รัฐบาลท้องถิ่นในรัฐอุตตรประเทศ ของอินเดีย เปิดเผยแผนการเตรียมจัดหลักสูตรความสุข หรือ Happiness Curriculum ให้กับโรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่งทั่วพื้นที่ คาดหวังให้เด็กมีทักษะการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่างๆ ของสังคมโลกรอบด้าน
การดำเนินการของรัฐอุตตรประเทศในครั้งนี้มีขึ้นหลังผลการสำรวจของโพลหลายสำนักพบว่าชาวอินเดียส่วนใหญ่ไม่มีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจากรายงานความสุขโลก หรือ World Happiness Report ประจำปี 2021 พบว่า อินเดียอยู่ในอันดับที่ 139 ของโลก จากการสำรวจทั้งหมด 149 ประเทศ ทั้งยังจัดอยู่ในอันดับท้ายตาราง 7 ปีต่อเนื่องกัน
ประนับ มุเคอร์จี (Pranab Mukherjee) อดีตมุขมนตรีแห่งรัฐอุตตรประเทศกล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่ดัชนีความสุขของคนอินเดียกลับลดลงเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่า อินเดียขาดแนวทางแบบองค์รวมในการพัฒนา ทำให้การพัฒนาไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ก่อนกล่าวว่า รัฐบาลท้องถิ่นอุตตรประเทศมีแนวคิดริเริ่มนำเอาหลักสูตรความสุขมาใช้เป็นวิชาบังคับของทางโรงเรียนตั้งแต่ปี 2018 หลังจากที่ระดับดัชนีความสุขของคนอินเดียลดลงมาอยู่ในลำดับที่ 133
ทั้งนี้ รัฐอุตตรประเทศถือเป็นรัฐล่าสุดในอินเดียที่นำ “หลักสูตรความสุข” มาใช้ในโรงเรียนระดับประศึกษาตามหลังรัฐอานธรประเทศ รัฐฉัตตีสครห์ และรัฐอุตตราขัณฑ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถเชื่อมโยงตนเอง ครอบครัว สังคม ธรรมชาติ และชุมชน เข้าไว้ด้วยกัน ให้เข้าใจและมองเห็นคุณค่าของตนเองกับสายสัมพันธ์รอบด้าน
รายงานระบุว่า รัฐบาลท้องถิ่นรัฐอุตตรประเทศ โครงการนำร่องดังกล่าวจะเปิดตัวสำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ในโรงเรียน 150 แห่งทั่ว 15 เขตในรัฐ ขณะที่หลักสูตรความสุขปัจจุบันสำหรับนักศึกษาในรัฐอุตตรประเทศก็กำลังเตรียมการผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยมีครู 32 คนเข้าร่วม
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า “หลักสูตรความสุข” จะสร้างความแตกต่างได้อย่างไร และจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร รัฐบาลท้องถิ่นในรัฐอุตตรประเทศได้ยกตัวอย่างหลักสูตรที่อ้างอิงจากหลักสูตรความสุขที่กรุงนิวเดลีนำไปใช้ที่โรงเรียน
ทั้งนี้หลักสูตรความสุขนี้มุ่งส่งเสริมทักษะ 4 ด้าน ได้แก่
1) การมีสติและความเอาใจใส่ เป็นการเพิ่มระดับความตระหนักรู้ในตัวตนให้เพิ่มขึ้น, พัฒนาทักษะการฟังอย่างกระตือรือร้นและการอยู่กับปัจจุบัน
2) การพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การคิดไตร่ตรอง เพื่อพัฒนาความสามารถในการสะท้อนความคิดและพฤติกรรมของตนเองได้อย่างแข็งแกร่ง รู้จักคิดแบบมีแบบแผน และคิดอย่างมีสมมติฐานที่ชัดเจน
3) การพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ ซึ่งหมายรวมถึงการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ รับมือกับความวิตกกังวลและความเครียด รวมถึงการพัฒนาทักษะการสื่อสารให้ดีมากยิ่งขึ้น
4) การพัฒนาบุคลิกภาพที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างรื่นรมย์ โดยหมายรวมถึงการปรับและพัฒนาทัศนคติที่สมดุลในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่เพียงจะช่วยทำให้มีความมั่นใจในตนเองเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของความสะอาด สุขภาพ และสุขอนามัยของตนเอง
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ หลักสูตรความสุขสำหรับเด็กประถมก็คือการสอนทักษะการใช้ชีวิต แต่เน้นที่การเรียนรู้ด้านอารมณ์และความสุขมากกว่า
มานิช สิโศเดีย (Manish Sisodia) รองหัวหน้าคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของกรุงนิวเดลีกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ว่า ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา อินเดียได้ผลิตแรงงานจำนวนมากสำหรับอุตสาหกรรมและโรงงาน แต่กลับไม่ได้พัฒนาทักษะความเป็นมนุษย์ที่ดี ดังนั้นการศึกษาจึงจำเป็นต้องให้บริการเพื่อรองรับจุดประสงค์ทางศีลธรรมและสังคมที่กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น ทักษะความเป็นมนุษย์ต้องเป็นส่วนหนึ่งของความจำเป็นทางสังคม โดยอินเดียย้ำว่าต่อให้มีเป้าหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อความเท่าเทียมกันในเรื่องของความสุขเช่นเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากหลักสูตรความสุขมีผลใช้บังคับมานานกว่า 3 ปีแล้ว ดังนั้นนักวิจัยจึงสามารถค้นคว้าเพื่อหาผลลัพธ์ในเบื้องต้นได้ว่าหลักสูตรความสุขที่ว่านี้ใช้ได้ผลหรือไม่ เพียงใด ซึ่งผลการศึกษาพบว่า หลักสูตรดังกล่าวให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงใจ
