ญี่ปุ่นพบนักเรียนเกินครึ่งขาดความกระตือรือร้นเพราะโควิด-19
โดย : KYODO NEWS
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ญี่ปุ่นพบนักเรียนเกินครึ่งขาดความกระตือรือร้นเพราะโควิด-19

ญี่ปุ่นเผยผลสำรวจความเห็นนักเรียนทั่วประเทศในทุกระดับชั้น พบมากกว่าครึ่งยอมรับว่ารู้สึกไม่อยากเรียนหนังสือ ขาดแรงจูงใจและรู้สึกไม่กระตือรือร้นที่อยากจะเรียนหนังสือในช่วงปีที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า การเรียนหนังสือในช่วงที่ต้องกักตัวเพราะไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องยากและน่าเบื่อ เนื่องจากไม่ได้มีปฎิสัมพันธ์กับครูและเพื่อนร่วมชั้นเหมือนตอนเรียนที่โรงเรียน

สำนักข่าวเกียวโดได้เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของนักเรียนญี่ปุ่นทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น ไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เกี่ยวกับความรู้สึกกับการเรียนหนังสือในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งผลสำรวจพบว่า นักเรียนถึง 54.3% ระบุว่าขาดแรงจูงใจที่จะเรียนหนังสือ โดยนับเป็นระดับที่สูงที่่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ดำเนินการสำรวจมาเมื่อปี 2015

ผลการสำรวจครั้งนี้ เป็นการดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาทางด้านการศึกษาBenesse (Benesse Educational Research and Development Institute) กับ สถาบันสังคมศาสตร์ (Institute of Social Science ) แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว โดยสำรวจความเห็นผ่านไปรษณีย์และอีเมล๋ จำนวนราว 10,000 คน เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงมัธยมปลาย ระหว่างเดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน ปี 2021 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในการสำรวจเมื่อปี 2019 พบจำนวนนักเรียนขาดความกระตือรือร้นอยูที่ 45.1% ขณะที่ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดพบนักเรียนญี่ปุ่นขาดแรงจูงใจเพิ่มขึ้นถึง 50.7% ก่อนจะขยับเพิ่มจนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 54.3% ในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและความต้องการเรียนหนังสือของผู้เรียน ซึ่งในท้ายที่สุดจะมีผลต่อผลการเรียนของเด็กในภายหลัง

รายงานอธิบายว่าความกระตือรือร้นและแรงจูงใจในการเรียนที่หายไปมีสาเหตุหลักมาจากการที่นักเรียนไม่ได้มีโอกาสปฎิสัมพันธ์ทางสังคมแบบพบปะเห็นหน้ากับครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียน ทำให้การหนังสือออนไลน์ไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเหมือนเช่นปีที่ผ่านๆ มา

คาโอรุ ซาโต้ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา สาขาการวิจัยการศึกษาและสังคมแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว เชื่อว่า การที่เด็กไม่ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อน ๆ ไม่ได้มีปฎิสัมพันธ์กับครู ทำให้เด็กรู้สึกว่าเรียนหนังสือไม่สนุก จนไม่อยากเรียนอีกต่อไป

“ไวรัสโควิด-19 ทำให้ปฎิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมชั้น รวมถึงโอกาสในการทำกิจกรรมสนุก หรือกิจกรรมสันทนาการร่วมกันของนักเรียนลดน้อยลง อีกทั้ง แม้จะสามารถมาเรียนในโรงเรียนได้ แต่ต้องอยู่ภายในนโยบายความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ถูกห้ามทำในสิ่งที่เคยทำ เช่น ห้ามพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร ก็ทำให้ชีวิตการเรียนหมดสนุกไป” ศาสตราจารย์ซาโต้กล่าว

สำหรับตัวเลขในครั้งนี้เป็นค่าเฉลี่ยโดยรวมของนักเรียนในทุกระดับชั้น อย่างไรก็ตาม หากแยกเป็นแต่ละระดับจะพบว่า นักเรียนชั้นประถม 4-6 ขาดแรงจูงใจในการเรียนที่ 43.1% ระดับมัธยมศึกษาตอนค้นที่ 58.6% ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสูงถึง 61.3%

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมด้านการศึกษาบางประการ เช่น การเรียนแบบกลุ่ม หรือ Group Study ที่พบว่าสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจการรมดังกล่าวลดลงอย่างมากในปี 2020 ก่อนที่จะขยับขึ้นมาเล็กน้อยในปี 2021 แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกัน ด้วยปัญหาของการระบาดทำให้การเรียนหนังสือของนักเรียนในทุกระดับชั้นต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ตส์มากขึ้น โดยปีที่ผ่านมา (2021) พบนักเรียนใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีในการเรียนสูงถึง 80.1% เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 54.5%

รายงานระบุว่า ผลการศึกษาในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเข้าใจพฤติกรรมและความตัองการของผู้เรียน เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียน ครูและผู้ปกครอง ร่วมมือกันปรับปรุงการเรียนการสอนที่จะทำให้เด็กได้ความรู้ในแง่ของวิชาการ และได้รับการอบรมขัดเกลาทักษะทางสังคมและอารมณ์ของตนเองควบคู่กันไป

ที่มา : Record 54% of Japan students not eager to study due to COVID: survey