การเป็นตัวแทนของผู้หญิงในงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ กระนั้น ตามข้อมูลจากสำนักสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคงมีบทบาทน้อยอยู่มากในอาชีพ STEM อื่น ๆ อย่าง วิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรม
เหตุผล? เด็กผู้หญิงยังคงต้องก้าวข้ามอุปสรรค เช่น การเหมารวมเรื่องเพศ เพื่อให้ได้รับความสนใจในสาขา STEM ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่รู้สึกไม่มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในสาขาสายงานนี้ได้
บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กผู้หญิงจะได้รับการแนะนำให้รู้จักกับโอกาสทางอาชีพของสาย STEM ตั้งแต่ในโรงเรียนประถม และมีบุคคลต้นแบบตลอดการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้เด็กหญิงเหล่านี้ได้ศึกษาต่อในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์เหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว บ่อยครั้งที่นักเรียนหญิงไม่ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับโอกาสทางอาชีพของ STEM จนกว่าจะขึ้นชั้นมัธยมปลาย ซึ่งนักการศึกษาส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ช่วงเวลาดังกล่าว มักจะสายเกินไปสำหรับเด็กหญิงหลายคน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การมีส่วนร่วมของ STEM สามารถทำได้ผ่านกิจกรรมภาคปฏิบัติ ชมรมหลังเลิกเรียน และกิจกรรมวันอาชีพที่เริ่มต้นในโรงเรียนประถมและขยายไปสู่โรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย
จากผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์การเรียนรู้ หรือ Science of Learning พบว่า เด็กชายและเด็กหญิงต่าง เริ่มต้นด้วยพื้นฐานทางชีววิทยา และคณิตศาสตร์ เหมือนกัน โดยผลการเรียนรู้ที่ได้ระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงไม่มีความแตกต่างกันมากนัก แสดงให้เห็นว่าเพศไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนสายวิทย์-คณิตแต่อย่างใด
ขณะที่ ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science ระบุว่า เด็กผู้หญิงดูจะมีความอดทนได้ดีกว่าเมื่อได้มีส่วนร่วมในงานวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ขณะเดียวกัน จากการศึกษาของนักวิจัยมหาวิทยาลัยนิวยอร์กพบว่า ช่องว่างระหว่างเพศในสาขาวิทยาศาสตร์ที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากผู้ชายที่มีผลการเรียนดีกว่าผู้หญิงในด้านวิชาการในวิชาเหล่านั้น แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กผู้ชายที่มีผลการเรียนต่ำอย่างท่วมท้นเลือกประกอบอาชีพด้านSTEM มากกว่าผู้หญิงส่วนใหญ่
นอกจากนี้ จากการสำรวจของ Girls Who Code และ Logitech พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดปัจจัยหนึ่งที่กำหนดว่าเด็กผู้หญิงจะประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหรือไม่ คือการที่มีพ่อแม่หรือครูที่สนับสนุนให้พวกเธอเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์
ยกตัวอย่าง กรณีตัวอย่างในรัฐหลุยเซียนา เพื่อให้เด็กผู้หญิงสนใจอาชีพด้าน STEM ครูสองคนในเขตการศึกษาของรัฐหลุยเซียน่าตัดสินใจเปิดชมรมหลังเลิกเรียนของตัวเองชื่อ Girls Who Game โดยให้นักเรียนหญิงได้เล่นเกม Minecraft ซึ่งเป็นเกม 3 มิติที่ผู้เล่นสามารถสร้างอะไรก็ได้ เพื่อเรียนรู้ทักษะต่างๆ เช่น การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเด็กหญิงในชมรมส่วนใหญ่ต่างค้นพบความชอบและมุ่งไปในสาย STEM มากขึ้น
ขณะเดียวกัน หลายมหาวิทยาลัย ในสหรัฐฯ เริ่มมีโปรแกรมให้ทุนการศึกษาและสนับสนุนให้เด็กหญิง ได้มีโอกาสศึกษาต่อในสาย STEM มากขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น พร้อมจัดเงินช่วยเหลือให้กับผู้หญิงเพื่อสำเร็จหลักสูตรอุดมศึกษาในการศึกษานอกเวลาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (STEM) หลังกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และทรัพยากร พบว่า มีสัดส่วนผู้หญิงออสเตรเลียเพียง 28% เท่านั้นที่ทำงานอยู่ในสาย STEM
ทั้งนี้ นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การสนับสนุนให้เด็กนักเรียนหญิงได้เรียนสาย STEM มากขึ้น จะเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสายงานอาชีพ STEM ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน เพื่อตอบโจทย์กับเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งศตวรรษที่ 21 ในเวลานี้
ที่มา :