วัยรุ่นอเมริกันแห่ทำงานพาร์ตไทม์บรรเทาภาวะขาดแคลนบุคลากร
โดย : Cinnamon Janzer
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

วัยรุ่นอเมริกันแห่ทำงานพาร์ตไทม์บรรเทาภาวะขาดแคลนบุคลากร

บรรดาวัยรุ่นในสหรัฐฯ อายุระหว่าง 16-19 ปี หรือที่เรียกว่า Generation Z กำลังกลายเป็นกลุ่มแรงงานชดเชยชั่วคราวที่เข้าทดแทนภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในตลาดแรงงานของสหรัฐอเมริกาอยู่ในเวลานี้ ซึ่งแม้เด็กวัยรุ่นเหล่านี้จะได้ประสบการณ์การทำงาน และได้ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมหารายได้จุนเจือตัวเองเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว กระนั้น ภาวะขาดแคลนแรงงานที่มากขึ้นทำให้การทำงานพาร์ตไทม์ของวัยรุ่นเหล่านี้เกินเลยหน้าที่ความรับผิดชอบจนไม่ต่างอะไรกับการทำงานประจำ

เว็บไซต์สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า แรงงานวัยรุ่นระดับไฮสกูลหรือเทียบเท่าชั้นมัธยมปลายทั่วสหรัฐฯ กำลังเป็นที่ต้องการตัวของบรรดานายจ้างในภาคอุตสาหกรรมบริการ อย่างร้านอาหาร คาเฟ่ และร้านค้าปลีกต่าง ๆ เนื่องจากบรรดาแรงงานวัยทำงานหลายล้านคนในสหรัฐฯ ต่างเลือกที่จะพักเบรกและ “ช่างเลือก” มากขึ้น คือ ตั้งใจหางานที่ตนเองต้องทำอย่างจริงจังและค่าจ้างสมน้ำสมเนื้อเท่านั้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้ธุรกิจบริการซึ่งมักจ่ายค่าแรงเป็นรายชั่วโมงไม่ใช่ตัวเลือกในการหางานของแรงงานวัยทำงานในสหรัฐฯ อีกต่อไป 

ดังนั้น นายจ้างส่วนใหญ่จึงต้องหันมาพึ่งพาบรรดาเด็กวัยรุ่นไฮสกูล หรือ Gen Z (เกิดระหว่างปี 1997-2012) ซึ่งอยู่ในระหว่างปิดเทอม หรือกลุ่มที่จบมัธยมปลายแล้ว แต่ยังไม่ต่อมหาวิทยาลัย โดยเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ต้องการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงาน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งต้องการหารายได้แบ่งเบาภาระครอบครัว และอีกส่วนหนึ่งตั้งใจทำงานเก็บเงินเพื่อใช้เป็นค่าเทอมสำหรับเรียนต่อมหาวิทยาลัย 

ไฮลีย์ แฮมิลตัน (Hailey Hamilton) คือสาวน้อยวัย 16 ปีจากเท็กซัส ที่เพิ่งลาออกจากงานพาร์ตไทม์ในร้านพิซซ่าเพื่อทำงานที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งแทน โดยแฮมิลตันระบุว่า ตามปกติตนเองไม่สามารถเปลี่ยนงานพาร์ตไทม์ได้ง่ายและเร็วขนาดนี้ แต่เพราะหลายที่กำลังขาดคนอย่างหนัก ทำให้ไม่ว่าไปที่ไหน ต่อให้ไปสมัครพาร์ตไทม์ตามตำแหน่งงานที่เปิดรับไว้แบบไม่ตั้งใจก็มีโอกาสได้งาน

ด้านเวร็น คาร์เตอร์ (Wren Carter) วัยรุ่นอายุ 16 ปีจากมินนีแอโพลิส เผยว่าตนเองเพิ่งได้งานพาร์ตไทม์ที่ร้านสลัดผักแห่งหนึ่ง โดยตนแค่ส่งข้อความไปหาทางผู้จัดร้าน ก่อนโทรสัมภาษณ์ แล้วก็ได้งานทำเลย 

ขณะที่แอดดิสัน โฮวาร์ด (Addison Howard) วัยรุ่นวัย 19 ปี จากรัฐเทนเนสซี ตัดสินใจกลับไปทำงานที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ตนเองเคยทำงานเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังพบว่าค่าแรงพาร์ตไทม์ปรับเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยทำอยู่ที่ 7.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง มาอยู่ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงในปัจจุบัน 