ทั้งนี้ ในรายงานผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2020 พบว่า ในด้านหนึ่ง โปรแกรมช่วยให้นักเรียนพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับครู ปรับปรุงโฟกัส และทำให้พวกเขามีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูจัดลำดับความสำคัญของสติ นอกเหนือจากความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีขึ้นระหว่างนักเรียน มากกว่าความสำเร็จทางวิชาการ
นอกจากนี้ นักเรียนยังมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแนวทางการสอนของครู และร่วมออกแบบชั้นเรียนตามความต้องการและความสนใจของนักเรียนเอง
สิโศเดียกล่าวว่า ครูหลายคนที่เข้าร่วมโครงการพบว่าห้องเรียนของตนมีความสงบมากขึ้น จากพฤติกรรมของเด็กๆ ที่เริ่มนิ่งขึ้น ส่วนตัวครูเองก็ยิ่งมีสมาธิในการสอน มีความสุข และมีความยืดหยุ่นในการรับมือกับเด็กในห้องเรียนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายและน่าหนักใจยิ่งกว่าคือ การดำเนินการตามหลักสูตรยังคงเป็นเรื่องท้าทาย ผลการศึกษาหลายฉบับชี้ว่า ไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่ควรจะนำหลักสูตรไปใช้อย่างจริงจัง
คีตา คานธี คิงดร (Geeta Gandhi Kingdon) หัวหน้าฝ่ายการศึกษา เศรษฐศาสตร์ และการพัฒนาระหว่างประเทศที่ University College London ซึ่งสอนในโรงเรียนเอกชนในเมืองลัคเนา ประเทศอินเดีย กล่าวกับ Washington Post ว่า สำหรับบางโรงเรียน การใช้หลักสูตรความสุขเพียงแค่ทำกิจกรรมตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร แต่ครูผู้สอนไม่ได้รู้สึกหรือเข้าใจแนวคิดของความสุขได้อย่างแท้จริง
ด้านบารตี ดาบาส (Bharati Dabas) ครูโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งแย้งว่า ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ครู แต่อยู่ที่สัดส่วนนักเรียนในความรับผิดชอบของครู โดยดาบาสกล่าวว่า ถ้าครูมีนักเรียน 80 คนในชั้นเรียน ครูย่อมไม่สามารถจะติดตามเด็กทุกคนทั้งหมดในห้องได้ภายในเวลาเพียง 35 นาที
รายงานระบุว่า แนวคิดของ “หลักสูตรแห่งความสุข” ในโรงเรียนควรได้รับความสนใจมากขึ้นภายหลังการระบาดของโควิด-19 หลายระลอกในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้เด็กนักเรียนมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น โดยภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ สุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนวัยเรียนย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด และไม่ใช่แค่เด็กในอินเดียเท่านั้น แต่ครอบคลุมเด็กทั่วโลก เนื่องจากเด็กเหล่านี้สูญเสียกิจวัตรในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความเครียด ความเศร้าโศก และความวิตกกังวล ในเรื่องเรียนและการใช้ชีวิต
นักเรียนชาวอินเดียวัย 15 ปีรายหนึ่งในเบงกาลูรูยอมรับว่า ตนเองต้องเผชิญกับการต่อสู้มากมายในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อีกทั้งยังรู้สึกเหนื่อยล้ากับการล็อกดาวน์ บวกกับการที่ไม่สามารถเข้าชั้นเรียนปกติที่โรงเรียนและพบปะเพื่อนฝูงได้ยังส่งผลกระทบต่อตนเอง ทำให้ตนเองรู้สึกเครียด เพราะไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
ทุกวันนี้ความสุขถูกลดทอนลง จนกลายเป็นเพียงศัพท์คำหนึ่งที่ถูกพูดถึงเท่านั้น ไม่มีใครใส่ใจ “ความสุข” อย่างแท้จริง ซึ่งแถลงการณ์ของรัฐอุตตรประเทศย้ำว่า “วิธีที่เราฝึกนักเรียนให้รับรู้ความสุขควบคู่ไปกับความเห็นอกเห็นใจและการมีสติสามารถพิสูจน์ได้ในระยะยาวว่าเป็นพลังแห่งการรักษา แม้ว่าหลักสูตรจะดูเหมือนเป็นขั้นตอนในทิศทางที่ถูกต้อง แต่กุญแจสู่ความสำเร็จกลับอยู่ที่การนำไปปฏิบัติ”
ขณะเดียวกัน รัฐบาลอุตตรประเทศยังคาดหวังว่า “หลักสูตรแห่งความสุข” อาจมีประโยชน์ในการบรรเทาผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อสุขภาพจิตของนักเรียน รวมถึงการเดินหน้าค้นคว้าเกี่ยวกับวิธีปรับหลักสูตรความสุขและการลงทุนสำรวจเพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งใดใช้ได้ผลและไม่ได้ผลต่อไป แต่อย่างน้อยในตอนนี้หลักสูตรความสุขก็เป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้อินเดียเดินออกจาก “บาดแผลทางใจ” ที่โควิดได้ฝากไว้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ที่มา : Uttar Pradesh to Launch a ‘Happiness Curriculum’ in Primary Schools