กูรูแนะฝึกสมาธิเล่นโยคะช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียน
โดย : Liza Frenette - New York School Unions of Teachers
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กูรูแนะฝึกสมาธิเล่นโยคะช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียน

ครูผู้ชำนาญการในสหรัฐฯ แบ่งปันประสบการณ์การสอนทักษะด้านการสื่อสารของนักเรียน พบว่า การฝึกสมาธิ และสอนให้เด็กนักเรียนเล่นโยคะมีส่วนอย่างมากต่อการช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ของเด็กนักเรียน รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาการสื่อสารกับนักเรียนที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางสังคมและอารมณ์ ท่ามกลางซึ่งมีแนวโน้มจะมีนักเรียนที่มีปัญหาด้านทักษะทางอารมณ์และสังคมเพิ่มมากขึ้น

ลิซา เฟรเน็ตต์ คอลัมนิสต์เว็บไซต์ NYSUT Communications ได้รวบรวมประสบการณ์ความเห็นของครูทั่วสหรัฐฯ รวมถึง Clarice Proeschel ครูสอนวิชาศิลปะระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งพบว่า การสอนทักษะทางสังคมและอารมณ์ให้กับนักเรียนเป็นพื้นที่ฐานจำเป็นที่สำคัญต่อการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนได้ต่อไปในระยะยาวและยั่งยืน

ทั้งนี้ Clarice ระบุว่า เมื่อครั้งที่สอนอยู่ต่างประเทศ ทักษะทางสังคมและอารมณ์ของตนเองมีบทบาทอย่างมากต่อการช่วยให้เจ้าตัวสามารถสื่อสารกับคนรอบข้าง รวมถึงนักเรียนโดยไม่มีอุปสรรคทางด้านภาษาที่แตกต่างกันเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ครูได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารกับผู้อื่นแม้จะมีอุปสรรคทางภาษา ดังนั้น เมื่อเดินทางกลับมาสอนที่โรงเรียนในบัฟฟาโล สหรัฐฯ ครูศิลปะรายนี้ได้ใช้แนวทางดังกล่าว เพื่อสื่อสารกับนักเรียนที่กำลังมีปัญหาติดขัดทางสังคมและอารมณ์ผ่านการฝึกสมาธิและฝีกโยคะ

ในฐานะครูสอนศิลปะให้กับนักเรียนในระดับเกรด 4-8 (เทียบเท่าระดับประถมศึกษาปีที่ 4 – มัธยมศึกษาปีที่ 2) นอกจากทำหน้าที่นำพานักเรียนให้รู้จักกับศิลปะในแขนงต่างๆ อย่างกว้างขวางแล้ว ครู Clarice ยังให้ความสนใจต่อความต้องการทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียน เนื่องจากในช่วงที่เกิดวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่สูญเสียทักษะพื้นฐานมากมาย รวมถึงทักษะง่ายๆ ที่คนส่วนใหญ่ต้องสร้างขึ้น

“นักเรียนส่วนใหญ่มีปัญหากับการให้ความสนใจกับนักเรียนคนอื่นๆ และครู ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งมากมายภายในห้องเรียน แต่การฝึกสติสมาธิ และการฝึกโยคะ ช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถผ่านเรื่องติดขัดเหล่านี้มาได้” ครู Clarice กล่าว 

ครู Clarice พร้อมด้วยสมาชิกสหพันธ์ครูบัฟฟาโล (Buffalo Teachers Federation) และครูจากหลายพื้นที่ทั่วสหรัฐฯ ได้มีโอกาสมาพบปะกันในงานระดมทุนประจำปีของ NYSUT ซึ่งตั้งเป้าระดมทุนให้ได้ 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเป็นเงินสมทบช่วยเหลือสำหรับโรงเรียนในชุมชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อสังคม Future Forward ของทางสหภาพแรงงาน

ทั้งนี้ ที่โรงเรียนที่ ครู Clarice สอนอยู่ ได้จัดให้มีห้องฝีกสมาธิ โดยที่ภายในห้องมีเสื่อฝึกโยคะไว้ให้ใช้งาน โดยในช่วงเวลาให้คำปรึกษาทั่วไปในตอนกลางวัน บางครั้ง ครู Clarice ก็พากลุ่มเด็กผู้หญิงเข้ามาในห้องเพื่อพูดคุยและเล่นโยคะ ซึ่งเจ้าตัวหวังว่าจะสามารถฝึกทำโยคะกับนักเรียนที่ลานกลางแจ้งในบางโอกาสบ้างด้วยเช่นกัน

