เปิดกลยุทธ์แนะโรงเรียนช่วยเด็กรับมือความสูญเสียจากโควิด-19
โดย : CAROLYN JONES
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เปิดกลยุทธ์แนะโรงเรียนช่วยเด็กรับมือความสูญเสียจากโควิด-19

นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญร่วมแสดงความเห็นและให้คำแนะนำแก่ครูและโรงเรียน ในการตระเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลเด็กนักเรียนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือสมาชิกครอบครัวจากวิกฤตโควิด-19 โดยแม้เด็กจะกลับมาเข้าห้องเรียนได้ แต่สภาพจิตใจอาจยังไม่พร้อมสมบูรณ์ กุญแจสำคัญในการเยียวยาจึงอยู่ที่การให้เวลา รับฟัง และเข้าใจ

คาโรลีน โจนส์ (Carolyn Jones) คอลัมนิสต์ด้านสุขภาวะเด็กและเยาวชนประจำเว็บไซต์ Edusource ได้รวบรวมความเห็นจากนักจิตวิทยาชั้นนำทั่วสหรัฐฯ เพื่อให้คำแนะนำแก่บรรดาคุณครูและโรงเรียนในการเตรียมรับมือกับเด็ก ๆ ที่สภาพจิตใจอาจยังไม่สมบูรณ์พร้อมที่จะกลับมาเรียนเนื่องจากได้สูญเสียพ่อแม่พี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหายจากโควิด-19

โดยรายงานครั้งนี้จัดทำขึ้นหลังจากที่ทางสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union – ACLU) เปิดเผยผลสำรวจที่พบว่า เฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียเพียงรัฐเดียว มีเด็กนักเรียนอเมริกันอย่างน้อย 30% สูญเสียคนที่ตนเองรักและเคารพจากวิกฤตการระบาดใหญ่ครั้งนี้ 

ดังนั้น โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั้งหลาย ไม่เพียงแต่ต้องเตรียมความพร้อมด้านวิชาการและสุขอนามัยเท่านั้น แต่ยังต้องเตรียมให้ความช่วยเหลือเด็กในการรับมือกับสภาวะอารมณ์ที่เรียกว่า “ความเศร้าโศกเสียใจ” ที่ผู้เชี่ยวชาญพูดตรงกันว่า หากรับมือได้ไม่ดี ความเศร้าตรงนี้จะกลายเป็นบาดแผลฝังลึกที่พัฒนาไปสู่ความผิดปกติทางจิตใจในรูปแบบอื่น ๆ ได้ 

สเตฟานี มอร์เรย์ (Stephanie Murray) นักจิตวิทยาประจำโรงเรียนมัธยมปลายวิตเทียร์ ยูเนียน (Whittier Union High School) ในเมืองลอสแอนเจลิส กล่าวว่า ความเศร้าโศกเสียใจมีผลกระทบต่อคนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็ตาม ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วเมื่อประสบกับความเสียใจ คนเราจะเผชิญและก้าวผ่านความเสียใจด้วยภาวะอารมณ์ 5 ขั้น คือ ปฏิเสธ (denial), โกรธ (anger), ต่อรอง (bargaining), หดหู่ (depression) และ ยอมรับ (acceptance)

มอร์เรย์อธิบายว่า ภาวะทางอารมณ์ 5 ขั้นนี้จะแตกต่างไปในแต่ละคน เข้มข้นมากน้อยไม่เท่ากัน และไม่ได้เรียงลำดับให้เห็นอย่างชัดเจน ในเด็กเล็กอาจยากที่จะทำใจยอมรับ และไม่สามารถบรรยายความรู้สึกเสียใจของตนออกมาเป็นคำพูดได้ ในขณะที่วัยรุ่นอาจตระหนักถึงความสูญเสียได้ดีกว่า แต่ก็รู้สึกลังเลและไม่มั่นใจที่จะพูดความรู้สึกเหล่านั้นให้ผู้ใหญ่รับรู้

นอกจากนี้ ความเชื่อ วัฒนธรรม และเชื้อชาติก็มีผลต่อการรับมือกับความเสียใจของเด็ก โดยบางบ้านอาจใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ก็สามารถปล่อยวางความเสียใจและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว โดยลืมไปว่า เด็กบางคนยังไม่สามารถ “ปล่อยวาง” เหมือนที่ผู้ใหญ่ทำได้ 

ด้านจอช โกดิเนซ (Josh Godinez) ประธานสมาคมที่ปรึกษาโรงเรียนแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Association of School Counselors) และที่ปรึกษาโรงเรียนมัธยมโคโรนา-นอร์โค ยูนิไฟด์ (Corona-Norco Unified School) ในเมืองริเวอร์ไซด์ เสริมว่า เด็กที่ประสบกับความโศกเศร้าจะมีการแสดงออกในห้องเรียนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นคุณครูควรสังเกตนักเรียนที่ขาดสมาธิ ปลีกตัว หรือไม่ยอมมีส่วนร่วมในชั้นเรียน หรือมีพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม โดยเมื่อพบแล้ว ให้คุณครูแยกตัวเด็กเหล่านั้นออกมา แล้วถามคำถามปลายเปิดว่ามีอะไรกวนใจหรือเปล่า รวมถึงอาจส่งไปหานักจิตวิทยาและที่ปรึกษาในกรณีที่จำเป็น

“ความเสียใจมาในทุกรูปแบบและทุกขนาด แต่เมื่อเกิดขึ้นกับคนคนหนึ่งแล้ว ย่อมหมายความว่าชีวิตของคนคนนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล สำหรับเด็กนักเรียนที่ต้องเผชิญกับประสบการณ์ดังกล่าว การสังเกตและความเอาใจใส่เพียงเล็กน้อยจากใครสักคนก็มีความหมายดั่งโลกทั้งใบของเขา” โกดิเนซกล่าว 

