โรงเรียนเพื่อชุมชน “HOPE” ในกรุงนิวเดลีของอินเดีย จัดรถบัสดัดแปลงเป็นห้องเรียนเคลื่อนที่ เพื่อช่วยให้เด็กด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาออนไลน์สามารถเรียนหนังสือต่อไปได้ โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อีกทั้งยังสามารถมีมื้ออาหารกลางวันฟรีให้อิ่มท้องเหมือนกับที่ได้เดินทางไปเรียนที่โรงเรียน
สื่อท้องถิ่นอินเดียรายงานว่า แม้ทางรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย จะมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการปรับแนวทางการเรียนการสอนมาเป็นระบบเรียนทางไกลและทางออนไลน์ แต่ก็ไม่ใช่เด็กชาวอินเดียทุกคนที่จะพร้อมเรียนกับระบบนี้ โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มยากจนที่ขาดแคลนทั้งอุปกรณ์ ทุนทรัพย์ และเวลาที่จะเรียนหนังสือ
งานนี้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่างเทจาสเอเชีย (Tejas Asia) ซึ่งขับเคลื่อนโรงเรียนเพื่อชุมชนชื่อ “HOPE” และทำงานด้านการศึกษาเพื่อชุมชนอยู่แล้ว จึงลุกมาผลักดันโครงการ “HOPE Buses” หรือห้องเรียนเคลื่อนที่ เพื่อเข้าไปสอนหนังสือเด็ก ๆ ถึงชุมชนยากจนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงนิวเดลี
มาร์โล ฟิลิป (Marlo Philip) ผู้ก่อตั้งองค์กรเทจาสเอเชียเปิดเผยว่า ห้องเรียนเคลื่อนที่เป็นแนวคิดที่ทางองค์กรริเริ่มขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ภายใต้จุดมุ่งหมายที่จะเข้าถึงกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจนในสังคมเป็นหลัก หลังพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีปัญหาในการเข้าถึงโรงเรียน
“เราต้องการนำโรงเรียนไปให้ถึงตัวเด็ก ๆ มันเป็นความฝันของเรา ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นชีวิตของเด็กหลายคนที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะห้องเรียนเคลื่อนที่ของเรา”
ปัจจุบันทางโครงการมีรถบัสอยู่ทั้งหมด 4 คัน เดินทางไปยัง 8 ชุมชนทั่วกรุงนิวเดลีเพื่อสอนหนังสือให้แก่เด็ก ๆ ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมอาหารกลางวันที่ปรุงสดใหม่จากห้องครัวของโครงการ เพื่อจัดส่งไปให้กับเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมเรียนด้วย
ด้านเอบินา เอ็ดวิน (Ebina Edwin) เจ้าหน้าที่ผู้คอยดูแลจัดการห้องเรียนเคลื่อนที่ หรือ “HOPE Buses” กล่าวว่า ในแต่ละวัน เด็ก ๆ จะได้เรียนหนังสือวันละ 2 ชั่วโมงก่อนรับแจกมื้ออาหารฟรี ซึ่งวิชาที่สอนจะเป็นวิชาทักษะพื้นฐานทั้งหมด อย่างภาษาและคณิตศาสตร์เบื้องต้น และหากนักเรียนสามารถพัฒนาทักษะได้ดี ทางห้องเรียนเคลื่อนที่ก็จะช่วยดำเนินการให้เด็กเหล่านี้สามารถเข้าเรียนที่โรงเรียนรัฐต่อไป
“ทุกวัน ห้องเรียนเคลื่อนที่จะเดินทางออกจากศูนย์ในเวลา 9 โมงเช้า และใช้เวลาเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ ที่กำหนดราว 1 ชั่วโมง ก่อนเริ่มเรียนเวลา 10.00-12.00 น. จากนั้นห้องเรียนเคลื่อนที่คันเดียวกันนี้ก็จะขับไปยังชุมชนที่สอง เพื่อสอนเด็ก ๆ ตั้งแต่เวลา 14.00-16.00 น.” เอ็ดวินอธิบาย
รายงานระบุว่า 80% ของเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมห้องเรียนเคลื่อนที่เป็นเด็กที่ไม่เคยเข้าเรียนที่ห้องเรียนมาก่อน และอีกส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจน กระนั้นในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา เด็กที่เข้าร่วมส่วนใหญ่คือเด็กยากจนที่ไม่สามารถเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนเพราะโควิด-19 อีกทั้งยังไม่สามารถเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกลตามหลักสูตรที่ทางโรงเรียนต้นสังกัดกำหนดมาให้ได้ ขณะเดียวกันเด็กทั้งหมดล้วนมาจากครอบครัวยากจนที่พ่อแม่ประกอบอาชีพในชนชั้นแรงงานที่ได้ค่าแรงต่ำ หรือต้องเก็บขยะเลี้ยงชีพเป็นหลัก
บาบลิ (Babli) คุณแม่ที่หาเลี้ยงลูกด้วยการเก็บขยะตัดสินใจให้ลูกไปเรียนหนังสือกับ “HOPE Buses” โดยระบุว่า เนื่องจากตนเองไม่ได้เรียนหนังสือ ดังนั้นจึงไม่สามารถช่วยสอนหนังสือให้ลูก ๆ ได้ แต่เมื่อมีห้องเรียนเคลื่อนที่มาให้บริการ ทำให้ลูกของเธอสามารถเรียนหนังสือได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มต้นเส้นทางห้องเรียนเคลื่อนที่ ทางโครงการจะจัดส่งทีมงานออกสำรวจนักเรียนในพื้นที่และละแวกใกล้เคียงว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าใด ก่อนจัดส่งรถบัสลงพื้นที่ โดยนอกจากการเรียนหนังสือในด้านวิชาต่าง ๆ ที่เด็กจำเป็นต้องเรียนแล้ว ทางห้องเรียนเคลื่อนที่ยังจัดสอนทักษะมารยาททางสังคม อย่างวิธีการประพฤติตน การพูดจา และการใช้ชีวิต เป็นต้น
แม้ในช่วงปีที่แล้วทางโครงการจะประสบปัญหาเกี่ยวกับมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปพื้นที่บางแห่งได้ แต่หลังจากที่รัฐบาลเร่งกระจายการฉีดวัคซีนและทยอยมาตรการล็อกดาวน์ ก็ทำให้ห้องเรียนรถบัสสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง โดยทางองค์กรหวังเป็นอย่างยิ่งกว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเต็มที่
ที่มา :
• Delhi Community school provides free education to underprivileged students
• ‘Classroom in bus’ provides free education to deprived children