จาก Learning Loss สู่ Learning Recovery ฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการศึกษา ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19

จาก Learning Loss สู่ Learning Recovery ฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการศึกษา ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19

หลังวิกฤตโควิด-19 ค่อย ๆ คลายตัวลง ประเด็น Learning Loss หรือ ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ และ Learning Recovery หรือ การฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ เป็นหนึ่งในหัวข้อหลักทางการศึกษาที่พูดถึงกันอย่างมากในสังคม เพราะเป็นสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อนักเรียนทั้งรุ่น ทั้งยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กจำนวนไม่น้อยต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไป ซึ่งผลกระทบดังกล่าวเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลต่อสังคมในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะการไม่ได้รับการศึกษาหรือการได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพของเด็ก ๆ จะทำให้ขาดทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป รวมถึงการขาดทักษะในการพัฒนาศักยภาพด้านอื่น ๆ

ด้วยความตระหนักถึงอนาคตของเด็กไทยในเรื่องนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง สภาวะการฟื้นฟูการเรียนรู้และเร่งรัดประสิทธิผลการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา (Learning Recovery and Education Opportunities Effectiveness Accelerations Situation) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางสภาวะการฟื้นฟูการเรียนรู้และเร่งรัดประสิทธิผลการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับห้องเรียน สถานศึกษา หน่วยงานส่วนภูมิภาค หน่วยงานส่วนกลาง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดร.อาร์ตี้ เซจิ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

ดร.อาร์ตี้ เซจิ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์นี้ผ่านวงประชุมว่า ไม่ว่าในการประชุมสหประชาชาติ เรื่องการพลิกโฉมการศึกษา ที่ผ่านมา การประชุมของ กสศ. รวมถึงรายงานของสภาการศึกษาฉบับล่าสุด ประเด็นที่ยังคงถูกให้ความสำคัญมากคือ Learning Loss และ Learning Recovery และนั่นจึงเป็นที่มาของการจัดเสวนาพูดคุยกันในครั้งนี้

“จริงอยู่ที่มีการพูดคุยเรื่องนี้กันมาหลายรอบ แต่ในครั้งนี้จะเป็นการพูดคุยเรื่องของประเทศไทยโดยเฉพาะ เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้เข้ากับบริบทที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ การเปิดเทอมซึ่งเป็นการกลับมาเรียนในโรงเรียนอีกครั้งได้ผ่านเทอมแรกไปแล้ว จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะมาพูดคุยเพื่อถอดบทเรียนจากครูและโรงเรียน เพื่อเป็นแนวทางต่อไปสำหรับเทอมหน้า ทั้งยังเพื่อมองถอยกลับไปถึงช่วงโควิดที่มีการสอนหลายรูปแบบเกิดขึ้น จะเป็นการถอดบทเรียนปัญหา การปรับใช้หรือการพัฒนาต่อไป”

ดร.อาร์ตี้ ยังกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ตนเองได้มีโอกาสเดินทางไปรับฟังปัญหาจากหลายพื้นที่ เช่น ยะลา และเชียงใหม่ ได้ฟังเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการสูญเสียการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและมัธยมต้น ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปเมื่อเขาโตขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก ๆ จากพื้นที่ชายขอบ ที่ศักยภาพภาพในการแข่งขันของเขายิ่งลดลงจากการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีหรืออื่น ๆ  ส่วนครูเองไม่รู้วิธีรับมือว่าจะปรับการสอนอย่างไรเมื่อต้องสอนออนไลน์ เช่นเดียวกับผู้ปกครองที่ขาดทั้งเครื่องมือ หรือไม่มีทักษะที่สอนลูกได้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งห่างมากขึ้น

“การปรับตัวจึงต้องมาดูว่า หลักสูตรหลังโควิดควรเป็นอย่างไร เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ กลับมาเรียนรู้ได้ และเป็นเรื่องที่ต้องรีบทำ เพราะยิ่งช้าจะยิ่งยากขึ้นในการนำเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษา หรือยากในการฟื้นฟูทางการศึกษา เหล่านี้จะต้องลงทุนทำในตอนนี้ ทุกฝ่ายจึงควรมาคุยกันเพื่อวางแผนอนาคต ในการรับมือ Learning Loss และฟื้นฟูการศึกษาของไทย”

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการ วสศ.

ขณะที่ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา วศส. อธิบายถึงความน่าเป็นห่วงของสถานการณ์นี้ว่า กสศ. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา และหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่าง ยูนิเซฟ ซึ่งเป็นภาคีหลักในการทำงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูความรู้ถดถอยมาตั้งแต่ต้น เมื่อเริ่มมีสถานการณ์โควิด ยูนิเซฟ เริ่มมีความกังวล จึงได้มาคุยกันว่าจะสามารถทำงานเชิงวิชาการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการฟื้นฟูความรู้ถดถอยได้อย่างไร