ส่วนโอลิเวีย เกียปอง (Olivia Gyapong) วัย 18 ปี จากแมริแลนด์ กล่าวว่า เธอได้ทำงานแคชเชียร์ที่ร้านขายของชำชื่อเซฟเวย์ (Safeway) โดยได้ตำแหน่งงานที่ต้องการพอดี ก่อนยอมรับว่าตำแหน่งงานพาร์ตไทม์ที่เปิดในขณะนี้มีมากจนสามารถเลือกได้ไม่หวาดไม่ไหว 

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ พบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีตำแหน่งงานใหม่เปิดรับสมัครมากเป็นประวัติการณ์กว่า 9.2 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่คนที่ลงทะเบียนหางานมีอยู่ราว 8.7 ล้านตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าตำแหน่งงานที่เปิดรับ ทำให้บรรดานายจ้างต้องงัดกลยุทธ์มากมายเพื่อจูงใจให้คนมาสมัครงาน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรง ให้โบนัส หรือเพิ่มสวัสดิการ ไปจนถึงทางเลือกอย่างการใช้พนักงานพาร์ตไทม์

ทั้งนี้ในปี 2020 ที่ผ่านมา มีวัยรุ่นอเมริกันไม่ถึง 1 ใน 3 ที่ได้รับการจ้างงานในช่วงซัมเมอร์ แต่ปีนี้วัยรุ่นในสหรัฐฯ กลับได้รับการจ้างงานเป็นจำนวนมาก สถิติในเดือนพฤษภาคมพบว่า 33.2% ของวัยรุ่นอเมริกันที่อายุระหว่าง 16-19 ปี ล้วนได้รับการจ้างงาน ถือเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2008 ก่อนที่จะลดลงเหลือ 31.9% ในเดือนมิถุนายน และกลับมาเพิ่มสูงขึ้น 32.7% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19

แม้จะเป็นเรื่องดีที่วัยรุ่นชาวอเมริกันเหล่านี้ได้รับการว่าจ้าง และสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานได้ แต่เพราะปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้วัยรุ่นส่วนหนึ่งถูกละเมิดสิทธิแรงงานไม่รู้ตัว คือต้องทำงานมากเกินไป โดยปัจจุบันวัยรุ่นสหรัฐฯ ทำงานพาร์ตไทม์เฉลี่ย 30-50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และแต่ละรายทำงานพาร์ตไทม์มากกว่า 1 แห่ง 

ตัวอย่างเช่น โฮวาร์ดที่ทำงานเป็นเด็กฝึกงานในสภาคองเกรส และเกียปองที่ทำงานเป็นช่างภาพให้กับทีมเบสบอลในชุมชน แถมยังเป็นผู้จัดการไลฟ์สตรีมให้กับโบสถ์แถวบ้าน 

ขณะที่แฮมิลตันเผยว่า ช่วงที่ทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านพิซซ่าตนเองต้องทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ที่แย่ยิ่งกว่าก็คือ ไม่มีใครสอนงานให้ตนเลย ต้องเรียนรู้ลองผิดลองถูกเอาเอง ทำให้บางครั้งตนเองมักจะถูกลูกค้าตำหนิ เพราะทำงานบริการยังไม่คล่องแคล่ว หรือทำผิดทำถูกอยู่ 

นอกจากนี้วัยรุ่นเหล่านี้ต่างคาดหวังว่า สถานการณ์ในตลาดแรงงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ในเวลานี้จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้โอกาสเดินหน้าปฏิรูประบบแรงงานอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นก็คือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะเห็นได้ชัดว่าส่วนหนึ่งของการขาดแคลนแรงงานทั้งที่มีคนตกงานอยู่มาก เป็นเพราะค่าแรงในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ดังนั้นแทนที่จะต้องทำงานหลายชั่วโมงเพื่อรับเงินที่แทบไม่เพียงพอต่อค่าอาหารหรือค่าเช่าบ้าน ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จึงสมัครใจที่จะรอหางานที่ตอบโจทย์ของตนมากกว่า

ที่มา : Gen Z teens get a crash course in pitfalls of US jobs market