ขณะที่นักจิตวิทยาอีกส่วนหนึ่งแนะว่า การรับฟังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งจะให้ความช่วยเหลือเด็กที่เพิ่งจะสูญเสียคนที่ตนเองรักไปได้ โดยมอร์เรย์อธิบายว่า ความเสียใจนี้แตกต่างจากปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ อย่างความวิตกกังวลหรือความซึมเศร้าตรงที่ความเสียใจไม่ได้ต้องการการรักษา (treatment) ที่เป็นกิจจะลักษณะ ยกเว้นว่า ความเสียใจนั้นจะฝังลึกและมีมากเกินไป

“สิ่งที่คุณต้องบอกกับเด็กคนหนึ่งที่กำลังเสียใจก็คือ ‘เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเศร้าเสียใจ ฉันจะนั่งอยู่ตรงนี้ข้าง ๆ เธอนะ’ คุณไม่จำเป็นต้องพยายามปฏิเสธ หรือปลอบโยนใด ๆ แค่เปิดใจรับฟังสิ่งที่เด็ก ๆ พูดอย่างแท้จริง โดยพูดแค่ว่า สิ่งที่พวกเขารู้สึกเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใคร ๆ ก็รู้สึกกันทั้งนั้น” มอร์เรย์ระบุ

นอกจากการรับฟังแล้ว การจัดหากิจกรรมที่ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมก็ช่วยได้ กิจกรรมเหล่านี้ได้แก่ การฝึกสมาธิ โยคะ โครงการศิลปะ รวมถึงการทำแบบสอบถามสำรวจความพร้อมของเด็กอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งน่ายินดีที่โรงเรียนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ต่างให้การสนับสนุนกิจกรรมประเภทนี้อยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า โรงเรียนอีกหลายแห่งได้ว่าจ้างที่ปรึกษาและนักจิตวิทยาเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนทำการฝึกอบรมครู เพื่อมาช่วยกันสังเกตอาการเด็กนักเรียนที่มีปัญหาในการรับมือกับความเสียใจ 

อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาส่วนหนึ่งชี้ว่า ความเศร้าเสียใจของเด็กนักเรียนบางรายอาจไม่ได้เป็นผลจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเพียงอย่างเดียว สำหรับบางครอบครัว การสูญเสียดังกล่าวอาจหมายถึงการสูญเสียเสาหลักที่คอยเลี้ยงดูครอบครัว และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ทรมาน หรือความหวาดกลัวที่จะสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของตนเองอีก 

คาโรลีน โลเปซ-เพอร์รี (Caroline Lopez-Perry) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของคณะที่ปรึกษาแห่งลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า สำหรับเด็กบางคน ความเศร้าเสียใจไม่ได้เกิดจากการตายแต่เพียงอย่างเดียว บางคนต้องแยกย้ายจากเพื่อนสนิท หรือเผชิญกับปัญหาทางการเงินของครอบครัว ขณะที่บางคนเผชิญทั้งการตายของคนสำคัญและปัญหาปากท้องไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น โรงเรียนจึงเป็นสิ่งเดียวที่มั่นคงและแน่นอนที่สุดสำหรับเด็กเหล่านี้ 

“เมื่อใครสักคนตาย มักจะสร้างความโกลาหลปั่นป่วนต่อชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ จนทำให้การสูญเสียทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น สำหรับนักเรียนที่ต้องประสบกับชะตากรรมเหล่านี้ โรงเรียนจึงสามารถเป็นตัวแทนที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าชีวิตกำลังดำเนินต่อไป และค่อย ๆ กลับสู่สภาาวะปกติได้ในที่สุด” โลเปซ-เพอร์รี กล่าว

ขณะที่ จัสมิน โว (Jasmine Vo) นักเรียนมัธยมปลายผู้เสียคุณปูจากโควิด-19 เมื่อปีก่อน มายอมรับว่า ความสูญเสียทำให้ตนเองเคว้งอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งโรงเรียนและครูก็เข้าใจ และยอมเลื่อนกำหนดส่งงานและการบ้านของตนออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ แต่สิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจก็คือ การรับมือกับความเสียใจไม่อาจกำหนดเส้นตายให้จบได้ในหนึ่งสัปดาห์ ความเศร้า ความกังวล และความหวาดกลัวว่าอาจจะต้องเสียสมาชิกในครอบครัวไปอีก เป็นความรู้สึกที่รับมือได้ยากมาก 

อย่างไรก็ตาม โชคดีที่จัสมิน มีพ่อแม่ที่รับฟัง เข้าใจในสิ่งที่เธอเผชิญ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้

“พวกท่านบอกว่า มันยาก แต่ถึงยังไงลูกก็ยังต้องทำงานให้เสร็จ ชีวิตต้องก้าวต่อไป และลูกจะผ่านมันไปได้” พ่อแม่ของจัสมิน กล่าว ซึ่งสุดท้ายแล้วเธอก็ตั้งสติและก้าวผ่านมาได้ ปัจจุบัน จัสมินจบชั้นมัธยมปลายด้วยเกรด A ทุกวิชา และสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามที่หวัง เมื่อย้อนคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จัสมินมองว่า โรงเรียนควรจะให้เวลา ให้คำปรึกษา และจับเข่าคุยกับนักเรียนมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะโชคดีเหมือนตนเองที่มีพ่อแม่คอยเคียงข้าง

ที่มา : How schools help students who’ve lost loved ones to Covid