึงพิจารณานโยบายค่าเล่าเรียนสูงและการสนับสนุนระดับสูง ซึ่งในขณะนี้เริ่มมีการนำไปปรับใช้ในมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา
เมื่อนำนโยบายเหล่านี้ไปใช้ในเวียดนาม ควรคำนวณค่าเล่าเรียนของนักเรียนในโครงการการศึกษาของรัฐ โดยคำนวณเป็นส่วนต่างระหว่างค่าเล่าเรียนของนักเรียนที่ลงทะเบียนในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศคุณภาพสูง กับจำนวนเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ในขณะเดียวกัน นักเรียนที่กำลังจ่ายน้อย ก็ควรได้รับความช่วยเหลือทางการเงินหรือทุนการศึกษาตามความจำเป็น
ยิ่งไปกว่านั้น นักวิจัยยังระบุว่า เวียดนามต้องดำเนินการแก้ไขการสนับสนุนในเชิงนโยบาย รักษางบประมาณของรัฐสำหรับสถาบันอุดมศึกษาเอาไว้ แต่ต้องเปลี่ยนวัตถุประสงค์ สถานศึกษาควรกำหนดเป้าหมายเฉพาะก่อนการใช้จ่าย ตรวจสอบและติดตามการใช้จ่ายเป็นระยะเพื่อให้ค่าเล่าเรียนไม่แพงเกินเอื้อมถึง และมีการบริหารจัดการค่าเล่าเรียนที่มีประสิทธิภาพมากพอในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศเวียดนามโดยรวมได้
ที่มา : Tuition fees: Finding a balance between quality and access