‘ระบบการศึกษาทำให้นักเรียนผิดหวัง’ ปัญหานี้ออสเตรเลียก็มีเหมือนกัน คณะกรรมาธิการเพื่อผลิตภาพการเรียนรู้ หรือ Productivity Commission ประกาศเร่งดำเนินการออกการประเมินกลยุทธ์การศึกษาระดับชาติของออสเตรเลีย หลังมีรายงานชี้ว่า กลยุทธ์นี้ปรับปรุงผลการเรียนของนักเรียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ “เพียงเล็กน้อย” คุณครูมีภาระเพิ่มขึ้น เด็กๆ เรียนไม่ทัน เงินทุนที่ให้สนับสนุนโรงเรียนมีผลต่อการศึกษาที่ดีของเด็ก ปัจจัยเหล่านี้มีให้ชำแหละในรายงานฯ
เว็บไซต์ข่าว สถานีโทรทัศน์ ABC ของออสเตรเลีย เผยแพร่การประเมินการทำงานของกลยุทธ์การศึกษาระดับชาติของออสเตรเลีย ซึ่งในรายงานดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบข้อตกลงการปฏิรูปโรงเรียนแห่งชาติ (National School Reform Agreement) ที่ออกกลยุทธ์ในปี 2018 โดยรัฐบาลกลาง รัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงผลการเรียนของนักเรียน
โดยรายงานดังกล่าวพบว่า โดยทั่วไปแล้วผลการอ่านและการคำนวณในระดับชาติลดลงตั้งแต่ปี 2018 แถมความไม่เท่าเทียมในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็ไม่ได้รับการแก้ไข
เจสัน แคลร์ (Jason Clare) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออสเตรเลียกล่าวในแถลงการณ์ว่า รายงานดังกล่าวทำให้เห็นชัดเจนว่าเป็นรายงานที่แย่มาก รัฐจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาทั่วประเทศอย่างจริงจัง
คณะกรรมาธิการได้เสนอกลยุทธ์การศึกษาใหม่ที่กินระยะเวลา 5 ปี บังคับใช้ทั่วเครือจักรภพ (Commonwealth) รัฐ และเขตปกครองต่าง ๆ โดยให้มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนครูและผู้นำโรงเรียนให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้โรงเรียนใช้กลยุทธ์การสอนตามหลักฐานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าบรรลุผลสำเร็จ จัดลำดับความสำคัญให้ความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนได้รับการจัดการเป็นวาระระดับชาติ ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยขจัดความไม่เท่าเทียม และปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยรวม
“ฉันไม่อยากจะตื่นขึ้นมาด้วยซ้ำ พ่อแม่ของฉันหนักใจ และเริ่มมองหาตัวเลือกอื่่น ๆ แทน”
เคธี โอเวนส์ (Catie Owens) หนึ่งในบัณฑิตจบใหม่แกะกล่อง แบ่งปันประสบการณ์ระหว่างที่เธอเรียนหนังสือ เธอบอกว่าตัวเองเป็นเด็กที่ “ค่อนข้างจะมีความสุข” กับระบบการศึกษาจนกระทั่งเกรด 9 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) ที่เจ้าตัวเริ่มมีปัญหากับการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งเป็นทางความเครียดและแรงกดดันที่ตนเองต้องเผชิญจากสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน จนกระทั่งได้พบโรงเรียน Launceston Big Picture ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่แสวงหาหวังผลกำไรและไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนผ่านหลักสูตรที่ใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง
เธอยอมรับว่าตนเองคงเรียนไม่จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโรงเรียนนี้ ที่ช่วยสนับสนุนทั้งเรื่องของการเรียน จิตใจ และชีวิตความเป็นอยู่ และนี่คือผลลัพธ์ที่คณะกรรมมาธิการฯ ต้องการจะเห็น
เป้าหมายมีแล้ว แต่ยังขาดความน่าเชื่อถือ
แม้ว่าข้อตกลงการปฏิรูปโรงเรียนแห่งชาติฉบับเดิม (ซึ่งหมดอายุไปเมื่อสิ้นปี 2022) ได้ตั้งเป้าหมายที่จะปรับปรุงความเท่าเทียมของนักเรียนกลุ่มเปราะบางที่สุด แต่คณะกรรมาธิการฯ กลับระบุว่าปัญหาหลักยังคงเป็นการขาดข้อมูล การรายงานอย่างสม่ำเสมอ และการขาดมาตรการที่ชัดเจน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้มีความน่าเชื่อถือเพียงเล็กน้อย
การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดขึ้น