รายงานระบุว่า เสียงตอบรับของนักเรียนส่วนใหญ่ล้วนเป็นไปในทางบวก ที่นักเรียนสนุกกับการฝึกทำโยคะ และทำสมาธิไปพร้อมๆ กัน 

ขณะเดียวกัน หากชั้นเรียนใดชั้นเรียนหนึ่งในโรงเรียนชุมชนแห่งนี้มีพฤติกรรมก่อกวน ครู Clarice ก็จะให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดการหายใจและลุกจากที่นั่งเพื่อฝึกเล่นโยคะ

ทั้งนี้ในส่วนของ ครู Clarice ใช้เทคนิคการฝึกสติของโยคะในสถานการณ์ประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ชั้นเรียนศิลปะของเจ้าตัวในบางครั้ง จะเริ่มต้นด้วยความเงียบหรือดนตรีคลอเบาๆ ราว 10 นาที ท่ามกลางแสงไฟสลัว เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกสมาธิ มุ่งเน้นไปที่การกำกับลมหายใจเข้า-ออก

ขณะที่ในส่วนของนักเรียน จะได้รับคำขอให้คิดว่า ตนเองเข้าใจกระบวนการสร้างงานศิลปะอย่างไร จะสามารถจดจ่อกับงานได้อย่างไร รวมถึงวิธีที่นักเรียนหลีกเลี่ยงการตัดสินกระบวนการของงานศิลปะ

ครู Clarice กล่าวว่าการใช้ลมหายใจเป็นทักษะพื้นฐานที่สามารถนำมาใช้เพื่อรับรู้สภาวะจิตใจได้ หากคนๆ หนึ่งสามารถระงับความโกรธและหันมาสำรวจร่างกายภายในด้วยตนเอง คนเหล่านั้นก็จะรู้ว่าหัวใจเต้นเร็วและหายใจลำบาก และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้ตระหนักได้ว่า พวกเขาควรจะตัดสินใจตอบโต้อย่างไร 

“การเน้นโฟกัสความสนใจไปที่ลมหายใจ ไม่ใช่ที่ปัญหา และสนใจแต่ลมหายใจเท่านั้น พวกเขาสามารถเลือกขั้นต่อไปที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งจะเป็นวิธีที่จะไม่ทำร้ายตนเอง โดยแรกเริ่ม นักเรียนมักจะมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการควบคุมแรงกระตุ้น” ครู Clarice กล่าว 

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนต้นสังกัดของครู Clarice ยังเป็นเจ้าภาพจัด Saturday Academy เป็นประจำทุกเดือนสำหรับนักเรียนและครอบครัว โดยครู Clarice รับหน้าที่สอนโยคะ โดยเจ้าตัวเป็นครูสอนโยคะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่ผ่านการรับรองและเป็นครูสอนโยคะในชุมชน

ยิ่งไปกว่านั้น ทางโรงเรียนยังใช้แนวปฏิบัติเชิงบูรณากรเพื่อช่วยนักเรียนรับมือกับความขัดแย้ง  เพื่อเปลี่ยนเส้นทางวงจรของนักเรียนโดยมุ่งให้นักเรียนตระหนักรู้และหาทางแก้ไขในสิ่งที่ทำให้นักเรียนเกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน

ทั้งนี้ ในบรรดาโรงเรียนรัฐมากกว่า 700 แห่ง ราว 300 แห่งใช้โรงเรียนชุมชมเป็นแบบ ที่เปิดทางให้มีการระดมทุนจากชุมชน เพื่อนำเงินที่ได้ไปพัฒนาโรงเรียนชุมชน รวมถึงการจ้างผู้ประสานงานโรงเรียนชุมชนเพื่อช่วยพัฒนาโปรแกรมและเชื่อมโยงครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือด้วยบริการที่โรงเรียนไม่ได้จัดหาให้

ยกตัวอย่างในกรณีของโรงเรียนชุมชนบัฟฟาโลที่มีอยู่ประมาณ 24 แห่ง เงินที่ระดมทุนได้ นำมาให้บริการศูนย์ผู้ปกครอง และโปรแกรม Saturday Academy ที่เฉพาะในปีการศึกษานี้เพียงปีเดียว มีนักเรียน ผู้ปกครอง และสมาชิกในชุมชนเข้าร่วมมากกว่า 11,000 คน ขณะเดียวกัน โรงเรียนเหล่านี้ยังมีคลินิกสุขภาพและกฎหมาย เวิร์กช็อปเสมือนจริงและแบบตัวต่อตัว และแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมให้บริการภายใต้ร่วมมือกับองค์กรในชุมชน

ที่มา : Mindfulness and yoga help to meet students’ social-emotional needs