โดยก่อนหน้านี้มีการประชุมทั้งในระดับนานาชาติ และในวงประชุมวิชาการระดับประเทศไทย ก็มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้ รวมไปถึงการพูดถึงเด็กกลุ่มที่ได้ผลกระทบมากในแต่ละประเทศคือ เด็กกลุ่มด้อยโอกาส เด็กกลุ่มยากจน หรือผู้ที่มีความจำเป็นพิเศษ เรียกว่าแต่ละประเทศจะต้องมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้ เมื่อเทียบกับนักเรียนกลุ่มประชากรทั่วไป ส่วนรูปแบบการดำเนินงานฟื้นฟูความรู้ก็แตกต่างหลากหลายไปตามบริบทของประเทศตนเอง

“สิ่งที่เราต้องการคือ นโยบายหรือแนวทางฟื้นฟู ทั้งนโยบายภาพใหญ่ที่ทางสภาการศึกษาเป็นผู้ที่พยายามรวบรวมจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งวันนี้เป็นเวทีที่พยายามรวบรวมจากในประเทศ หรือรับข้อมูลจากครูที่อยู่หน้างานจริง เพื่อหาข้อสรุปหรือเกิดแนวทางไปปรับใช้ในการฟื้นฟูการศึกษาไทยได้”

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา
กสศ.

ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้เปิดเผยข้อมูลจากการทำงานและการสำรวจของ กสศ. พบว่า นักเรียนประถมศึกษาตอนต้น ป.1 – ป.3 เป็นช่วงชั้นที่มีปัญหาภาวะถดถอยมากที่สุด คิดเป็น 72.2% เมื่อเทียบกับระดับชั้นอื่น ๆ ของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สาเหตุที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ถดถอยมากที่สุดคือเรื่อง การขาดแคลนอุปกรณ์ และการไม่มีสมาธิในการเรียนออนไลน์ โดยครูมีความเห็นว่าการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียน ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาติดตามการเรียน สอนการบ้านให้ไม่ได้ และสัมพันธ์กับฐานะความยากจน

นอกจากนี้ จากสถานการณ์รอยต่อระหว่างการเปิดภาคเรียนใหม่ พบว่าผู้เรียนมีความเสี่ยงหลุดจากระบบโรงเรียนด้วยสาเหตุคือ การมาเรียนบ้างไม่มาเรียนบ้าง 85.40% ลาออก 7.40% ติดต่อไม่ได้ 7.20% ทั้งนี้ ยังมีนักเรียนอีกมากถึง 51% ที่ได้รับการติดตามแล้ว แต่ยังไม่กลับมาเรียนตามปกติ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่น่าค้นหาและติดตามค้นหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเป็นอย่างยิ่ง

“จากการสะท้อนของครูในวง PLC (Professional Learning Communicaty) ทราบว่าโรงเรียนได้เริ่มเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ เพื่อรองรับการเรียนการสอนในเทอม 1 / 2565 ด้วยการคัดกรองทักษะการอ่าน การเขียน การคิดเลข และการสื่อสาร ทำให้พบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีคะแนนทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดเลขในระดับน้อยถึงน้อยมาก ซึ่ง 3 ทักษะดังกล่าวเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนรู้”

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน ทีมโค้ชโรงเรียนพัฒนาตนเองของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.วิทยาเขตหาดใหญ่) ได้นำเครื่องมือวัดแรงบีบมือ ทดสอบสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบว่า 98% ของเด็ก ๆ มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 90 กิโลกรัม จากการทดสอบมีผ่านเกณฑ์เพียง 1.19 % เท่านั้น

“ในภาพรวมเราพบว่า Learning Loss เกิดขึ้นแล้ว เรื่องการสูญเสียการเรียนรู้ เรื่องผลลัพธ์การเรียนรู้ในวิชาการต่าง ๆ หรือเรื่องสภาวะทางด้านอารมณ์และสังคมของเด็ก เรื่องปฏิสัมพันธ์ของเด็กระหว่างเพื่อนและครู สิ่งเหล่านี้จึงต้องหันกลับมาดูไม่น้อยไปกว่าเรื่องของการเรียนรู้ทางวิชาการ เด็กจะเริ่มมีปัญหาในการเผชิญหน้ากับบุคคลอื่นเพราะเขาจะเริ่มมีความรู้สึกว่าไม่มีความมั่นใจ โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสที่เขายิ่งไม่มีแต้มต่อ”

ทั้งนี้ ในตอนท้าย ดร.อุดม ได้เสนอกิจกรรมฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยของเด็กนักเรียน จากประสบการณ์การทำโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQP 9 กิจกรรมด้วยกัน ได้แก่ 1. กิจกรรมพัฒนาฐานกายตามเกณฑ์มาตรฐานของระดับอนุบาล และระดับประถมต้น 2. กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมือ 3. ชุดฐานกิจกรรม Sensory Integration ประเภทเน้นการคิด การทรงตัว การออกแบบ การยืดหยุ่นตัว หรือการเดิน เป็นต้น 4. กิจกรรมเคลื่อนไหวตามคำสั่ง 5. กิจกรรมเบรนยิม 6. กิจกรรม Active Learning 7. เกมและการเล่นต่าง ๆ 8. กิจกรรมออกกำลังกาย และ 9. กิจกรรมการเล่นบทบาทสมมุติ