นาตาลี ซีเกิล บราวน์ (Natalie Siegel-Brown) หนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอแนะให้แต่ละรัฐและเขตปกครองท้องถิ่น กำหนดเป้าหมายในการลดอัตราส่วนของนักเรียนที่เรียนไม่ทัน เป้าหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวรับประกันความสำเร็จ แต่เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการสร้างทิศทางที่ชัดเจนสำหรับการปฏิรูป และทำให้บทบาทการรับผิดชอบของรัฐบาลมีความชัดเจนขึ้น
แต่เธอก็ยังกังวลว่า ด้วยความที่ครูในออสเตรเลียมีแนวโน้มที่จะทำงานเป็นเวลานานกว่าครูในประเทศอื่น ๆ นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ครูออสเตรเลียมีเวลาสำหรับกิจกรรมที่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อเด็กนักเรียนน้อยกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น ทางคณะกรรมาธิการฯ ยังเชื่อว่า ปัญหาการขาดแคลนครูเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาของออสเตรเลียไม่คืบหน้าหรือประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
ด้าน คอร์เรนา เฮย์ธอร์ป (Correna Haythorpe) ประธานสหภาพการศึกษาแห่งออสเตรเลีย (Australian Education Union: AEU) ออกโรงแย้งว่า รายงานดังกล่าวล้มเหลวในการกล่าวถึงปัญหาการศึกษาของประเทศที่เห็นอยู่ทนโท่
“คุณไม่สามารถแยกผลการศึกษาที่ดีขึ้นสำหรับนักเรียนออกจากเงินทุนของโรงเรียนได้ เนื่องจากเงินทุนของโรงเรียนจะส่งมอบให้กับครู เจ้าหน้าที่สนับสนุน และโปรแกรมการเรียนรู้เพิ่มเติมที่เด็กเหล่านี้ต้องการ เราค่อนข้างผิดหวังที่รายงานสำคัญฉบับนี้ ไม่ได้พูดถึงการให้เงินทุนสนับสนุนโรงเรียนเลย”
อลิซ เลือง (Alice Leung) สมาชิกสมาพันธ์ครูของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ เห็นด้วยกับแนวคิดของเธอ โดยเจ้าตัวชี้ว่า ระบบการศึกษาของออสเตรเลียในปัจจุบันกำลัง ‘ทำให้นักเรียนผิดหวัง’ เนื่องจากวิธีการจัดทำโครงสร้างระบบไม่เอื้อให้ครูตอบสนองความต้องการของนักเรียนได้มากเท่าที่พวกเขาต้องการ เพราะครูทำงานหนักเกินไป
ครูมีภาระงานเพิ่มขึ้นจากขนาดชั้นเรียนที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งทำให้ครูที่ต้องอุทิศเวลาให้กับนักเรียนที่ต้องการมันจริง ๆ พบกับความยากลำบาก
“เมื่อคุณมีนักเรียนจำนวน 30 คนในชั้นเรียน และคุณมี … นักเรียนจำนวนมากที่มีความต้องการที่ซับซ้อนมาก ทั้งยังมีนักเรียนจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลืออื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกันคุณไม่ได้รับการสนับสนุนในชั้นเรียนเสมอไป ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก” เธอกล่าว
ข้อเสนอของรายงานล่าสุด ระบุนโยบาย 3 ประการไว้คือ
1) มุ่งพัฒนาเป้าหมายที่รัดกุมยิ่งขึ้น และจัดทำรายงานต่อสาธารณะเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการปฏิรูปในแต่ละปี
2) ออกแบบข้อตกลงฉบับต่อไปโดยเน้นเรื่องสุขภาวะของนักเรียน
3) มุ่งพัฒนาและปรับใช้ครูผู้เชี่ยวชาญเพื่อเผยแพร่แนวทางการสอนตามหลักฐาน
รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการออสเตรเลียเสริมว่า รายงานดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาข้อตกลงการปฏิรูปโรงเรียนระดับชาติฉบับใหม่ได้ หากเสริมข้อมูลด้านเงินทุนที่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับการปฏิรูป ที่จะสร้างความแตกต่างในทางปฏิบัติให้กับผลการเรียนของนักเรียน
ขณะที่ทางสหภาพการศึกษาต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจขยายข้อตกลงการระดมทุนในปัจจุบันให้เป็นเวลา 12 เดือน เพื่อขอเวลาตรวจสอบการระดมทุนครั้งใหม่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิก็โต้กลับไปว่า สิ่งสำคัญคือการค้นหานโยบายที่ได้ประสิทธิภาพ
ที่มา : National education strategy has done ‘little’ to improve student outcomes, report says