รัฐบาลฟิลิปปินส์ ร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงองค์การนานาชาติเดินหน้าจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กหญิงยากจนในเมือง Leyte ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทห่างไกลเพื่อให้เด็กหญิงเหล่านี้ได้มีความรู้ที่จะสร้างโอกาสในการเลี้ยงดูพึ่งพาตนเอง และมีทักษะขีดความสามารถในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวต่อไปในอนาคต
สำนักข่าวของทางการฟิลิปปินส์รายงานว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ก็คือกลุ่มเด็กหญิงยากจนที่ต้องเลิกเรียนกลางคันหรือหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความจำเป็นทางการเงินบังคับ โดยโครงการศูนย์การเรียนรู้จะนำร่องอยู่ในภูมิภาค Eastern Visayas ซึ่งศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กหญิงแห่งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และสำนักงานเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ (Korean International Cooperation Agency – KOICA)
ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กหญิงที่ได้ฤกษ์เปิดตัวขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีขึ้นเพื่อให้นักเรียนหญิงทั้งหลายที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือตามชั้นเรียนปกติทั่วไปเพราะสถานะความยากจนขั้นสุด อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์เรียนรู้ยังอยู่ในระหว่างการจัดเตรียม ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการภายในเดือนธันวาคม ปี 2021 นี้
Remegio Alquitran เจ้าหน้าที่โครงการ UNESCO ประจำสำนักงานจาการ์ตากล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นเสมือนส่วนขยายเพิ่มเติมที่จะเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมระบบการเรียนรู้ทางเลือก หรือ Alternative Learning System (ALS) ที่เด็กหญิงในโครงการเหล่านี้จะได้ประโยชน์ที่จะมีสถานที่ที่มีอุปกรณ์ครบครัน อย่างคอมพิวเตอร์ และห้องแล็ปปฎิบัติการต่างๆ เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าด้านความรู้และทักษะความสามารถของตนเอง
รายงานระบุว่า ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กหญิงแห่งนี้ถือเป็นศูนย์แห่งแรกของประเทศฟิลิปปินส์ และเป็นโครงการริเริ่มนำร่องของทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยศูนย์สามารถรองรับผู้เรียนได้ประมาณ 30 คนต่อหนึ่งชั้นเรียน
โดย Alquitran กล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้ให้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในการก่อสร้างอาคาร ขณะที่อุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ได้รับความช่วยเหลือร่วมมือในการจัดหาจาก KOICA โดยทาง UNESCO จะรับบทบาทหน้าที่สนับสนุนทางเทคนิค
นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กหญิงยังมีขึ้นเพื่้อเป็นโครงการต่อยอดจากการให้ความช่วยเหลือในโครงการ Yolanda ของทาง UNESCO และ KOICA ในภูมิภาค Eastern Visayas (วิสายาส์ตะวันออก) และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Better Life for Out-of-School Girls to Fight Against Poverty and Injustice in the Philippines” ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กหญิงที่หลุดออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อให้สามารถต่อสู้กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำของฟิลิปปินส์ ซึ่งเปิดตัวโครงการครั้งแรกในปี 2017
ขณะเดียวกัน เป้าหมายของโครงการริเริ่มนี้คือความพยายามในการเพิ่มอัตราการสอบผ่านของเหล่าเด็กนักเรียนหญิงที่อยู่นอกโรงเรียนในการทดสอบการรับรองและความเท่าเทียม (Accreditation and Equivalency Test) ยกระดับปรับปรุงการทำงานของโครงการการเรียนรู้ทางเลือก (ALS) ยกระดับทักษะของครูเคลื่อนที่ในโครงการ ALS และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ อีกทางหนึ่งด้วย
“ที่จริงแล้ว (ศูนย์แห่งนี้) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้เรียน ALS โดยเฉพาะ พวกเขาจะมาที่นี่เนื่องจากศูนย์การเรียนชุมชนที่พวกเขาเข้าชั้นเรียนไม่มีอุปกรณ์” Alquitran กล่าวเสริม
Alquitran กล่าวเสริมอีกว่า ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ยังมุ่งเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เด็กผู้หญิงที่ส่วนใหญ่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเนื่องจากครอบครัวส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์นิยมให้การศึกษาแก่เด็กผู้ชายมากกว่า ทั้งๆ ที่การศึกษาวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ ระบุตรงกันว่าเด็กหญิงที่ได้รับโอกาสทางการศึกษามีแนวโน้มที่จะเรียนจบในระดับอุดมศึกษาได้เทียบเท่าหรือมากกว่าเด็กชาย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศูนย์แห่งนี้จะมุ่งให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเด็กผู้หญิงเป็นหลัก แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ก็มีแผนที่จะขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมกลุ่มเด็กชายในอนาคต และหากศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยดีก็มีแนวโน้มที่จะขยายโครงการศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศต่อไป
Gemma Ledesma ผู้อำนวยการด้านการศึกษา ประจำภูมิภาค Eastern Visayas แสดงความเห็นว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยพลิกชีวิตของเด็กหญิงชาวฟิลิปปินส์หลายร้อยคน
“นับเป็นโอกาสดี ที่ฉันจะได้มีส่วนร่วมเป็นประจักษ์พยานในโครงการของ UNESCO และ KOICA ที่จะสร้างแรงบันดาลใจและเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กผู้หญิงนอกโรงเรียน ซึ่งสิ่งนี้จะนำความหวังมาสู่เยาวชนทั้งภูมิภาคโดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิงที่ด้อยโอกาส” Ledesma กล่าว